ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากฝนตกหนักและอากาศแปรปรวนรุนแรง ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

ปริมาณน้ำฝนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยเฉพาะรัฐดูไบ ได้ทิ้งร่องรอยแห่งความเสียหาย ซึ่งรัฐดูไบที่ปกติจะมีสภาพอากาศเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆในยูเออี มีสภาพอากาศร้อนและแห้ง แบบทะเลทราย จึงมีฝนตกไม่บ่อยนัก ทำให้ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเพื่อรองรับเหตุการณ์ฝนตกที่รุนแรง นอกเหนือจากน้ำท่วมถนนและบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย แต่ยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจปรากฏให้เห็น โดยมีสัญญาณเริ่มแรกการหยุดชะงักในหลายภาคส่วน ซึ่งอาจเป็นการทดสอบความสามารถในการซ่อมแซมและฟื้นฟูของประเทศ

การท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจดูไบมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ ภาพของเมืองที่ถูกน้ำท่วมอาจลดทอนภาพลักษณ์ของเมืองที่หรูหรา กับการก่อสร้างที่ออกแบบมาอย่างดี การหยุดชะงักของสนามบินนานาชาติดูไบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ อาจจะสะดุดความตั้งใจของนักท่องเที่ยว/ผู้ที่ต้องการมาเยือน ทำให้เกิดปัญหาด้านโลจิสติกส์ การจองที่พัก ผลกระทบระยะยาวนั้นขึ้นอยู่กับความพยายามในการฟื้นฟูด้วยความรวดเร็ว ประสิทธิภาพของรัฐบาลดูไบในการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่าภาวะปกติได้กลับมาแล้ว

ความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน และระบบการขนส่งสาธารณะ จำเป็นต้องมีการลงทุนซ่อมแซมด้วยเงินจำนวนมาก แม้ว่ายูเออีจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ล้ำสมัย แต่ปริมาณฝนจำนวนมากอาจทำให้เกิดช่องโหว่ในระบบระบายน้ำที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงเช่นนี้ การซ่อมแซมและฟื้นฟูจะมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจต้องใช้งบประมาณของโครงการพัฒนาอื่นๆมาใช้เพื่อการนี้

บริษัทประกันภัยกำลังเผชิญกับการเรียกร้องสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้น บ้านและธุรกิจที่ถูกน้ำท่วม      มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การจ่ายเงินจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัท ส่งผลให้เบี้ยประกันเพิ่มขึ้นในอนาคต ก่อให้เกิดภาระแก่ทั้งผู้ที่มีการทำประกันภัยส่วนบุคคลและภาคธุรกิจ

ภาคการก่อสร้างซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจยูเออี อาจเผชิญกับความถดถอยชั่วคราว การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเนื่องจากถนนและเครือข่ายการคมนาคมเสียหาย อาจทำให้โครงการที่กำลังดำเนินอยู่ล่าช้า นอกจากนี้ ต้นทุนการประกันภัยสำหรับโครงการก่อสร้างที่อาจเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ผลกระทบต่อภาคการค้าปลีกนั้นยากต่อการคาดเดา แม้ว่าบางธุรกิจอาจได้รับความเสียหาย   ต่อทรัพย์สินและสินค้าคงคลังเสีย/สูญหาย แต่บางธุรกิจอาจพบว่ามีความต้องการสินค้าจำเป็นเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์กันน้ำและอุปกรณ์ทำความสะอาด ผลกระทบโดยรวมน่าจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการหยุดชะงักและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภายหลัง

ต้นทุนของมนุษย์แม้จะไม่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ก็สมควรได้รับการกล่าวถึง ประชาชนผู้ประสบภัยและภาคธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย อาจส่งผลกระเพื่อมกระทบเศรษฐกิจ การสูญเสียค่าจ้างและผลผลิต อาจทำให้เกิดความตึงเครียดชั่วคราว  จึงมีความจำเป็นในการช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลยูเออีมีประวัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติอย่างจริงจัง ประสบการณ์นี้มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากฝนตกเมื่อเร็วๆ นี้ การเร่งซ่อมแซม การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และการรับประกันการท่องเที่ยว จะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาวให้น้อยที่สุด

เมื่อพิจารณาหลังจากการฟื้นตัว ยูเออีอาจจำเป็นต้องประเมินความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานอีกครั้งเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนในระบบระบายน้ำ แนวกั้นน้ำท่วม และระบบเตือนภัยล่วงหน้าอาจมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในอนาคต

ฝนตกหนักและน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้กับรัฐบาลยูเออี ว่าการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศน่าจะป้องกันวิกฤตครั้งนี้ได้ แต่ก็เป็นการเตือนว่าแม้แต่เศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ที่สุดก็ยังไม่รอดพ้นจากพลังทำลายล้างจากธรรมชาติได้ จุดสำคัญในตอนนี้ที่ต้องให้ความสำคัญอยู่ที่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การประเมินช่องโหว่ และการสร้างอนาคตที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

สรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ (สคต. ณ เมืองดูไบ) ขอสรุปสถานการณ์และผลกระทบจากเหตุพายุฝนตกหนัก ดังนี้

  • ฝนได้เริ่มตกเป็นระยะในช่วงกลางดึกและเช้าของวันอังคารที่ 16 เมษายน 2567 และเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุฝน ทำให้ฝนตกหนักขึ้น มีปริมาณน้ำฝนรวมมากกว่า 142 มิลลิเมตร (59 นิ้ว) โดยเทียบได้เป็นปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งหนึ่งปีครึ่งของยูเออี ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมครั้งที่หนักที่สุด บ้านเรือน อาคารสถานที่ รวมไปถึงเส้นทางสัญจร ถนน ทางด่วน ทั้งสายหลัก/สายรอง ถูกน้ำท่วม ขนส่งสาธารณะทั้งรถประจำทาง รถไฟฟ้า ต้องหยุดให้บริการ และมีรถยนต์ที่ต้องถูกจอดทิ้งตามท้องถนนทั่วไป ขณะที่ทางการรัฐดูไบ ได้ส่งรถออกไปเพื่อเร่งสูบน้ำออกจากถนน รวมถึงเขตพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ หน่วยงานราชการได้ประกาศให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงธนาคารและบริษัทเอกชนต่างๆ ส่วนโรงเรียนรัฐบาลทั้งหมดให้มีการเรียนการสอนผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน
  • สำนักงานสื่อของรัฐบาลยูเออี (WAM) ได้โพสต์ในบัญชีเอ็กซ์ (X) ว่า ฝนตกหนักฝนครั้งนี้    เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่ “ผิดปกติ” มิใช่จากสาเหตุการทำฝนเทียม  (Cloud Seeding) และเมื่อวันพุธที่ 17 เมษายน 2567 ฝนได้หยุดตก และท้องฟ้ากลับมาแจ่มใส แต่ได้ทิ้งสภาพความเสียหาย และน้ำขังรอการระบายไว้ในหลายพื้นที่ ยังมีรถยนต์ที่จอดจมน้ำทิ้งไว้บนถนนบางสายและสถานที่จอดรถทั่วไป ขนส่งสาธารณะต่างๆ ยังหยุดให้บริการ

ผลกระทบด้านการขนส่งและเศรษฐกิจการค้า

  • สนามบินนานาชาติดูไบ ซึ่งเป็นสนามบินพลุกพล่านที่สุดสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศของหลายสายการบินทั้งในภูมิภาคและของโลก รวมถึงยังเป็นศูนย์กลางเส้นทางระยะไกลของสายการบินเอมิเรตส์ ได้ประสบกับ “การหยุดชะงักครั้งใหญ่” หลังจากสนามบินเผชิญกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่ 7 มิลลิเมตร (3.73 นิ้ว)
  • สายการบินเอมิเรตส์ ต้องระงับการเช็คอินสำหรับผู้โดยสารที่มีเที่ยวบินเดินทางออกจากสนามบินนานาชาติดูไบตั้งแต่เวลา 000 น. ของวันพุธที่ 17 เมษายน 2567 จนถึงเที่ยงคืน เนื่องจากปัญหาในการปฏิบัติงานที่เกิดจากสภาพอากาศและสภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในส่วนรับผิดชอบงานต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เที่ยวบินราว 1,244 เที่ยวถูกยกเลิก และ 61 เที่ยวบินต้องเปลี่ยนเส้นทางตั้งแต่วันอังคารถึงวันพฤหัส
  • สายการบินขนส่งสินค้า (Cargo Air) และทางท่าเรือ (Sea Port) ยังไม่สามารถขนถ่ายสินค้า ได้ตามระยะเวลาปกติได้ ทั้งนี้ ในบางสายการบิน เช่น เอทิฮัดแอร์เวย์ ได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินขนส่งทุกเส้นทาง  ที่ขนสินค้าต่อเข้าสนามบินนานาชาติดูไบ เนื่องจากกระบวนการตรวจปล่อยสินค้ายังทำไม่สามารถดำเนินการได้
  • จากการประสานสอบถามผู้นำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากไทย พบว่าได้รับผลกระทบว่าไม่สามารถจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้ารายต่างๆ ได้ เนื่องจากถนนปิดและน้ำท่วม สินค้าของสดอาจเน่าเสียได้ ร้านค้าไม่มีสินค้าจำหน่าย ในส่วนของสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ในระยะสั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีสต็อคสินค้าอยู่ที่คลังสินค้า (Warehouse) แต่ผลกระทบที่ชัดเจนของผู้นำเข้าสินค้าไทยประเภทต่างๆ ขณะนี้คือ มีน้ำท่วมคลังสินค้า และ/หรือบริเวณโดยรอบ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ต้องปิดการทำงานอย่างน้อย 2 – 3 วัน และอาจจะยังไม่ได้ทราบถึงความเสียหายที่แท้จริงของสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้า
  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และงานแสดงสินค้าต่างๆ รวมถึงการประชุมสำคัญที่มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ ได้ถูกระงับทั้งหมด ในขณะที่ธนาคารต่างๆ ได้หยุดทำการเป็นเวลา 2 วัน ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ทางการเงินได้ ต่อมาได้ประกาศเปิดให้บริการตามปกติในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567

สถานการณ์ล่าสุด

  • การจราจรยังคงติดขัดรุนแรง โดยถนนสายหลักบางสายถูกน้ำปิดกั้นทั้งหมด และทางแยกหลายแห่งถูกตัดขาดจากน้ำท่วม แต่ในหลายพื้นที่น้ำขังรอระบายเริ่มลดลง สามารถเดินทางสัญจร เริ่มขนส่งสินค้าได้ปกติ แต่ยังเดินทางไปไม่ได้ในทุกพื้นที่ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางหน่วยงานหน่วยกู้ภัยและสำนักเทศบาลในทุกเขตได้เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด
  • สนามบินนานาชาติดูไบสามารถบริหารจัดการเที่ยวบินขึ้น-ลงได้บางเที่ยวบิน เนื่องจากเป็นสนามบินที่ได้รับความเสียหายสูงสุด ขณะนี้ไม่สามารถให้บริการต่างๆได้ปกติ แต่คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติในสัปดาห์หน้า และเมื่อวันที่ 19 เมษายน สนามบินนานาชาติ ณ กรุงอาบูดาบีและรัฐชาร์จาห์  ประกาศคืนสู่ภาวะปกติ
  • บริษัทเอกชน ร้านค้าเปิดทำงานได้ตามปกติ โรงเรียนยังขยายเวลาการเรียนการสอนผ่านทางระบบออนไลน์จนถึงวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567
  • ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในรัฐสุลต่านโอมานซึ่งมีพื้นที่ติดกับยูเออี ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 20 รายแล้ว นับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา

 

—————————————————————————

 

thThai