ภาพรวมเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของชิลีประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2567 มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย GDP ปรับตัวจาก 2.3% มาอยู่ที่ 4.5% เพิ่มขึ้นสูงที่สุด ในรอบ 12 เดือน การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากระดับ 44.9 มาอยู่ที่ 46.3 ถึงแม้ว่าการก่อสร้างในภาคเอกชนจะหดตัวลง แต่โครงการก่อสร้างศูนย์บริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้ช่วยพยุงภาคการลงทุนไว้ ตัวเลขการส่งออกปรับระดับเพิ่มขึ้นจาก 3.5% ในเดือนก่อนหน้า เป็น 3.9% ในขณะที่อัตราว่างงานและอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.5% และ 4.5% ตามลำดับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 และ 12 เดือน ในส่วนของรายละเอียดในแต่ละด้านประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สคต. ณ กรุงซันติอาโก ขอสรุปรายละเอียด ดังนี้
1. การบริโภคภาคเอกชน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี)
การบริโภคภาคเอกชนในชิลีในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในภาพรวม มีการปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 12 เดือน มีเพียงหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเท่านั้น ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากระดับ 0.5% มาอยู่ที่ -0.1% โดยสินค้าคงทน (รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน) จาก 6.2% ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.5% โดยหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นที่สุดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันจาก 12.9% ขึ้นมาอยู่ที่ 14.6% ส่วนการจำหน่ายสินค้าในหมวดหมวดยาและเวชภัณฑ์ สินค้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ยังคงระดับเดิมที่ 9.3% และ 4.9% ส่วนหมวดสินค้าอุปโภค และหมวดอาหารมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก -0.9% และ -1.6% มาอยู่ที่ 2.6% และ 1.3% ตามลำดับ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีการปรับระดับลดลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคม 2567 จากเดิมซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.8 มาอยู่ที่ระดับ 43.2
2.การลงทุน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี)
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 บรรยากาศการลงทุนในภาครัฐของชิลี มีทิศทางตรงกันข้ามกับการลงทุนของภาคเอกชน โดยสะท้อนจากตัวเลขการขออนุญาตก่อสร้างในโครงการที่อยู่อาศัย (คิดเป็นตารางเมตร) ลดลงจาก 15.3% ลงมาอยู่ที่ -20.4% การก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรม ลดลงจาก 32.0% มาอยู่ที่ -0.6% ในขณะที่การก่อสร้างของภาครัฐเพิ่มขึ้นจาก 196.6% เป็น 246.7% ส่วนปริมาณการจำหน่ายสินค้าวัสดุและเครื่องมือในหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก -8.9% เป็น -7.1%
สำหรับดัชนีของความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีการปรับเพิ่มขึ้นจากที่ระดับ 44.9 มาอยู่ที่ 46.3 โดยมีการปรับเพิ่มขึ้นในภาคการค้าจาก 50.0 เป็น 52.6 ภาคอุตสหกรรมเหมืองแร่จาก 62.3 เป็น 63.8 ภาคการก่อสร้าง จาก 24.4 เป็น 28.7 มีเพียงภาคการผลิตที่ปรับตัวลงจาก 42.8 มาอยู่ที่ 42.0
3. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี https://si3.bcentral.cl และสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลี https://www.ine.gob.cl)
อัตราการว่างงานของประเทศชิลีในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยอยู่ที่ 8.5% ของจำนวนผู้ใช้แรงงานทั้งหมดในประเทศ หากพิจารณาแยกตามเขตการปกครอง แคว้นที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือ แคว้น อาทาคาม่าที่ 10.0% และแคว้นที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดคือ แคว้น ลอสลาโกส ที่ 3.8%
สภาวะเงินเฟ้อของประเทศชิลีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.5% ทั้งนี้ สินค้า 3 หมวดแรกที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบเดือนนี้ ได้แก่ (1) เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม (2) หมวดคมนาคมและการขนส่ง และ (3) หมวดประกันภัยและบริการทางการเงิน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 2.5% 1.4% และ 1.1% ตามลำดับ
4. การส่งออก-นำเข้า (ข้อมูลจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของชิลี SUBREI – www.subrei.gob.cl)
การส่งออกสินค้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่ารวมที่ 18,052 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่
สินค้า | ม.ค.-ก.พ. (ล้านเหรียญสหรัฐ) | ขยายตัว
(66/67) |
|
ปี 2566 | ปี 2567 | ||
สินแร่ | 8,413 | 8,184 | -2.7% |
ผลไม้ | 2,629 | 3,049 | 13.8% |
เนื้อสัตว์ | 2,059 | 2,186 | 5.8% |
เคมีภัณฑ์ | 2,107 | 1,211 | -42.5% |
ปลาแซลมอน | 1,137 | 1,224 | 7.7% |
เยื่อกระดาษ | 472 | 503 | 6.4% |
การนำเข้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่ารวมที่ 12,581 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -2.2% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่
สินค้า | ม.ค.-ก.พ. (ล้านเหรียญสหรัฐ) | ขยายตัว
(66/67) |
|
ปี 2566 | ปี 2567 | ||
สินค้าหมวดพลังงาน | 7,344 | 7,500 | 2.1% |
สินค้าอุปโภคบริโภค | 3,572 | 3,620 | 1.3% |
สินค้าทุน | 2,831 | 2,365 | -16.4% |
-รถยนต์เชิงพาณิชย์ | 453 | 302 | -33.3% |
-เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมก่อสร้าง | 187 | 131 | -30.0% |
จากการที่ตัวเลขการส่งออกของชิลีสูงกว่าตัวเลขการนำเข้า ทำให้ชิลีได้ดุลการค้า จำนวน 5,471 ล้านเหรียญสหรัฐ
5. การค้าของชิลีกับไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน (ข้อมูลสถิติทางการค้าจาก Global Trade Atlas)
ชิลีนำเข้าสินค้าจากไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มูลค่า 78.94 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง –42.51% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งสินค้าที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- รถยนต์และส่วนประกอบ (25.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -66.50%)
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -30.91%)
- เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (9.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 162.55%)
- ไข่มุก อัญมณีและโลหะมีค่า (7.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.48%)
- พลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก (3.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.71%)
สำหรับตัวเลขการนำเข้าของชิลีจากกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่
- ชิลีนำเข้าจากเวียดนาม 189.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -2.15%)
- ชิลีนำเข้าจากไทย 78.94 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -42.51%)
- ชิลีนำเข้าจากอินโดนีเซีย 64.77 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 31.55%)
- ชิลีนำเข้าจากมาเลเซีย 29.67 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 17.91%)
- ชิลีนำเข้าจากสิงคโปร์ 17.72 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 78.27%)
ชิลีส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มูลค่า 115.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 2.78% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- ทองแดง (57.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.65%)
- เยื่อกระดาษ (17.42 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 95.03%)
- แซลมอนและอาหารทะเล (15.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -25.38%)
- สินแร่อื่น ๆ (9.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -44.38%)
- ผลไม้และผลิตภัณฑ์ธัญพืช (7.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -17.69%)
สำหรับตัวเลขการส่งออกของชิลีไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่–
- ชิลีส่งออกไปยังฟิลิปินส์ 147.08 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 1,782.57%)
- ชิลีส่งออกไปยังไทย 115.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 2.78%)
- ชิลีส่งออกไปยังเวียดนาม 53.94 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -32.60%)
- ชิลีส่งออกไปยังมาเลเซีย 51.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 18.91%)
- ชิลีส่งออกไปยังสิงคโปร์ 48.57 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 297.22%)
มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-ชิลี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 194.72 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -22.10%) โดยชิลีส่งออกสินค้าไปยังไทยมากกว่านำเข้าจากไทย จึงทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าที่ 36.84 ล้านเหรียญสหรัฐ
__________________________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
เมษายน 2567