เนื้อหาสาระข่าว: ธุรกิจค้าปลีกของชำทั่วสหรัฐฯ นั้นเป็นระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อนมาก แต่ในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นต่างจากพื้นที่อื่นด้วยอิทธิพลจากรสนิยมของคนในภูมิภาคแถบนี้ ความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นของชุมชนและมีผู้เล่นรายสำคัญ นั่นก็คือ Publix
ในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงใต้ โดยรวมถึง 11 รัฐและมีประชากรประมาณ 85 ล้านคนซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของประชากรในสหรัฐฯ นี้ คือภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รัฐเด่นๆ ที่มีการขยายตัวสูง ได้แก่ Florida, Georgia, North Carolina, South Carolina และ Tennessee มีเมืองเอกที่มีประชากรหนาแน่นอย่างเช่น Atlanta, Charlotte และ Jacksonville ที่กำลังขยายตัวออกสู่เขตชานเมืองและรอบนอกเมืองอย่างต่อเนื่อง
ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้มีประชากรคนผิวดำหนาแน่น มีหลายรัฐ อาทิ Alabama, Georgia, Louisiana และ Mississippi ที่สัดส่วนประชากรคนผิวดำมีมากกว่าร้อยละ 30 ส่วนในรัฐ Florida ประชากรที่สืบเชื้อสายชาวลาติโน/ฮีสแปนิคมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 25 ด้านระดับการศึกษาและรายได้ของประชากรในแถบนี้ก็แตกต่างมาก โดยมีจำนวนผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีน้อย และส่วนใหญ่จะดำรงชีพในระดับที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยเฉพาะในรัฐ Mississippi และ Louisiana ซึ่งมีระดับค่ากลางรายได้ต่ำที่สุดในสหรัฐฯ
เช่นเดียวกับในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีประชากรที่อาศัยในเขตชานเมืองและรอบนอกที่แตกต่างกันไป แต่ในแถบตะวันออกเฉียงใต้นี้โดดเด่นกว่าบริเวณอื่นตรงที่มีความหลากหลายของคุณลักษณะด้านประชากรศาสตร์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐและในแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยคุณลักษณะที่ขีดเส้นแบ่งออกชัดเจนเช่นนี้จึงนำมาซึ่งโอกาสและปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ซึ่งผู้ค้าปลีกของชำจะต้องคำนึงถึง ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ค้าปลีกของชำอิสระรายย่อยสามารถเข้าสู่ตลาดแถบนี้ได้ด้วย
ห้าง Publix ซึ่งก่อตั้งขึ้นในรัฐ Florida ในปี 1930 นั้นเป็นที่รู้จักดีว่ายอดเยี่ยมในด้านการให้บริการลูกค้าและสินค้าที่มีคุณภาพ ด้วยจำนวนสาขาที่มากกว่า 1,300 แห่งในแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้ จึงนับได้ว่าเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกของชำที่มีพนักงานเป็นเจ้าของร่วมที่ใหญ่ที่สุด Publix ยังให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานอย่างมากซึ่งส่งเสริมให้มีความผูกพันกันเหมือนร่วมเป็นชุมชนเดียวกันภายในองค์กร จนเสมือนว่าเป็นสถาบันอันเป็นที่รักของชุมชนในท้องถิ่น โดยความสำเร็จของ Publix นั้นเป็นผลมาจากกลยุทธหลากหลาย ได้แก่ การให้ความสำคัญกับแผนกที่เรียงรายอยู่รอบนอก อย่างแผนกขนมอบและอาหารพร้อมทาน (Bakery & Deli Sections) ที่ตรงใจผู้บริโภค การวางจำหน่ายสินค้าคุณภาพสูงในแบรนด์ของตนเองในราคาที่ถูกเพื่อเพิ่มทางเลือกแก่ลูกค้า รวมถึงการเลือกทำเลที่ดีและเน้นรักษาความสะอาดภายในร้านทำให้ผู้บริโภคพอใจอย่างมาก
ห้าง Aldi ซึ่งรู้จักกันในนามร้านของชำลดราคา ได้ส่งสัญญาณถึงเจตนารมณ์ที่จะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงใต้นี้ด้วยการควบรวมกิจการของกลุ่ม Southeastern Grocer (SEG) ซึ่งมีประมาณ 400 สาขาในรัฐ Alabama, Georgia, Louisiana, Mississippi และ Florida (เฉพาะใน Florida มีจำนวนร้านอยู่ร้อยละ 75) โดยจะยังคงใช้ชื่อ Winn-Dixie และ Harveys Supermarket ไว้เช่นเดิม กลุ่ม Aldi นี้เน้นในเรื่องประสิทธิภาพในการดำเนินงานและคุณค่าของสินค้า ด้วยการเน้นให้มีสินค้าตัวเลือกอื่นๆ ที่จำกัดและวางจำหน่ายสินค้าแบรนด์ของตนเองในแทบทุกประเภทสินค้าซึ่งทำให้สามารถเสนอสินค้าประจำวันหลากหลายรายการในราคาที่ถูกมากๆ ได้ ตอบโจทย์ของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำซึ่งเป็นกลุ่มประชากรหลักๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้ดี
นอกเหนือไปจากรายใหญ่อย่าง Publix และแบรนด์ระดับชาติที่ครองพื้นที่แถบนี้อยู่แล้ว พื้นที่แถบนี้ก็ยังมีเครือข่ายผู้ค้าปลีกของชำอิสระที่โดดเด่นอยู่หลายรายด้วย ร้านค้าปลีกรายย่อยเหล่านี้เป็นผู้ที่นำเสนอรสนิยมที่โดดเด่นแตกต่างจากภูมิภาคอื่น โดยมักจะเน้นเจาะผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มและบ้างก็นำเสนอรูปแบบประสบการณ์การจับจ่ายรูปแบบใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น ร้าน Earth Fare ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกในรัฐ North Carolina ที่เน้นจำหน่ายเฉพาะอาหารจากธรรมชาติและการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเน้นจับตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพเป็นพิเศษ
ร้าน Piggly Wiggly เป็นแบรนด์ดังเจ้าเก่าแก่ที่ยังคงความนิยมอย่างเหนียวแน่นในพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงใต้นี้ เป็นเครือร้านค้าขนาดย่อมลงมา ที่มักเปิดสาขาในเมืองเล็กๆ และเน้นตอบสนองความต้องการและตกแต่งร้านแนวย้อนยุคเอาใจคนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงแถบนั้นๆ มานาน
ทางด้านเครือค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Kroger, Ahold Delhaize USA, Walmart และ Target ก็รับทราบถึงความแตกต่างของตลาดค้าปลีกของชำในแถบตะวันออกเฉียงใต้ดีและก็พยายามปรับกลยุทธตาม ซึ่งก็เป็นเช่นที่เห็นได้ในภูมิภาคอื่นๆ เครือยักษ์ใหญ่เหล่านี้พยายามปรับสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในท้องถิ่น แล้วก็ลงเอยด้วยการทำตามกลยุทธเดิมๆ ที่เคยใช้ในพื้นที่อื่นๆ ในที่สุด ซึ่งก็อาจจะได้ผลบ้าง แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากเคย บรรดาผู้ค้าปลีกอิสระและเครือข่ายเจ้าถิ่นที่อยู่ตัวดีแล้วก็ยังคงความเป็นเจ้าถิ่นให้คู่แข่งต่างถิ่นมาท้าทายอยู่ต่อไปเช่นเดิม แม้ Aldi จะใช้การควบรวมกิจการเพื่อบุกเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคนี้ แต่ก็คงต้องจับตาดูกันในปี 2024 นี้ต่อไป
ผู้บริโภคสินค้าของชำทั่วสหรัฐฯ ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่สอดคล้องตรงกัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อแบรนด์และสินค้าที่มาจากธรรมชาติและการเกษตรอินทรีย์ คุณค่าที่เป็นปัจจัยสำคัญคือ ความสะดวก ราคาและปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบในประสบการณ์การจับจ่าย อาทิ ส่วนลด กิจกรรมส่งเสริมการขายและการบริการลูกค้า สินค้าภายใต้แบรนด์ของร้านค้าปลีกเองนั้นได้รับความนิยมในทุกหมวดสินค้าและทั่วทุกรัฐ การใช้สื่อดิจิตอลเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมมากขึ้นช่วยกระตุ้นความภักดีกับแบรนด์เหล่านั้นได้ดี รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้บริโภคนั้น ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความแตกต่างของแบรนด์ของทั้งผู้ค้าปลีกอิสระและร้านค้าระดับประเทศ แต่ไม่ว่าจะภูมิภาคใด การเลือกแบรนด์และความพึงพอใจของผู้บริโภคก็มักจะมีส่วนที่แตกต่างกันไปบ้างเสมอ อายุ รายได้ เชื้อชาติและกลุ่มสังคม และแม้แต่ช่องทางในการเข้าถึงร้านค้าเฉพาะสินค้าเมื่อเทียบกับเครือค้าปลีกระดับชาติก็มีผลต่อการเลือกซื้อของผู้บริโภคได้
สำหรับในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้ ผู้บริโภคก็ให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกันกับผู้บริโภคทั่วๆ ไปทั่วสหรัฐฯ จากการสำรวจตลาดโดย PDG Insights พบว่า ร้อยละ 63 ของผู้บริโภคในแถบนี้เน้นเลือกร้านที่ดำเนินกิจการตามแนวทางเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะทำให้ราคาต้องสูงขึ้นก็ตาม โดยมีอีกกว่าครึ่งหนึ่งที่บอกว่าอยากเห็นการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เช่น การลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ การเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศน์ หรือการลดปริมาณขยะในการดำเนินงานของผู้ประกอบการต่างๆ มีร้อยละ 83 ที่ตั้งใจจะซื้อสินค้าจากภายในท้องถิ่นของตนเอง โดยเฉพาะสินค้าที่จำหน่ายในแผนกรอบนอกของร้านอย่างเช่น ผักผลไม้ นมเนย เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล มีผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) เห็นว่าร้านค้าปลีกควรเน้นจัดหาสินค้าต่างๆ จากในท้องถิ่นให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายขององค์กรเพื่อความยั่งยืนในวงกว้างยิ่งขึ้นด้วย โดยการเน้นแบรนด์ของท้องถิ่นจะช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับในภูมิภาคอื่นๆ ของสหรัฐฯ สินค้าในแบรนด์ของร้านค้าปลีกเองก็เป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้บริโภคแถบนี้ มีถึงเก้าในสิบรายที่บอกว่าตนเองเลือกซื้อสินค้าในแบรนด์ของร้านค้าปลีกอย่างน้อยๆ ก็นานๆ ครั้ง โดยมีถึงร้อยละ 72 ที่บอกว่าตนซื้อตลอดมาหรือบ่อยครั้ง มีถึงร้อยละ 49 ที่บอกว่าซื้อสินค้าในแบรนด์ร้านค้าปลีกในปีนี้มากขึ้นกว่าปีก่อน และมีร้อยละ 61 ที่บอกว่าตนจะซื้อทั้งสินค้าแบรนด์ระดับชาติและแบรนด์ของร้านค้าปลีกปนๆ กันไปในอนาคต มีร้อยละ 90 ของผู้บริโภคในแถบนี้ที่บอกว่าร้านค้าปลีกควรจะต้องสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้าภายใต้แบรนด์ของร้านตนเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ของร้านตนด้วย ซึ่งวิธีนี้จะสร้างความแตกต่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ตลาดค้าปลีกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีการหลอมรวมทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีนวัตกรรมและการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย Publix นั้นครองตลาดในพื้นที่อยู่อย่างเหนียวแน่น แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Aldi น่าจะสร้างความสั่นสะเทือนเรื่องคุณค่าสมราคาในตลาดนี้ ผู้ค้าปลีกอิสระรายย่อยๆ จะต้องหาทางรับมือด้วยการนำเสนอสินค้าหลากหลายที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มให้ได้ ในขณะที่เครือค้าปลีกระดับชาติก็จะต้องปรับกลยุทธให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละท้องถิ่นและเน้นความสะดวก ด้วยความสำคัญของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้เอง ผู้เล่นระดับชาติจำเป็นจะต้องปรับตัวเข้าหาความต้องการเฉพาะของตลาดนี้ ในขณะที่ผู้เล่นในท้องถิ่นก็ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และทำให้ตลาดนี้ต้องแข่งขันกันเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคในที่สุด
บทวิเคราะห์: จากบทความข้างต้น พูดถึงพื้นที่แถบตะวันตกเฉียงใต้ที่มีประชากรหลากหลายชนชาติกระจายอยู่ทั่วไป แต่ก็รวมกันเป็นกระจุกในบางพื้นที่ สังเกตได้จากในพื้นที่ไมอามีเอง ก็มีเขตที่เรียกว่า Little Havana ซึ่งบอเป็นนัยว่ามีประชากรเชื้อสายคิวบาอยู่หนาแน่น ขยับขึ้นไปทางเหนือก็จะเป็นถิ่นที่เรียกว่า Little Haiti ซึ่งก็ชัดเจนว่าประชากรเชื้อสายใดอาศัยอยู่หนาแน่น ในแต่ละเขตก็จะมีพื้นที่ที่กลุ่มเชื้อชาติที่มีขนาดเล็กๆ ลงมาอาศัยอยู่ใกล้ๆ กัน มีทั้งจาก Nicaragua, Colombia, Ecuador, El Salvador, Costa Rica, Guyana รวมถึง Venezuela และอื่นๆ อีกมากมาย สำนักสำมะโนประชากรแห่งสหรัฐฯ หรือ Census Bureau ได้มีการทำสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในปี 2020 และได้พยายามบันทึกในรายละเอียด ทั้งการสรุปในระดับมณฑล (County) ซึ่งก็ยังไม่อาจเห็นภาพที่ถูกต้องชัดเจนนัก เพราะพื้นที่อันกว้างใหญ่ของมณฑลและความหนาแน่นของประชากรในเขตเมือง จากการสืบค้นจากหลายๆ แหล่งเชื่อว่าแผนภูมินี้ ซึ่งเป็นการแบ่งตามรหัสไปรษณีย์และพล๊อตข้อมูลโดยใช้สีต่างกันไปตามเชื้อชาติ
Publix ซึ่งน่าจะเป็นผู้เล่นในวงการค้าปลีกของชำที่รู้จักผู้บริโภคได้ดีที่สุด ดูจากจำนวนสาขา ที่กระจายอยูในภูมิภาคนี้ แม้จะไม่ได้ครบทุกรัฐ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นเจ้าถิ่นตัวจริง
ในฐานะเจ้าถิ่น บริการของห้าง Publix ในแต่ละพื้นที่ก็ตอบสนองคนในพื้นที่ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่นในแถบฟลอริดาใต้ที่มีชนเชื้อสายคิวบาอยู่หนาแน่น ห้างฯ ก็จะมีแผนกที่ขายกาแฟแบบเข้มข้นสำหรับกลุ่มนี้และชื่อกาแฟก็เป็นภาษาสเปน ไม่ได้ใช้ชื่อภาษาอิตาเลียนเรียกเหมือนกับ Starbucks ห้าง Sedano’s Supermarket ซึ่งเน้นต้อนรับผู้บริโภคกลุ่มลาติโน/ฮีสแปนิคเป็นหลัก ก็ มีกาแฟให้บริการในชื่อภาษาสเปนเช่นเดียวกัน และในสาขาที่อยู่ในย่านคนทำงาน ก็มีบริการ Self-checkout ในขณะที่ร้านในย่านคนมีฐานะและแหล่งบันเทิง ไม่มีบริการนี้ และที่สำคัญ ราคาสินค้าชนิดเดียวกันบางรายการก็ยังแพงกว่าในย่านคนทำงานอีกด้วย
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ดังจะเห็นได้ว่าภูมิภาคแถบตะวันออกเฉียงใต้นี้มีความซับซ้อนด้านรสนิยม ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะส่งสินค้าของตนเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะในภูมิภาคใด อาจต้องพิจารณาการกระจายประชากรของชนชาติต่างๆ ไว้เป็นปัจจัยในการวางกลยุทธทางการตลาดไว้ด้วย แผนภูมิดังกล่าวจะช่วยให้พอจะมองออกได้ว่าสินค้าของตนที่วางตลาดในสหรัฐฯ อยู่แล้วซึ่งอาจภายใต้แบรนด์ของร้านค้าปลีก ได้รับการตอบสนองที่ดีจากผู้บริโภคกลุ่มเชื้อสายใด และหากผู้จัดจำหน่ายหรือร้านค้าปลีกดังกล่าว ยังไม่ได้มีสาขาครอบคลุมไปถึงพื้นที่อื่นๆ สีเดียวกัน ก็พอจะอนุมานได้ว่ายังมีโอกาสรออยู่อีกมากที่ยังไม่ได้เอื้อมไปให้ถึง และก็อาจพิจารณานำเสนอผู้ค้าปลีกที่เป็นเจ้าถิ่นในพื้นที่นอกกรอบของรายเดิมนั้น อย่างมั่นใจได้ว่าจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า ตัวอย่างเช่น หากสินค้าของท่านวางจำหน่ายในแบรนด์ของร้านค้าปลีกรายหนึ่ง ที่มีสาขาของร้านดังกล่าวอยู่หนาแน่นแถบรัฐแคลิฟอร์เนีย (พื้นที่สีชมพูที่มีชนเม็กซิกันอยู่หนาแน่น) มียอดจำหน่ายสูง ก็พอจะอนุมานได้ว่าพื้นที่สีชมพูในรัฐเท็กซัสหรือในฟลอริดาใต้ ก็น่าจะมีโอกาสขายได้ดีเช่นกัน
เมื่อรายงานฉบับนี้ ตั้งใจจะเน้นถึงความโดดเด่นของภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ แล้ว ในท้ายที่สุดนี้ ก็ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแถบนี้เพิ่มเติมปิดท้ายสักเล็กน้อย โดย สคต. ไมอามีนั้นตั้งอยู่ในจุดที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นดั่งเพชรยอดมงกุฎของภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งก็คือบริเวณทางใต้ของรัฐฟลอริดา พื้นที่การค้าที่มีราคาติดอันดับหนึ่งในสามของพื้นที่ที่ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงที่สุดในสหรัฐฯ นั่นก็คือเมืองไมอามี และปริมณฑลโดยรอบ ซึ่งหากพิจารณาแผนภูมิดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ชัดว่ามีความหลากหลายที่จะต้องทำความเข้าใจและเจาะตลาดเฉพาะที่ซับซ้อนอยู่ไม่น้อย แต่โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มหลักๆ ในบริเวณนี้มีความต้องการตรงกัน นั่นก็คือ แทบทุกกลุ่มนิยมทาน ข้าว และข้าวหอมมะลิไทยก็เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคที่มีฐานะและโดยเฉพาะผู้ที่รู้จักข้าวหอมมะลิไทยอยู่แล้วด้วย นั่นคือข่าวดีสำหรับผู้ผลิตข้าวไทย แต่การบ้านข้อถัดไป นั่นคือสิ่งที่กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้นิยมต่างออกไปจากคนไทย ก็อยู่ตรงที่ ชาวลาติโนโดยรวมๆ อาหารหลักซึ่งแม้จะเป็นข้าว แต่ก็จะนิยมการปรุงข้าวพร้อมกับถั่ว โดยเฉพาะถั่วดำ มีการใช้ถั่วชนิดอื่นบ้างเช่นกัน และอีกรายการที่นิยมทานกันเป็นประจำก็คือกล้วยหอม คล้ายๆ ของไทยเรา แต่จะมีรสชาติจืดกว่า นิยมทานกันทั้งแบบดิบๆ นำมาทอดกรอบ (Green Plantain) และที่สุกแล้วก็นำมาทอด (Sweet Plantain) ทานพร้อมอาหารเหมือนเครื่องเคียงไปเลย และมีบางชนชาติ อาทิ ชาวสาธารณรัฐโดมินิกัน และประเทศอื่นๆ ในแถบนี้อีกบางประเทศ ที่นำกล้วยมาตำรวมกับหนังหมูกรอบแล้วปั้นเป็นก้อนเป็นอาหารหลักเลยก็มี (อาหารรายการนี้มีชื่อว่า Mofongo) อาหารของคนแถบนี้ ส่วนใหญ่ไม่ทานอาหารรสจัดเลย นอกเหนือไปจากนี้ก็เป็นพวกอาหารทะเล ทั้งกุ้ง หมึก หมึกยักษ์ หอยเชล หอยแมลงภู่ ปลานานาชนิดซึ่งมักจะเป็นรายการทอดกรอบราดน้ำซอส ส่วนเนื้อสัตว์นานาชนิด ก็เป็นอาหารตะวันตกตามปกติ
ในความเป็นจริงแล้วในบรรดาเนื้อที่ทำจากพืชนั้น โดยส่วนใหญ่มักจะหนีไม่พ้นการนำถั่วมาใช้ในการผลิต และด้วยเหตุผลบางประการ อาหารเนื้อทำจากพืชส่วนใหญ่ก็จะพยายามทำให้รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์บางอย่าง ในขณะที่บรรดาผู้ผลิตเนื้อในสหรัฐฯ ก็จับเอาประเด็นเรื่องความพยายามจะทำให้เหมือนเนื้อสัตว์นี้มาโจมตีว่าต้องผ่านการปรุงแต่งมาอยากหนักหนาสาหัสจนผู้บริโภคเริ่มกังวล ในความเป็นจริงแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มชนลาติโนเหล่านี้ อาจมีใจเปิดรับข้าวที่ปรุงพร้อมถั่ว หรืออาหารจากถั่วเองได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาและรสชาติเหมือนกับเนื้อสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตามอีกแล้ว ในปัจจุบัน เท่าที่สำรวจดูในตลาด ก็ยังไม่เคยเห็นอาหารจากพืช หรือ Plant-based ที่ขายคุณค่าของโปรตีนจากพืชในนามของพืชเองเลย มีแต่ที่นำเสนอมาในรูปแบบเนื้อสัตว์เทียมแทบทั้งสิ้น ซึ่งการแข่งขันก็ยังจะต้องทำให้เหมือนเนื้อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ส่วนผู้ผลิตเนื้อสัตว์แท้ ก็มักจะโจมตีอาหารจากพืชที่พยายามทำให้รสชาติและสีสันเหมือนเนื้อสัตว์ต่างๆ ว่าจะต้องมีการปรุงแต่งด้วยเครื่องปรุงและสารเคมีมากมาย ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่หันมาทานอาหารจากพืชเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ก็อดที่จะระแวงไม่ได้ว่าจริงเท็จประการใด พัฒนาการในด้านรสชาติของอาหารจากพืชจึงยังตกอยู่ภายใต้กับดักที่เป็นได้แค่เพียงอาหารเทียมเนื้อสัตว์ อาหารจากพืชที่โดดเด่นและแหวกแนวไปแบบอาหารจากพืชที่อิสระ ไม่ยึดโยงกับเนื้อสัตว์ชนิดใดๆ จึงยังคงมีได้แค่ในวงจำกัดและมีให้ผู้บริโภคเห็นและลิ้มลองน้อยเกินไป
*********************************************************
ที่มา: The Shelby Report เรื่อง: “Taste Of The Southeast: Why The Grocery Landscape Stands Out In This Area” โดย: Diana Leza Sheehan สคต. ไมอามี /วันที่ 3 มิถุนายน 2567