ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน

สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ หรือ CBS เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน โดยในเดือนมีนาคม 2567 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ -22 ปรับตัวดีขึ้นจาก -27 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความเต็มใจที่จะจับจ่ายใช้สอย (Willingness to buy) ของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น

 

แม้ว่าระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ -22 จะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาที่อยู่ที่ -10 แต่ก็เป็นการค่อยๆปรับตัวดีขึ้นจากระดับต่ำสุดที่ -59 ในเดือนกันยายนและตุลาคม 2565 ผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์มีทัศนคติเชิงลบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจน้อยลง การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของผู้บริโภคในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาดีขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจมากขึ้น แต่การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นลบเล็กน้อย

 

 

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน

 

 

ความเต็มใจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ -14 ปรับตัวดีขึ้นจาก -17 ในเดือนกุมภาพันธ์ การประเมินสถานการณ์ทางการเงินของผู้บริโภคทั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาและแนวโน้มสถานการณ์ทางการเงินในช่วง 12 ข้างหน้าดีขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและมีทัศนคติเชิงลบต่อการซื้อสินค้าจำนวนมากหรือสินค้าที่มีมูลค่าสูงลดน้อยลง

 

 

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน

 

 

Eurobarometer ได้ทำการสำรวจทัศนคติและความคิดเห็นของประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์และพลเมืองสหภาพยุโรปต่อสภาพเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาค่าครองชีพ และปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เป็นต้น ผลการสำรวจของ Eurobarometer พบว่า ชาวเนเธอร์แลนด์มีทัศนคติเชิงบวกและมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์มากกว่าพลเมืองสหภาพยุโรปที่มีทัศนคติเชิงบวกและมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหภาพยุโรปในภาพรวม โดยชาวเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 20 ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นอยู่ในสถานะที่ดีมาก และร้อยละ 63 ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นอยู่ในสถานะดี ในขณะที่ทั่วทั้งยุโรปมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปหรือเศรษฐกิจในภูมิภาคอยู่ในสถานะที่ดีมาก และร้อยละ 53 ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ชาวเนเธอร์แลนด์ยังมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้นต่อคุณภาพชีวิตในเนเธอร์แลนด์ โดยร้อยละ 37 ให้ความเห็นว่าคุณภาพชีวิตในเนเธอร์แลนด์อยู่ในระดับดีมาก และร้อยละ 57 ให้ความเห็นว่าคุณภาพชีวิตในเนเธอร์แลนด์อยู่ในระดับค่อนข้างดี ในขณะที่ทั่วทั้งสหภาพยุโรปมีเพียงร้อยละ 20 ที่ให้ความเห็นว่าคุณภาพชีวิตในสหภาพยุโรปอยู่ในระดับดีมาก และร้อยละ 62 ให้ความเห็นว่าคุณภาพชีวิตในสหภาพยุโรปอยู่ในระดับค่อนข้างดี

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากมีอุปสงค์หรือความต้องการที่อยู่อาศัยมากกว่าอุปทาน ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยทั้งสำหรับการซื้อและการเช่าปรับตัวสูงขึ้นมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาค่าครองชีพ โดยร้อยละ 50 ของชาวเนเธอร์แลนด์ระบุว่าเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาสำคัญ ในขณะที่เพียงร้อยละ 20 ทั่วยุโรประบุว่าที่อยู่อาศัยเป็นปัญหา และ 1 ใน 3 ของทั้งชาวเนเธอร์แลนด์และพลเมืองสหภาพยุโรปมีความเห็นตรงกันว่าประเด็นเรื่องค่าครองชีพเป็นประเด็นที่สำคัญมาก

 

บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.

แม้ว่าเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ในปีที่ผ่านมาจะหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาสและอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค แต่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์กลับมาฟื้นตัวและขยายตัวเป็นบวกได้แม้จะเพียงเล็กน้อยแค่ร้อยละ 0.4 ก็ตาม แต่ผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์ยังมีทัศนคติเชิงบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศและมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์จะสามารถปรับตัวดีขึ้นได้ ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน และผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์มีความเต็มใจและกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ต้องประสบกับปัญหาค่าครองชีพอย่างหนักตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตเงินเฟ้อและวิกฤตราคาพลังงาน ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายและซื้อสินค้าในปริมาณที่มากขึ้นและซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อห่วงโซ่มูลค่าทางธุรกิจ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการขยายตัวของธุรกิจ และนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีและเป็นโอกาสทางการค้าที่ดีต่อสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพของไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคไม่ได้เป็นปัจจัยที่การันตีการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งหมด แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ทางการเมือง สถานการณ์ทางการเงิน อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หลายแห่งและระดับความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที เพื่อที่จะยังคงศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถขยายตลาดและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

thThai