จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีในไต้หวันมีจำนวนประมาณ 4.29 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.35 ของประชากรทั้งหมด คาดว่าจนถึงปี 2568 สัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 20  ซึ่งหมายความว่า ในจำนวนประชากรของไต้หวันทุกๆ 5 คน จะมี 1 คนที่เป็นผู้สูงอายุ และคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ ในอนาคต กล่าวได้ว่าไต้หวันเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดอย่างเต็มตัว ส่งผลให้ความต้องการในตลาดสินค้า/บริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุของไต้หวันมีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์วิจัย Research Center on International Classification of Functioning, Disability and Health and Assistive Technology ของมหาวิทยาลัยหยางหมิงเจียวทง และบริษัท Chan Chao International Co., Ltd.  จึงเล็งเห็นโอกาสในการจัดงานแสดงสินค้า Assistive Technology for Life (ATLife) ขึ้น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับให้ผู้ประกอบการในสินค้า/บริการที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวันของเหล่าผู้สูงอายุมาจัดแสดง

โอกาสสำหรับสินค้าผู้สูงอายุในไต้หวัน

งานแสดงสินค้า ATLife 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารแสดงสินค้า Nangang Exhibition Hall, Hall 1 ในธีม Sustainable & Digital Future for Silver Generation มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ารวม 210 รายจากไต้หวัน สหรัฐฯ เยอรมนี ญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย จีน และแอลเบเนีย หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงาน คือ คูหาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน ซึ่งมีการจัดแสดงการนำเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งลดภาระในการดูแล มาช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเหล่าผู้สูงวัย เช่น การนำระบบ IoT และเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ในสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหว หากมีความผิดปกติจะมีการแจ้งเตือนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เป็นต้น อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการเปิดในงานและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ รถเข็นผู้ป่วยที่สามารถขึ้นลงบันไดได้โดยมีมอเตอร์ทดแรงช่วยเหลือทำให้คนเข็นไม่ต้องออกแรงมากทั้งในการขึ้นและลง ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Footware & Recreation Technology Research Institute โดยได้มีการขายลิขสิทธิ์ให้ภาคเอกชนของไต้หวันทำการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยโซนจัดแสดงอื่นที่น่าสนใจของงาน

โอกาสสำหรับสินค้าผู้สูงอายุในไต้หวัน

โดยในงานฯ จะแบ่งโซนจัดแสดงตามความต้องการในการใช้งานของผู้บริโภค โดยมีส่วนจัดแสดงหลัก คือ Household Assistance Area ซึ่งจะจัดแสดงอุปกรณ์ช่วยเหลือที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน Welfare and Access ซึ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการขอใช้บริการสวัสดิการสังคมของภาครัฐ Mobility Area ซึ่งเป็นโซนเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น รถเข็น เครื่องช่วยเดิน ซึ่งมีการนำเสนอรถเข็นและเครื่องช่วยเดินที่มีการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ Eldery Long-term Care Service Area ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริการของหน่วยงานการกุศลต่างๆ ซึ่งรวมถึงบริการให้เช่าอุปกรณ์ช่วยเหลือด้วย Exercise and Recreation ที่จัดแสดงอุปกรณ์เกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดต่างๆ Prosthetics and Orthopedics Area โดยจัดแสดงเกี่ยวกับแขนขาเทียมและอุปกรณ์ป้องกันที่เกี่ยวข้อง Smart Care Area ซึ่งแนะนำระบบดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงอายุที่มีการประยุกต็ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ และ Overseas Pavillion

โอกาสสำหรับสินค้าผู้สูงอายุในไต้หวัน

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มาจัดแสดงในงานครั้งนี้ คือ บริษัท Valor Health ซึ่งนำผลิตภัณฑ์ผ้าเช็ดทำความสะอาดร่างกายแบบใช้แล้วทิ้งมานำเสนอ ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับจากทั้งผู้นำเข้าและผู้บริโภคในไต้หวันเป็นอย่างดี ทำให้งาน ATLife เป็นช่องทางการตลาดที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดมายังไต้หวัน โดยในปีนี้มีผู้เข้าชมงานรวมมากกว่า 116,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็น International Visitor ประมาณ 2,900 คน จาก 32 ประเทศทั่วโลก เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ไทย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น สำหรับงาน ATLife 2025 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 เมษายน 2568 รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้จากเว็บไซต์ของงานที่ https://www.chanchao.com.tw/ATLife/en/

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดของไต้หวัน ทำให้ตลาดสินค้า/บริการสำหรับการดูแลผู้สูงอายุในไต้หวันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลไต้หวันก็มีนโยบายส่งเสริมด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับการซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือในชีวิตประจำวันของเหล่าผู้สูงอายุชาวไต้หวัน จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตและใช้สินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น เฟอร์นิเจอร์/ของแต่งบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ หมอน/ที่นอนยางพารา อาหารสำหรับผู้สูงอายุ

โอกาสสำหรับสินค้าผู้สูงอายุในไต้หวัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า งาน ATLife จะมีผู้บริโภคที่นั่งรถเข็นมาเที่ยวชมงานเพื่อเลือกซื้อสินค้า/บริการตามความต้องการของตัวเอง รวมถึงมาเสาะหาอุปกรณ์ช่วยเหลืออื่นๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของตัวเองด้วย จึงเป็นช่องทางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสได้ติดต่อกับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคโดยตรง อันจะทำให้สามารถเข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาสินค้า/บริการที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานต่อไป

หลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ต่างเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ การจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงถือเป็นการตอบกระแสแนวโน้มของโลก ในการแก้ไขปัญหาด้านความไม่สะดวกในชีวิตประจำวันของกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ทุพพลภาพให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น นอกจากนี้ จากการที่ความต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือในตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป็นโอกาสทางการค้าสำหรับบริการให้เช่าอุปกรณ์ช่วยเหลือ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้งานแล้ว ยังถือเป็นสวัสดิการสังคมที่ดีที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรไปพร้อมกัน

thThai