ความท้าทายของสินค้าไทยหลังสหรัฐฯเตรียมถอดกุ้งไทยจากบัญชีสินค้าเฝ้าระวัง

เนื้อหาสาระข่าว: จากกระแสข่าวที่น่าชื่นใจสำหรับการค้าระหว่างไทย – สหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์นี้ จากการที่สามหน่วยงานสำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน (U.S. Department of Labor) กระทรวงการต่างประเทศ (U.S. Department of State) และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (U.S. Department of Homeland Security) โดยมีสำนักงานกิจการแรงงานระหว่างประเทศ (Bureau of International Labor Affairs) สังกัดกระทรวงแรงงานสหรัฐฯเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ได้นำเสนอข้อสรุปใหม่ต่อกรณีการขึ้นบัญชีเฝ้าระวังสินค้ากุ้งไทยซึ่งผลิตจากการบังคับใช้แรงงาน หรือ แรงงานเด็ก (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor) สืบเนื่องมาจากคำสั่งทางบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Executive Order) ที่ 13126 ในปี ค.ศ. 1999 กำหนดให้สินค้าที่ถูกผลิตขึ้นโดยการบังคับใช้แรงงานหรือแรงงานเด็กเป็นสินค้าต้องห้าม (Prohibition of Acquisition of Products Produced by Forced or Indentured Child Labor) ซึ่งสินค้ากุ้งไทยถูกขึ้นบัญชีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เผยแพร่แผนข้อเสนอที่จะนำสินค้ากุ้งไทยออกจากบัญชีดังกล่าว หลังจากที่ข้อมูลจากทั้งสามหน่วยงานบ่งชี้ว่าสถานการณ์การบังคับใช้แรงงานเด็กในกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งไทยนั้นดูเหมือนว่าจะลดลงไปอย่างมากแล้ว (appears to have been significantly reduced) ซึ่งจากข้อมูลและหลักฐานที่ทั้งสามหน่วยงานมี ทำให้ได้ข้อสรุปดังกล่าวออกมา

โดยในกรณีที่ได้มีการเสนอให้พิจารณานำสินค้ากุ้งไทยออกจากบัญชีครั้งนี้ คุณ Thea Mei Lee ตำแหน่ง Deputy Undersecretary ด้านกิจการต่างประเทศกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้ชี้แจงว่า “บริษัทภาคเอกชนของไทยได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตซึ่งมีทิศทางต่อต้านการใช้บังคับใช้แรงงานเด็กโดยการจัดระเบียบระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยจัดการไม่ให้มี “เพิงผลิตกุ้ง” (Shrimp Sheds) ที่ไม่ได้รับการควบคุมดูแลมาตรฐาน ที่ซึ่งเคยปรากฎอยู่ในเอกสารหลักฐานการค้นพบการบังคับใช้แรงงานเด็กก่อนหน้านี้” นอกจากนี้ทางกระทรวงยังได้รับทราบถึงความคืบหน้าในการจัดการกับปัญหานี้ของรัฐบาลไทย จากการที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาแรงงานทางทะเล (Maritime Labor Convention) และอนุสัญญาการทำงานในภาคประมง (Work in Fishing Convention) ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) ตลอดจนความคืบหน้าในการปฏิรูปภาคการประมงผ่านการออกพระราชกำหนด และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล และพระราชกำหนดการประมง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม Seafood Source ได้นำเสนอข้อมูลจากคณะทำงานด้านอาหารทะเล (Seafood Working Group: SWG) เครือข่ายระดับโลกขององค์กรสิทธิมนุษยชน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาและรณรงค์สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและการดำเนินการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานและการประมงที่ผิดกฎหมาย ได้ชี้ให้เห็นข้อกังวลที่ยังคงมีอยู่สำหรับการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่รัฐบาลไทยยังไม่ได้มีการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม และมีรายงานถึงความพยายามในอุตสาหกรรมการประมงไทยที่จะยกเลิกการปฏิรูปในอุตสาหกรรมการประมงบางประการที่ดำเนินการไปแล้ว แม้กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯจะได้ยืนยันการพบหลักฐานที่เชื่อถือได้เพียงพอที่จะเชื่อว่าการบังคับใช้แรงงานเด็กในการประมงไทยนั้นลดลงไปอย่างมาก

บทวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ: แม้ว่าท่าที่จากทางการสหรัฐฯที่จะปรับนำเอาสินค้ากุ้งไทยออกจากบัญชีเฝ้าระวังสินค้าที่ผ่านกระบวกการผลิตที่มีการบังคับใช้แรงงานเด็ก แต่จากการสืบค้นฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ พบว่าในปัจจุบันประเทศไทยถูกประเมินความคืบหน้าในการจัดการกับปัญหาการบังคับใช้แรงงานเด็กอยู่ในระดับปานกลาง (Moderate Advancement) ในภาพรวม จากการประเมินในปี ค.ศ. 2022 โดยนอกจากสินค้ากุ้งแล้ว ในรายงานยังได้ระบุการตรวจพบการบังคับใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกระบวนการผลิตสินค้าอื่น ๆ ได้แก่ กระบวนการปลูกอ้อย กระบวนการผลิตยางพารา อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย กระบวนการผลิตสัตว์ปีกและหมู และยังมีอุตสาหกรรมภาคบริการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นความท้าทายในกระบวนการผลิตสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าการเกษตรและเครื่องแต่งกายที่ยังคงติดค้างในบัญชีเฝ้าระวังดังกล่าวอยู่ ที่ยังคงรอคอยการแก้ปัญหาอย่างรูปธรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าของไทยในการส่งออกมายังสหรัฐฯ ให้สามารถหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันรับมือกับข้อครหาเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานเด็ก

นอกจากนี้ สำหรับตัวสินค้ากุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯ เองนั้น แม้ว่าจะได้รับการยกระดับมาตรฐานสูงขึ้น จากการที่จะถูกถอดออกจากบัญชีสินค้าเฝ้าระวังกระบวนการผลิตที่บังคับใช้แรงงานเด็กแล้วนั้น สินค้ากุ้งไทยก็ยังจะต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบมาตรฐานสินค้าอีกหลายรูปแบบ ดังจะเห็นได้จากฐานข้อมูลขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (U.S. Food and Drug Administration) ที่ได้ออกประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้า (Import Alert) สินค้ากุ้งและอาหารทะเลไทย ในปัจจุบันพบการประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้ากุ้งและอาหารทะเลไทย ทั้งหมด 8 ฉบับ ดังนี้

  1. ประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าที่ 16-04 (Import Alert 16-04) : การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ เนื่องจากตรวบพบสินค้าที่ไม่ตรงตามฉลากสินค้า (Detention Without Physical Examination of Seafood Products That Appear To Be Misbranded)
  2. ประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าที่ 16-120 (Import Alert 16-120) : การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ เนื่องจากตรวบพบสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานตามระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหารทะเล (Detention Without Physical Examination of Fish/Fishery Products from Foreign Processors (Mfrs.) Not in Compliance with Seafood HACCP)
  3. ประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าที่ 16-124 (Import Alert 16-124) : การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ เนื่องจากตรวบพบสินค้าอาหารทะเลเพาะเลี้ยงที่ปนเปื้อนการใช้ยาที่ไม่ได้รับ การรับรอง(Detention Without Physical Examination Of Aquaculture Seafood Products Due To Unapproved Drugs)
  4. ประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าที่ 16-129 (Import Alert 16-129) : การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ เนื่องจากตรวบพบสินค้าอาหารทะเลที่เจือปนสารไนโตรฟูราน (Detention Without Physical Examination of Seafood Products Due to Nitrofurans)
  5. ประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าที่ 16-39 (Import Alert 16-39) : การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ เนื่องจากตรวบพบสินค้าอาหารทะเลที่เจือปนเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรีย โมโนไซโตจิเนส (Detention Without Physical Examination of Ready-to-Eat Seafood for Listeria monocytogenes)
  6. ประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าที่ 16-81 (Import Alert 16-81) : การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ เนื่องจากตรวบพบสินค้าอาหารทะเลที่เจือปนเชื้อโรคซาลโมเนลลา (Detention Without Physical Examination of Seafood Products Due to the Presence of Salmonella)
  7. ประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าที่ 16-18 (Import Alert 16-18) : การกักกันสินค้ากุ้งสดไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพเพื่อตรวจสอบคุณภาพด้านสุขอนามัย เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก (Filth) การเน่าบูด (Decomposition) และเชื้อโรคซาลโมเนลลา (Salmonella) (Detention Without Physical Examination of Raw Shrimp)
  8. ประกาศแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าที่ 16-22 (Import Alert 16-22) : การกักกันสินค้ากุ้งกระป๋องจากประเทศไทยไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ เพื่อตรวจสอบการเน่าบูด (Detention Without Physical Examination of Canned Shrimp from Thailand for Decomposition)

จะเห็นได้ว่าจากประกาศการแจ้งเตือนการนำเข้าสินค้าขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ที่ปรากฎในข้างต้นทั้ง 8 ฉบับ แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานทางด้านสุขอนามัย ฉลากภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการใช้ยาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยังมีข้อบกพร่องของสินค้ากุ้งและอาหารทะเลไทย ที่ยังคงเป็นข้อกังขาและอุปสรรคที่น่าห่วงกังวลต่อการส่งออกสินค้ากุ้งและอาหารทะเลไทยมายังสหรัฐฯ ที่นอกเหนือจากมาตรฐานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิตที่กำลังจะได้รับการผ่อนหนักเป็นเบาแล้ว ยังคงมีมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่จะต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่ง ทำให้ทั้งหมดอาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าการได้รับการพิจารณาเพิกถอนสินค้าไทยออกจากบัญชีเฝ้าระวังในด้านการบังคับใช้แรงงานเด็กจะเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ แต่ก็ยังคงมีความท้าทายของอุปสรรคทางการค้าอีกหลายประเภทและรูปแบบที่เราจะต้องช่วยกันยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยอยู่

ที่มา: Seafood Source
เรื่อง: “US Department of Labor: Forced labor no longer prevalent in Thailand’s shrimp sector”
โดย: Cliff White
สคต. ไมอามี /วันที่ 16 พฤษภาคม 2567

thThai