ความร่วมมือระหว่างชิลีกับสหรัฐอเมริกาเพื่อพลักดันอุตสาหกรรมลิเทียม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของชิลี (นาย Nicolas Grau) ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวด้านเศรษฐกิจ Bloomberg เกี่ยวกับผลการเจรจากับฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ในการพิจารณาสนับสนุนสินค้าลิเทียมของชิลี โดยสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญของสินค้าที่จะได้รับการสนับสนุนประกอบด้วย (1) มีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับสหรัฐอเมริกา[1] และ (2) มีการผลิตหรือใช้วัตถุดิบจากสหรัฐอเมริกา หรือประเทศคู่ค้าที่สหรัฐอเมริกาเชื่อถือได้ (Trusted Country) ในสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ซึ่งชิลีเป็น 1 ในประเทศคู่ค้าเพียง 20 ประเทศที่มีความตกลงทางการค้าดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ จากบริษัทของสหรัฐอเมริกาเข้ามายังชิลี  และยังช่วยสานต่อนโยบายลิเทียมระดับชาติของชิลี[2]ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลชิลีมีแผนในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ เพื่อขยายพื้นที่การทำเหมืองลิเทียม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ลงทุนในโรงงานแปรรูปลิเทียมให้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ โดยนาย Nicolas Grau ได้กล่าวเสริมว่ากฎหมายของทั้ง 2 ประเทศเอื้ออำนวยและเปิดโอกาสให้กับโครงการนี้ รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงประเทศทั้ง 2 ไปสู่พลังงานสะอาด[3]

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา (นาง Janet Yellen) ได้เยือนชิลีเพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีเกเบรียล บอริก และรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ โดยหารือประเด็นหารือหลักเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ที่จะสร้างโอกาสการลงทุนทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงปี 2593[4] และประกาศว่าสหรัฐอเมริกามีแผนจะเพิ่มการนำเข้าลิเทียมจากชิลี โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจากหลายประเทศ รวมทั้งจากสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมประชุมหารือกับรัฐบาลชิลีเกี่ยวกับสินค้าลิเทียม ได้แก่ LG Energy Solution Ltd. (บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) บริษัท Tesla Inc. ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Car) รายใหญ่ของโลก โดยทั้งสองบริษัทได้เดินทางมายังชิลี เพื่อเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปลิเทียม เมื่อเดือนมีนาคม 2567 โดยบริษัท LG ได้เริ่มดำเนินการนำเข้าสินค้าลิเทียมจากชิลีตั้งแต่ปี 2566 ส่วนบริษัท Tesla จะเริ่มการนำเข้าลิเทียมจากชิลีภายในปีนี้

 

จากการวิเคราะห์และการคาดการณ์ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพ็นซิเวเนีย[1] ของสหรัฐอเมริกา พบว่าความต้องการสินค้าลิเทียมยังคงเป็นไปในทิศทางบวก เนื่องจากปัจจัยสนับสนุน เช่น การกำหนดนโยบายด้านพลังงานสะอาดของประเทศต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพลังงานสะอาด สนับสนุนผลักดันภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถ EV และแบตเตอรี่ สร้างแรงจูงใจทางการเงิน อาทิ การอนุมัติสินเชื่อ การให้เงินสนับสนุน การให้เครดิตภาษี ต่อผู้ผลิตที่ปรับธุรกิจมาใช้พลังงานสะอาด และกระตุ้นการบริโภค อาทิ มอบเงินอุดหนุนจากการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ และมอบเครดิตภาษีสูงถึง 7,500 เหรียญสหรัฐ สำหรับผู้ซื้อรถยนต์ EV โดยยังมีงบประมาณสำรองอีกกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ[2] ที่จะถูกจัดสรรให้กับอุตสาหกรรมที่ผลิตพลังงานสะอาดต่าง ๆ ได้แก่ กังหันลม โซล่าเซลล์ รวมทั้งการแปรรูปแร่ธาตุที่จำเป็นในการผลิตแบตเตอรี่รถ EV ในขณะที่ชิลีกำหนดเป้าหมายการจำหน่ายรถยนต์ EV ให้ได้ถึงร้อยละ 100 ภายในปี 2578 และการเป็นผู้นำด้านโครงการไฮโดรเจนสีเขียวในภูมิภาคลาตินอเมริกา ทั้งนี้ชิลีเป็นประเทศที่มีศักยภาพและทรัพยากรจำนวนมากในการสร้างแรงดึงดูดการลงทุนจากประเทศต่าง ๆ

จากผลการสำรวจล่าสุดของหน่วยงานธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ในปี 2566 พบว่าประเทศชิลีเป็นประเทศที่มีปริมาณทรัพยากรลิเทียมสำรองมากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยมีปริมาณกว่า 9.3 ล้านตัน[3] หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 ของปริมาณสำรองลิเทียมทั่วโลกที่มีอยู่ประมาณ 26 ล้านตัน รองลงไปคือ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา จีน และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ  ในขณะที่ประเทศที่ผลิตลิเทียมได้มากที่สุด 3 อันดับแรกในปี 2566 ได้แก่ ออสเตรเลียที่ 86,000[4] ตัน ชิลี 44,000 ตัน และ จีน 33,000 ตัน ตามลำดับ

 

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

ลิเทียม (Lithium) เป็นธาตุในกลุ่มโลหะอัลคาไล มีสีเงิน ลักษณะอ่อนนุ่ม และมีน้ำหนักเบาที่สุดในบรรดาโลหะทั้งหมด เนื่องจากความไวต่อการเกิดปฎิกิริยาทางเคมี จึงพบได้ตามธรรมชาติในรูปของสารประกอบเท่านั้น ส่วนใหญ่จะพบได้ในแถบทะเลสาบน้ำเค็มในรูปแบบน้ำเกลือ (Brine) และหินแร่ (Hard Rock) ซึ่งลิเทียมเป็นโลหะเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถรับและปล่อยพลังงานไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโลหะแบตเตอรี่ โดยนิยมนำไปใช้อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน รวมทั้ง การผลิตเซรามิก และ กระจกทนความร้อนสูง (ที่ใช้ในการผลิตเตาไฟฟ้าแบบไร้เปลวไฟ) นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่ใช้งานเฉพาะทาง โดยลิเทียมสามารถช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในยานอวกาศ และเรือดำน้ำได้

จากวิวัฒนาการและการเติบโตของเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ลิเทียม จึงเป็นทรัพยากรสำคัญในอนาคต ที่มีความต้องการเป็นอย่างมากของตลาดโลกในปัจจุบัน โดยกว่าร้อยละ 80[1] ของปริมาณการผลิตลิเทียมทั้งหมด ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ การที่ชิลีมีทรัพยากรลิเทียมปริมาณมหาศาล ประกอบกับกฎหมาย และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ประเทศชิลีจัดอยู่ในประเทศแนวหน้าที่เหมาะต่อการลงทุนด้านพลังงานสะอาด และในส่วนของมาตรการกระตุ้นการบริโภคพลังงานสะอาดของสหรัฐอเมริกา จะส่งผลดีต่อทั้งภาคการผลิต การลงทุน และการส่งออกลิเทียมของชิลี โดยสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มการนำเข้าลิเทียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถ EV โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ชิลีส่งออกลิเทียมไปยังประเทศต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,471 ล้านเหรียญสหรัฐ[2] เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 765 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการที่ชิลีมีความตกลงทางการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา นอกจากจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการเข้าถึงตลาดสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ทั้งนี้ หากสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มใช้มาตรการลักษณะนี้ต่อไป โอกาสทางการค้าในสินค้าบางประเภทจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อตกลงทางการค้าเฉพาะกับประเทศที่มี FTA กับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ในส่วนของประเทศไทย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.)[1] กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานผลการสำรวจพบว่าไทยมีแหล่งแร่ลิเทียมในพื้นที่จังหวัดพังงาประมาณ 164,500 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.63 ของปริมาณลิเทียมที่สำรวจพบทั้งโลกในขณะนี้ ซึ่งแร่ลิเทียมของไทยอยู่ในรูปของหินแร่ มีขั้นตอนสกัดที่ซับซ้อนและต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการสกัดแบบน้ำเกลือ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตลิเทียมรายสำคัญ แต่ไทยอาจได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการที่ชิลีเพิ่มกำลังการผลิต อันจะส่งผลดีต่อการนำเข้าวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับการทำเหมือง เช่น รถบรรทุกและส่วนประกอบ (พิกัดศุลกากรที่ 87) เครื่องจักรกล (พิกัดศุลกากรที่ 84) เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า (พิกัดศุลกากรที่ 85) เป็นต้น ซึ่งการส่งออกสินค้าดังกล่าวยังเป็นสินค้า 3 อันดับแรกที่ชิลีนำเข้าจากไทยในไตรมาสแรกของปี 2567 ปัจจุบันชิลีถือเป็นประเทศคู่ค้าและผู้นำเข้าสินค้าของไทยในอันดับที่ 44 ในปี 2566 โดยการนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่ารวมกว่า 835 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 29,252 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าลิเทียมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและชิลี หากผู้ประกอบการไทยต้องการนำเข้าลิเทียมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thaitrade@ttcsantiago.cl

________________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

เมษายน 2567

 

[1] https://www.dpim.go.th/

[1] Lithium facts (canada.ca)

[2] https://connect.ihsmarkit.com/gta/standard-reports/

[1] https://www.emol.com/noticias/Economia/2024/03/15/1124894/chile-apuesta-subsidios-eeuu-litio.html

[2] https://thestandard.co/inflation-reduction-act/

[3] https://www.statista.com/statistics/268790/countries-with-the-largest-lithium-reserves-worldwide/

[4] https://www.statista.com/statistics/268789/countries-with-the-largest-production-output-of-lithium/

[1] (bangkokbiznews.com)

[2] https://www.reuters.com/markets/commodities/chiles-boric-announces-plan-nationalize-lithium-industry-2023-04-21/

[3] Chile avanza con litio – Gob.cl (www.gob.cl)

[4] https://www.voanews.com/a/yellen-visits-us-lithium-site-in-chile-eyes-green-transition-progress-/7511346.html

thThai