ส่องแผนงบประมาณออสเตรเลีย ปี 67 เร่งบรรเทาวิกฤตค่าครองชีพ

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นาย Jim Chalmers (Treasurer) เปิดเผยแผนงบประมาณปี 2567-2568 โดยแผนฯในปีนี้จะให้ความสำคัญกับการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพที่สูง ลดภาวะเงินเฟ้อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน สรุปประเด็นหลักๆได้ดังนี้

  1. บรรเทาปัญหาค่าครองชีพ (Cost of living)
  • ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 จะเริ่มปรับใช้มาตรการลดภาษี Stage-three tax cuts เพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพสูง ซึ่งจะทำให้ชาวออสเตรเลียที่มีรายได้ตั้งแต่ 18,200 เหรียญออสเตรเลียต่อปีขึ้นไป (ร้อยละ 84) หรือประมาณ 13.6 ล้านคนจะได้รับการลดหย่อนภาษีเฉลี่ยประมาณ 1,888 เหรียญออสเตรเลียต่อปีหรือ 36 เหรียญออสเตรเลียต่อสัปดาห์
  • Energy bill rebate ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 ครัวเรือนออสเตรเลียจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าพลังงาน 300 เหรียญออสเตรเลียต่อไตรมาสและธุรกิจขนาดเล็กจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าพลังงาน 325 เหรียญออสเตรเลียต่อไตรมาสเป็นเวลา 3 ปี
  • ปลดหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในโครงการ HECS-HELP มูลค่ากว่า 3 พันล้านเหรียญออสเตรเลียเพื่อช่วยเหลือนักเรียนจบใหม่ในการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับค่าดัชนีราคาผู้บริโภคในระดับต่ำลงหรือดัชนีค่าจ้างแรงงานแทน มีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 (นักเรียนจบใหม่จะลดภาระหนี้เฉลี่ย 1,200 เหรียญออสเตรเลียต่อคน) และรัฐบาลจะมอบเงินช่วยเหลือ 320 เหรียญออสเตรเลียต่อสัปดาห์ให้แก่นักเรียนในสาขาอาชีพครู พยาบาล พยาบาลผดุงครรภ์ และนักสังคมสงเคราะห์ในช่วงฝึกอบรมงาน และจัดสรรเงินมูลค่า 90.6 ล้านเหรียญออสเตรเลียในการเพิ่มจำนวนแรงงานทักษะด้านต่างๆในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและที่พักอาศัยให้แก่สถาบันอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพของภาครัฐ (Fee-Free TAFE)
  1. กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economy) รัฐบาลคาดการณ์ว่าสถานการณ์ความไม่มั่นคงในตลาดโลกจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ในอีก 3 ปีข้างหน้า จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจออสเตรเลียปีงบประมาณ 2568 ลงที่ร้อยละ 2 และร้อยละ 2.25 ในปีงบประมาณ 2569 อีกทั้ง คาดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 ในเดือนมิถุนายน 2567 และร้อยละ 4.5 ในปี 2568 และภาวะเงินเฟ้อจะลดลงในระดับที่ธนาคารกลางออสเตรเลียกำหนดเป้าไว้ (ร้อยละ 2-3) ภายในสิ้นปี 2567
  1. Future Made in Australia เงินกองทุนมูลค่า 23,000 ล้านเหรียญออสเตรเลียเป็นเวลา 10 ปี เพื่อยกระดับขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรมผลิตและนวัตกรรมในประเทศ โดยเฉพาะ Green energy เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่มั่นคงในตลาดโลก และเงินสนับสนุนศูนย์ PsiQuantum (Quantum computing) ในนครบริสเบนและโรงงานแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Sunshot) ในเขต Hunter Valley รัฐ New South Wales (NSW) และมาตรการจูงใจด้านภาษี (Tax incentives) มูลค่า 13,700 ล้านเหรียญออสเตรเลียในอุตสากรรมพลังงานสะอาด (Green hydrogen projects) รวมถึงเงินกู้เพื่อสนับสนุนกำลังการผลิตแร่สำคัญต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตรถไฟฟ้าและกังหันลมที่ใช้ผลิตพลังงาน
  2. ด้านสุขภาพ (Better Healthcare system) จัดสรรเงินทุน 3,400 ล้านเหรียญออสเตรเลียในการซื้อยาใหม่เพิ่มอีก 42 รายการในโครงการ Pharmaceutical Benefits Scheme (PBS) และควบคุมราคาค่ายารักษาโรคให้มีราคาถูกลง (Co-payment) สำหรับผู้ป่วยทั่วไป (มี Medicare card) เป็นเวลา 1 ปีและผู้เกษียณอายุเป็นเวลา 5 ปี และเพิ่มเงินทุนในโครงการวิจัยทางการแพทย์ (Research future fund) เป็นเวลา 13 ปีมีมูลค่ารวม 1,600 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
  3. ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เงินทุนมูลค่า 1,900 ล้านเหรียญออสเตรเลียในโครงการสร้างถนน (14 สาย) และขยายเส้นทางรถไฟ รวมถึงโครงการพัฒนาและฟื้นฟูด้านคมนาคมขนส่งอื่นๆ
  4. ที่พักอาศัย เพิ่มเงินทุนสำหรับการก่อสร้างที่พักอาศัย มูลค่า 6,200 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ตั้งเป้าสร้างที่พักอาศัยใหม่ให้ได้ 1.2 ล้านหลังภายใน 5 ปี รวมถึงเงินทุน 1,000 ล้านเหรียญออสเตรเลียในปี 2567-2568 เพื่อช่วยเหลือในการสร้างที่พักอาศัยใหม่เพิ่มในแต่ละรัฐและเพิ่มเงินทุน 423.1 ล้านเหรียญออสเตรเลียสำหรับการสร้างบ้านพักสวัสดิการสังคมและบริการคนไร้บ้าน และลดจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศ (นักเรียน/ผู้ย้ายถิ่นฐาน) ให้เหลือเพียง 260,000 คน ภายในปี 2568 (จาก 518,000 คน ปี 2566) เพื่อบรรเทาความกดดันด้านที่พักอาศัยไม่เพียงพอ การเพิ่มขึ้นของราคาค่าเช่าบ้านและความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

รัฐบาลออสเตรเลียคาดหวังว่า ภายใต้แผนการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ 2567-2568 จะช่วยลดความกดดันด้านค่าครองชีพ ลดภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและลงทุนในภาคอุตสาหกรรมผลิตและนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจออสเตรเลียให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โลก

แผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2567-2568 เป็นหนึ่งในการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างแรงสนับสนุนจากชาวออสเตรเลียในการเลือกตั้งครั้งต่อไป (ปี 2568) อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจโดย Australian Financial Review พบว่า ชาวออสเตรเลียเกือบครึ่ง (กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง และกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่) มีความกังวลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และเห็นว่า มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ จะช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่ชาวออสเตรเลียเผชิญอยู่ได้ไม่มากนัก

…………………………………………………………………………………………..

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา:

www.budget.gov.au

www.smh.com.au

www.abc.net.au

www.9news.com.au

thThai