สิงคโปร์อนุมัติการบริโภคเนื้อนกกระทาเพาะเลี้ยง

สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) ได้อนุมัติกฎระเบียบให้บริษัทโปรตีนทางเลือกออสเตรเลีย Vow สามารถจำหน่ายเนื้อนกกระทาเพาะเลี้ยงแบรนด์ Forged ได้ในสิงคโปร์ โดยบริษัท Vow เป็นบริษัทที่สองที่ได้รับการอนุมัติจำหน่ายสินค้าดังกล่าว

นาย George Peppou ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Vow กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้น บริษัทได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่แหวกแนวมากขึ้น เพื่อที่จะไม่ต้องแข่งขันด้านรสชาติกับเนื้อสัตว์จริง โดยปกติ คนทั่วไปพอที่จะรู้รสชาติของเนื้อนกกระทา แต่ไม่ได้รู้ถึงรสชาติที่ชัดเจนเหมือนกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น ไก่ หมู หรือเนื้อวัว ทั้งนี้ บริษัทได้รับการอนุมัติจาก SFA สำหรับการขายเนื้อนกกระทาเพาะเลี้ยงเป็นส่วนผสมในอาหาร โดยกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 15 เดือน นอกจากนี้ ใบอนุญาตดังกล่าวให้ความยืดหยุ่นแก่บริษัทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อนกกระทาเพาะเลี้ยงทุกประเภท รวมถึงเนื้อชิ้นขนาด Whole Cuts โดยไม่ต้องขออนุมัติเพิ่มเติม

กระบวนการผลิตเนื้อนกกระทาเพาะเลี้ยงเริ่มจากการที่นักวิทยาศาสตร์นำเซลล์เล็ก ๆ จากนกกระทาสายพันธุ์ญี่ปุ่น มาระบุและแยกเซลล์ที่อาจส่งผลต่อรสชาติและเนื้อสัมผัส จากนั้นเซลล์เหล่านี้จะถูกย้ายไปยังถังปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor) ซึ่งเป็นถังสแตนเลสที่คล้ายกับที่พบในโรงเบียร์ เพื่อช่วยสร้างสภาวะการเจริญเติบโตตามธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับเซลล์
นกกระทาในการเพิ่มจำนวน

บริษัท Vow กำลังมองหาสถานที่สำหรับโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังผลิตและยังคงขยายการดำเนินงานต่อไป ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางแรงกดดันในการลดต้นทุน อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น บริษัท Upside Foods ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสองบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ขายไก่เพาะเลี้ยงในสหรัฐฯ ได้ระงับแผนการสร้างโรงงานสำหรับการผลิตขนาดใหญ่ไว้ชั่วคราว บริษัทสตาร์ทอัพอาหารทะเลเพาะเลี้ยงสองแห่งในสิงคโปร์ Shiok Meats และบริษัท Umami Bioworks (เดิมชื่อบริษัท Umami Meats) ได้ประกาศการควบรวมกิจการในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อเร่งการอนุมัติตามกฎระเบียบและการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด หรือโรงงานการผลิตไก่เพาะเลี้ยงในสิงคโปร์ของบริษัท Eat Just ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเซลล์ที่ได้รับการอนุมัติแห่งแรกของโลกในสิงคโปร์ก็ยังสร้างไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ภายในไตรมาสที่สามของปี 2566

บริษัท Vow ได้ระดมทุนไปประมาณ 49.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับบริษัท Upside Foods ที่ระดมทุนประมาณ 608 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Temasek และบริษัท Eat Just ที่ 850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

บริษัท Vow เป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการผลิต “ลูกชิ้นแมมมอธ” ซึ่งเปิดตัวที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Nemo ในประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อเดือนเมษายน 2566 ซึ่งสร้างขึ้นโดยใช้ DNA ของแมมมอธขนยาวที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยลูกชิ้นมีขนาดระหว่างลูกซอฟต์บอลกับลูกวอลเลย์ โดยเกิดจากการเพาะเลี้ยงเซลล์มากกว่า 4 หมื่นล้านเซลล์ แต่ไม่เหมาะสำหรับการบริโภค ทั้งนี้ บริษัทต้องการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของวิทยาศาสตร์ในการนำสัตว์ที่สูญพันธุ์กลับมา และเพื่อส่งเสริมรูปแบบใหม่ของการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านเนื้อสัตว์ที่เพาะปลูก

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

          รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารมาเป็นเวลานาน ผ่านนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตในประเทศ รวมถึงความพยายามมองหาแหล่งอาหารที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและโปรตีนทางเลือกมากขึ้น ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์พยายามผลักดันนโยบายต่างๆ ในการดึงดูดนักลงทุน หรือกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพสิงคโปร์ในการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตอาหารในอนาคต

ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเพื่ออนาคต (Future Foods) ที่ต้องมีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาสร้างจุดแข็ง รวมทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบในด้านวัตถุดิบจากการมีผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ และความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นรสชาติอาหาร ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่อยากขยายตลาดสินค้ากลุ่มนี้มายังสิงคโปร์ ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจตลาดสิงคโปร์ควรศึกษาวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์[1] ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต การแปรรูป เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

[1] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ – https://www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.straitstimes.com/singapore/s-pore-approves-lab-grown-quail-for-consumption-here

thThai