ภาวะเงินเฟ้อที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบต่ออาหารราคาประหยัดที่เป็นที่นิยมรับประทานในเกาหลีใต้ เช่น คิมบับ (ข้าวห่อสาหร่าย) แฮมเบอร์เกอร์ กาแฟ หรือแม้แต่เครื่องเคียงต่างๆ โดยเมนูดังกล่าวจะเป็นเมนูที่ผู้บริโภคเคยสามารถเพลิดเพลินกับการรับประทานในราคาที่ไม่แพงมาก แต่ปัจจุบัน สินค้าเหล่านี้มีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เริ่มขยายวงกว้าง และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าราคาสินค้าเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกนานเท่าไหร่
แฟรนไชส์ร้านอาหารชื่อดังของเกาหลีใต้ เช่น ร้านคิมบับ รามยอน ฟาสต์ฟู้ด และอาหารจานด่วนอื่นๆ ได้มีการปรับราคาสินค้าของร้านอย่างต่อเนื่อง
ร้านคิมบับชื่อดัง TeacherKim ขึ้นราคาจาก 4,300 วอนเป็น 4,500 วอน ในขณะที่ร้าน Gimgane เพิ่มราคาคิมบับยอดฮิตสองชนิดจากราคาเดิม 3,900 วอนเป็น 4,500 และจาก 4,900 วอนเป็น 5,500 วอน
McDonald ซึ่งเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับความนิยมที่สุดในเกาหลีใต้ สร้างความฮือฮาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม จากการประกาศขึ้นราคาเมนูอาหารของร้านทั้งหมด 16 ชนิด โดยปรับขึ้นร้อยละ 2.8 ทั้งที่ก่อนหน้านี้แบรนด์ดังกล่าวได้ขึ้นราคาแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566
แฟรนไชส์ไก่ทอดซึ่งถือเป็นเมนูสั่งกลับบ้านและเมนูเดลิเวอรี่ยอดนิยมในเกาหลีใต้เองก็ได้ปรับราคาขึ้นเช่นกัน ร้าน Kyochon F&B ปรับราคาเมนูยอดนิยม จาก 20,000 วอน เป็น 23,000 วอน ซึ่งเมื่อสั่งไก่ทอดหนึ่งตัวรวมค่าจัดส่งแล้ว ราคาจะสูงถึงเกือบ 30,000 วอน
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี พบว่าราคาสินค้าอาหารที่เป็นที่นิยมในประเทศ ซึ่งรวมถึง ต๊อกบกกี บิบิมบับ คิมบับ และแฮมเบอร์เกอร์ มีราคาสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ Korea Consumer Agency รายงานว่า เมนูอาหารจานโปรดตลอดกาลในกรุงโซล 8 ชนิด ได้มีการปรับราคาขึ้นถึงร้อยละ 7 ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 โดยแนงมยอน (บะหมี่เย็น) เป็นหนึ่งใน
เมนูอาหารที่แพงขึ้นมากที่สุด โดยแพงขึ้นร้อยละ 7.2 และมีราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 11,500 วอน/ถ้วย ไม่เพียงเท่านั้น ร้านอาหารหรูในกรุงโซลบางร้านได้ปรับราคาแนงมยอนขึ้น 1,000–2,000 วอน เป็นราคาถ้วยล่ะ 15,000–16,000 วอน จนทำให้มีผู้บริโภคกล่าวว่า ปัจจุบัน จากราคาอาหารที่เพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าอาหารในส่วนนั้นได้ จึงนิยมทำอาหารเองมากกว่าที่จะรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือสั่งเดลิเวอรี่
นอกจากนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ก็มีราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน เช่น ผลไม้ และสินค้าเกษตรต่างๆ มีราคาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยแอปเปิ้ลมีราคาเพิ่มถึงร้อยละ 80 และจากสถานการณ์ที่ราคาโกโก้เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก Lotte Wellfood ได้เพิ่มราคาของหวานและไอศรีม ร้อยละ 12 นอกจากนี้ ราคาสาหร่ายก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดย Kwangcheonkim ได้เพิ่มราคาสาหร่ายประมาณร้อยละ 15-20
บริษัทอาหารหลายแห่งได้ให้ข้อมูลว่า จากราคาน้ำมันที่ไม่เสถียร และค่าเงินวอนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ ทำให้โรงงานผู้ผลิตอาหารในเกาหลีใต้มีค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทเหล่านั้นมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาสินค้าของตัวเอง
ความเห็น สคต.
สคต. ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า เกาหลีใต้ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากสงครามรัสเซียและยูเครน ค่าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งไปกระทบกับค่าขนส่งและการผลิตต่างๆ ค่าเงินวอนที่อ่อนค่าลง ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด สภาวะเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบไปยังราคาอาหาร ซึ่งรวมถึงอาหารพื้นฐานเมนูง่ายๆ ที่มีราคาไม่แพง ที่ผู้บริโภคเคยสามารถซื้อรับประทานได้ในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้สึกเป็นภาระ เช่น คิมบับ และแฮมเบอร์เกอร์ ถึงแม้รัฐบาลจะออกมาตรการ เช่น มาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าอาหารสดและวัตถุดิบหลักอื่น ๆ การแจกบัตรสมนาคุณและบัตรส่วนลด และการปฏิรูปโครงสร้างการขนส่งสินค้าเกษตรกรรม แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน แม้ราคาวัตถุดิบและอาหารสดบางชนิดมีการปรับราคาลดลง แต่โดยภาพรวมแล้ว ราคาสินค้าอาหารในเกาหลีใต้ยังคงเพิ่มสูงขึ้น
เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ส่งออกไทยควรเน้นพัฒนาสินค้าอาหารพร้อมทานหรืออาหารพร้อมปรุงที่มีราคาเหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคเกาหลีใต้ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยการลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงราคาของสินค้าในการส่งออกมายังตลาดเกาหลี และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ และมาตรการด้านภาษี (การลดภาษีนำเข้าอาหารบางรายการ) ที่รัฐบาลเกาหลีใต้เลือกใช้เพื่อควบคุมราคาอาหารในประเทศ นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังในคุณภาพของอาหารที่ส่งออกมาด้วย เนื่องจากหากคุณภาพไม่ดี ผู้นำเข้าจะเสียความเชื่อใจ และนำไปสู่การหาคู่ค้าใหม่ๆ อย่างแน่นอน
********************************************************************
ที่มา : The Korea Times ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2567