เศรษฐกิจแคนาดาชะลอตัวกว่าที่คาด มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น (สคต.โทรอนโต)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2567

เศรษฐกิจแคนาดาชะลอตัวกว่าที่คาด มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น

GDP ของแคนาดา ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 0.2 ซึ่งต่ำกว่าที่ธนาคารกลางแคนาดาคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และประเมินว่าตัวเลข GDP ในเดือนมีนาคม 2567 อาจขยายตัวในอัตราที่ต่ำหรือแทบไม่มีการขยายตัวเลย ทำให้นักวิเคราะห์ปรับการประเมินทิศทางนโยบายดอกเบี้ยโดยเห็นว่าธนาคารกลางอาจถูกบีบให้ต้องลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายในปัจจุบันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี ที่ระดับร้อยละ 5

เศรษฐกิจแคนาดาชะลอตัวกว่าที่คาด มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น (สคต.โทรอนโต)

สัญญาณชะลอตัวล่าสุดกดดันให้ธนาคารกลางแคนาดาต้องปรับมุมมองต่อสภาพเศรษฐกิจใหม่ ที่ไม่ได้สดใสอย่างที่เคยประเมินไว้ โดยก่อนหน้านี้ธนาคารเคยประกาศว่าจะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 แต่หากเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วในเดือน มิถุนายน 2567 อย่างไรก็ตาม ธนาคาร BMO (Bank of Montreal)ประเมินว่าเศรษฐกิจแคนาดาในเดือนมีนาคม 2567 อาจสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 0.3 ในขณะที่หน่วยงาน Statistics Canada ประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2567 น่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ระดับร้อยละ 0.2 หรือต่ำกว่านั้น

เศรษฐกิจแคนาดาชะลอตัวกว่าที่คาด มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น (สคต.โทรอนโต)

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางแคนาดาเคยประเมินว่าเศรษฐกิจแคนาดาในไตรมาสแรกของปี 2567 จะขยายตัวที่ระดับร้อย 2.8 และร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่สอง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดอาจทำธนาคารกลางต้องปรับการประเมินตัวเลขคาดการณ์ใหม่และปรับลดตัวเลขทั้งปี 2567 ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า เศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 จนถึงสิ้นปีจะชะลอตัวกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน และการลดดอกเบี้ยอาจเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้แคนาดาต้องเข้าสู่ภาวะการถดถอย โดยจากผลการสำรวจล่าสุดที่ถามเหล่านักวิเคราะห์ในตลาดการเงิน พบว่าความน่าจะเป็นที่แคนาดาจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 56 มาเป็นร้อยละ 60

นอกเหนือจากสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ดุลการค้าระหว่างประเทศของแคนาดาล่าสุดในเดือนมีนาคม 2567 ประสบกับการขาดดุลการค้ากว่า 2.28 พันล้านเหรียญแคนาดา (6.15 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยการส่งออกหดตัวอย่างรวดเร็ว (จากสินค้าพลังงาน) ขณะที่การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าแคนาดาน่าจะได้ดุลการค้าระหว่างประเทศที่ระดับ 1.5 พันล้านเหรียญแคนาดา (4.05 หมื่นล้านบาท) ในเดือนมีนาคม 2567 แต่ผลกระทบจากนโยบายดอกเบี้ยระดับสูง ได้ส่งผลต่อการบริโภคของชาวแคนาดา นอกไปจากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เป็นตัวแปรที่สำคัญทำให้ชาวแคนาดาส่วนใหญ่หันมาระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

ความเห็นของ สคต.

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจแคนาดาจะมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีความต้านทานต่อความเสี่ยงของการถดถอยทางเศรษฐกิจ แต่หากพิจารณาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะพบว่า เศรษฐกิจแคนาดาเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดย GDP ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนมีนาคม 2567 ได้ปรับสูงขึ้นร้อยละ 6.1 เป็นอัตราที่สูงเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 เดือน ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าธนาคารกลางจะได้รับแรงกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจในเรื่องการลงทุน การบริโภค และช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินครัวเรือนและภาระหนี้ของภาคเอกชน รวมถึงเป็นการส่งเสริมการจ้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแคนาดาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคธุรกิจ

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

 

thThai