รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าของประเทศชิลี ฉบับที่ 5 ประจำปี 2567

ภาพรวมเศรษฐกิจ 

เศรษฐกิจของชิลีประจำเดือน มีนาคม 2567 กลับเข้าสู่ช่วงหดตัวอีกครั้ง สะท้อนจาก GDP โดยมีการปรับลดลงจาก 4.5% มาอยู่ที่ 0.8% บรรยากาศในการลงทุนในภาพรวมยังอยู่ในช่วงชะลอตัวที่ 1.1% อัตราว่างงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8.7% ส่วนตัวเลขการส่งออกหดตัวที่ -4.8% คาดว่าเป็นผลจากสภาวะสงครามและความไม่สงบในตะวันออกกลางที่สร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจการลงทุนและการส่งออก อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.7% เสริมให้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ความต้องการทองแดงจากทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นสวนทางกับกำลังการผลิตของเหล่าประเทศผู้ผลิตที่ลดลงในช่วงต้นปีนี้ ส่งผลต่อแนวโน้มราคาทองแดงในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นผลดีต่อชิลีในเดือนเมษายน เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ ในส่วนของรายละเอียดในแต่ละด้านประจำเดือนมีนาคม 2567 สคต. ณ กรุงซันติอาโก ขอสรุปรายละเอียด ดังนี้

 

1. การบริโภคภาคเอกชน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี)

การบริโภคภาคเอกชนในชิลีในเดือน มีนาคม 2567 ในภาพรวมมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันจาก 9.7%        มาอยู่ที่ 14.2% โดยหมวดเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ปรับตัวขึ้นมากที่สุดจาก 4.7% มาอยู่ที่ 9.9% เนื่องจากชาวชิลีนิยมเตรียมซื้อเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ในช่วงก่อนเข้าฤดูหนาว ตามมาด้วยหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้นจาก 0.0% มาอยู่ที่ 9.5% และหมวดอาหารจาก 1.7% มาอยู่ที่ 3.4% ในส่วนของสินค้าคงทน (รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า) ปรับลดลง จาก -7.0% มาอยู่ที่ -21.4% โดยหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แม้จะลดลงจาก 14.6% ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในแดนบวกที่ 7.2%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2567 มีการปรับระดับลดลงเล็กน้อยจากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จากเดิมซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.2 มาอยู่ที่ 42.2

 

2.การลงทุน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี)

    บรรยากาศการลงทุนในภาครัฐของชิลีและเอกชนของชิลีประจำเดือน มีนาคม 2567 ยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัวจาก 1.6% มาอยู่ที่ 1.1% โดยสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการก่อสร้าง ลดลง -12.2% ตัวเลขการ        ขออนุญาตก่อสร้างในโครงการที่อยู่อาศัย (คิดเป็นตารางเมตร) ลดลงจาก -8.4% มาอยู่ที่ -18.9% การก่อสร้างของภาครัฐลดลงจาก 248.5% มาอยู่ที่ 204.9% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 3.6% มาอยู่ที่ 34.8% ในส่วนของปริมาณการจำหน่ายสินค้าวัสดุและเครื่องมือในหมวดก่อสร้างปรับลดลงจาก -6.5% มาอยู่ที่      -13.0%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมประจำเดือนมีนาคม 2567 มีการปรับระดับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 44.9 มาอยู่ที่ 46.3

 

3. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี https://si3.bcentral.cl และสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลี https://www.ine.gob.cl)

อัตราการว่างงานของประเทศชิลีในเดือนมีนาคม 2567 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยอยู่ที่ 8.7% ของจำนวนผู้ใช้แรงงานทั้งหมดในประเทศ หากพิจารณาแยกตามเขตการปกครอง แคว้นที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือ แคว้น อาเราคาเนียที่ 9.7% และแคว้นที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดคือ แคว้น ลอสลาโกส ที่ 3.1%

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศชิลีในเดือนมีนาคม 2567 อัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.7% ทั้งนี้ สินค้า 3 หมวดแรกที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในเดือนนี้ ได้แก่ (1) หมวดการศึกษา (2) หมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ และ (3) หมวดที่พักอาศัยและสาธารณูปโภค โดยปรับเพิ่มขึ้นที่ 5.5%, 3.2% และ 3.0% ตามลำดับ

 

4. การส่งออก-นำเข้า (ข้อมูลจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของชิลี SUBREI – www.subrei.gob.cl)

     การส่งออกสินค้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2567          มีมูลค่ารวมที่ 24,650 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -4.8%  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่

สินค้า ม.ค.-มี.ค. (ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัว

(66/67)

ปี 2566 ปี 2567
สินแร่ 13,036 12,888 -1.1%
ผลไม้ 3,272 3,613 10.4%
เนื้อสัตว์ 3,182 3,169 -0.4%
เคมีภัณฑ์ 3,036 1,821 -40.0%
ปลาแซลมอน 1,690 1,687 -0.2%
เยื่อกระดาษ 664 704 6.0%
เฟอร์นิเจอร์จากไม้ 564 560 -0.7%

การนำเข้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 มีมูลค่ารวมที่ 18,734 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -4.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่

สินค้า ม.ค.-มี.ค. (ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัว

(66/67)

ปี 2566 ปี 2567
สินค้าหมวดพลังงาน 11,731 10,972 -6.5%
สินค้าอุปโภคบริโภค 5,226 5,488 5.0%
สินค้าทุน 4,169  3,660 -12.2%
 -รถยนต์เชิงพาณิชย์ 594   461 -22.4%
 -เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมก่อสร้าง 258            224 -13.2%

จากการที่ตัวเลขการส่งออกของชิลีสูงกว่าตัวเลขการนำเข้า ทำให้ชิลีได้ดุลการค้า จำนวน 5,916 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

5. การค้าของชิลีกับไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน (ข้อมูลสถิติทางการค้าจาก Global Trade Atlas)

ชิลีนำเข้าสินค้าจากไทยในเดือนมีนาคม 2567 มูลค่า 110.41 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -34.72% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งสินค้าที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • รถยนต์และส่วนประกอบ (77 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -59.35%)
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (23.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -27.18%)
  • เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (85 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 151.85%)
  • ไข่มุกและอัญมณี (46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.75%)
  • ปลากระป๋อง (5.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -51.50%)

 

สำหรับตัวเลขการนำเข้าของชิลีจากกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ชิลีนำเข้าจากเวียดนาม 315.64 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -2.62%)
  • ชิลีนำเข้าจากไทย 110.41 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -34.72%)
  • ชิลีนำเข้าจากอินโดนีเซีย 93.02 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 30.25%)
  • ชิลีนำเข้าจากมาเลเซีย 40.76 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 0.60%)
  • ชิลีนำเข้าจากสิงคโปร์ 25.36 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 43.72%)

 

    ชิลีส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2567 มูลค่า 167.85 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -11.75% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)  ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ทองแดง (32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -7.71%)
  • เยื่อกระดาษ (15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 112.90%)
  • แซลมอนและอาหารทะเล (54 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -36.30%)
  • สินแร่อื่น ๆ (11.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -94%)
  • ผลไม้และผลิตภัณฑ์ธัญพืช (7.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -61%)

 

สำหรับตัวเลขการส่งออกของชิลีไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ชิลีส่งออกไปยังไทย 167.85 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -11.75%)
  • ชิลีส่งออกไปยังฟิลิปินส์ 152.36 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 1,141.11%)
  • ชิลีส่งออกไปยังเวียดนาม 73.70 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -32.95%)
  • ชิลีส่งออกไปยังมาเลเซีย 63.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -8.77%)
  • ชิลีส่งออกไปยังสิงคโปร์ 54.27 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 185.00%)

มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-ชิลี ในเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 278.26 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -22.56%) โดยชิลีส่งออกสินค้าไปยังไทยมากกว่านำเข้าจากไทย จึงทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าที่ 57.44 ล้านเหรียญสหรัฐ

_____________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

พฤษภาคม 2567

thThai