(แหล่งที่มา : http://news.gog.cn/system/2018/04/16/016532141.shtml)
เมืองเต๋อหยาง มณฑลเสฉวน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครเฉิงตู ระยะห่างจากนครเฉิงตูประมาณ 70 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่รวม 5,911 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 3.461 ล้านคน เมืองเต๋อหยางเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง ซึ่งผลผลิตรวมและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดอันดับต้นๆ ของมณฑลเสฉวน ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเมืองเต๋อหยางอยู่ที่ 301.44 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ติดอันดับที่ 4 ของมณฑลเสฉวน ขณะเดียวกัน ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) ของเมืองเต๋อหยางอยู่ที่ 87,096 หยวน
ภาคเกษตรกรรม
เมืองเต๋อหยางมีกลุ่มบริษัทเกษตรกรรมที่เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมการเกษตร และได้สร้างฐานการผลิตกลุ่มสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพทั้งหมด 9 ชนิด เช่น ผัก เนื้อสุกร ใบยาสูบ สัตว์ปีก เห็ดที่กินได้ และวัสดุยา เป็นต้น โดยเมืองเต๋อหยางเป็นเมืองฐานส่งออกเนื้อสุกรไร้ไขมันคุณภาพสูงระดับมณฑล และเป็นเมืองฐานการผลิตธัญพืชและน้ำมันคุณภาพสูงระดับมณฑลด้วย นอกจากนี้ การผลิตธัญพืชของเมืองเต๋อหยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อทุกปี โดยครองอันดับหนึ่งในมณฑลเสฉวนในแง่ของปริมาณการครอบครองธัญพืชต่อหัว (Per Capita Grain Possession) และผลผลิตธัญพืชต่อหน่วยพื้นที่
ภาคอุตสาหกรรม
เมืองเต๋อหยางเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญในมณฑลเสฉวน และยังเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศจีน โดยเมืองเต๋อหยางมีบริษัทผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนักชั้นนำที่มีชื่อเสียงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น China National Erzhong Group Co. / Dongfang Electric Machinery Co., Ltd. / Dongfang Turbine Co., Ltd. / Honghua Group Ltd. เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน เมืองเต๋อหยางได้มีการผลิตมากกว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์พลังงานนิวเคลียร์ของจีน มากกว่าร้อยละ 40 ของอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำของจีน มากกว่าร้อยละ 30 ของอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังความร้อนของจีน และมากกว่าร้อยละ 20 ของอุปกรณ์ตีเหล็กเข้ารูปสำหรับการผลิตเรือขนาดใหญ่ของจีน
รัฐบาลเมืองเต๋อหยางให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่เกี่ยวกับการผลิตอุปกรณ์พลังงานใหม่ โดยมุ่งเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลม และกระแสน้ำขึ้นน้ำลง รวมถึงการผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งเมืองเต๋อหยางได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การสหประชาชาติ เป็น “เมืองสาธิตระดับนานาชาติสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานใหม่”
ภาคบริการ
เมืองเต๋อหยางเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญในประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีซานซิงตุยที่มีชื่อเสียงระดับโลก รัฐบาลเต๋อหยางให้ความสำคัญในการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแหล่งโบราณคดีซานซิงตุย โดยกำลังก่อสร้างเขตการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซานซิงตุย ซึ่งจะนำวัฒนธรรมซานซิงตุยเป็น แกนหลักในการประชาสัมพันธ์ และสร้างระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบ “วัฒนธรรม + การท่องเที่ยว + ธุรกิจ + N” ซึ่ง “N” หมายถึง การสร้างประสบการณ์สัมผัสกับวัฒนธรรม การแสดงทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวตามธีม เป็นต้น คาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวในซากโบราณซานซิงตุยจะสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้เกิน 8 พันล้านหยวนต่อปี
(แหล่งที่มา : https://www.jinrixinan.com/guizhou/14749.html
https://wwj.sc.gov.cn/scwwj/mtgz/2023/9/26/1c97609bdaf24d6c8f882bb0a5cef6fc.shtml)
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ในปี 2566 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเมืองเต๋อหยางอยู่ที่ 22.69 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 (YoY) โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 15.96 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 และมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 6.73 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 สินค้าส่งออกหลักของเมืองเต๋อหยาง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์เคมี (เช่น Lithium hydroxide / Titanium dioxide) สินค้านำเข้าของเมืองเต๋อหยางส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์แร่ (เช่น Nickel Iron / Nickel Ore) ทั้งนี้ ในปี 2566 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างเมืองเต๋อหยางและกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 3.84 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.9 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของเมืองเต๋อหยาง โดยกลุ่มประเทศอาเซียนนับเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมืองเต๋อหยาง
แถบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจท่าสถานีเฉิงตู-เต๋อหยาง (Chengdu-Deyang Port Economic Industrial Belt) ถูกก่อสร้างร่วมกันโดยท่าสถานีรถไฟนานาชาตินครเฉิงตู และท่าสถานีโลจิสติกส์รถไฟนานาชาติเมืองเต๋อหยาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันส่งเสริมการให้บริการของการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟระหว่างประเทศอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ท่าสถานีโลจิสติกส์รถไฟนานาชาติเมืองเต๋อหยางได้ดำเนินการให้บริการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟระหว่างประเทศมากกว่า 250 ขบวน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับ 25 เมืองใน 10 ประเทศ รวมถึงโปแลนด์ ไทย และคาซัคสถาน เป็นต้น โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าต่อปีเกิน 3 ล้านตัน สินค้าที่ขนส่งส่วนใหญ่เป็น ของใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เคมี เป็นต้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
มิถุนายน 2567
แหล่งข้อมูล :
www.deyang.gov.cn/mldy.htm
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1789380985292337642&wfr=spider&for=pc
https://finance.sina.com.cn/jjxw/2024-06-07/doc-inaxvvwm0604027.shtml
https://www.deyang.gov.cn/xwdt/dydt/1804999.htm
https://www.chinanews.com.cn/gn/2024/06-07/10230537.shtml