สินค้าเครื่องปรุงและซอสปรุงรสในสิงคโปร์

  1. ภาพรวมตลาดสินค้าเครื่องปรุงและซอสปรุงรสในสิงคโปร์ปี 2566

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่าการขายสินค้าเครื่องปรุงและซอสปรุงรสในสิงคโปร์ในปี 2566 อยู่ที่ 154.9 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 4.2% (YoY) โดยประกอบไปด้วยสินค้าซอสปรุงรส 100.9 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 5.2% (YoY)  สินค้าเครื่องปรุงรสต่างๆ อยู่ที่ 24.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 4.9% (YoY)  และกลุ่มผักดองอยู่ที่ 20.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ลดลง -0.9% (YoY)

สินค้าเครื่องปรุงและซอสปรุงรสในสิงคโปร์

  • ผู้ซื้อยังคงมองหาความสะดวกสบายในการปรุงอาหาร เพื่อช่วยประหยัดเงินและเวลา

ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มองหาวิธีการประหยัดเวลาในการปรุงอาหาร โดยเฉพาะเมนูที่ซับซ้อน ใช้เวลานาน หรือไม่มีทักษะการทำอาหาร ดังนั้น ซอสปรุงรสสำเร็จรูปจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสิงคโปร์ เนื่องจากผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อและจัดการกับซอสและเครื่องปรุงรสต่างๆ และทำให้การปรุงอาหารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และยังช่วยลดเวลาในการทำเมนูที่ซับซ้อนต่างๆ เช่น แบรนด์ Lee Kum Kee ได้ออกซอสฮอตพอทไก่หม่าล่า และปลาต้มผักกาดดองในเดือนกันยายน 2566 แบรนด์ Prime Taste ได้ออกซอสปรุงสำเร็จอาหารสิงคโปร์อย่างผัดหมี่ฮกเกี้ยน แกงกะหรี่หัวปลา นอกจากนี้ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในสิงคโปร์ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาวิธีการทำอาหารแบบร้านอาหารที่บ้าน เพื่อเป็นการประหยัดเงิน จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตที่สามารถรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเข้ามาในตลาดเพื่อยกประสบการณ์การทำอาหารและรสชาติแก่ผู้บริโภค และทำให้ตลาดสินค้ากลุ่มนี้ยังมีโอกาสโตเพิ่มขึ้นอีก

  • ความสนใจในสุขภาพก่อให้เกิดความหลากหลายในผลิตภัณฑ์มากขึ้น

ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น  ผู้บริโภคจึงมองหาสินค้าที่ดีต่อสุขภาพอย่างเช่น ซอสที่มีปริมาณไขมันต่ำ เกลือ/น้ำตาลลดลง  ผู้ผลิตต่างผลิตสินค้าที่มาตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ เช่น
มายองเนสไขมันต่ำ ของแบรนด์ Hellman ซอสมะเขือเทศสูตรไม่ใส่น้ำตาลของแบรนด์ Heinz
แบรนด์ขั้นนำอย่าง Lee Kum Kee ได้ออกสินค้ากลุ่มลดปริมาณเกลือ หรือแบรนด์อย่าง Tai hua, Lee Kum Kee และ Kikkoman ได้ออกสินค้าลดปริมาณน้ำตาล แต่สินค้าเหล่านี้กลับหาได้ยากในซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อเทียบกับสินค้าปกติ แนวโน้มดังกล่าวอาจจะขัดแย้งกับความสนใจในการดูแลสุขภาพ เพราะจะต้องใช้ในปริมาณที่มากขึ้น ถึงจะได้รสชาติที่เท่าเดิม ดังนั้น แบรนด์อาจจะต้องลงทุนในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการรับรู้ในเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับซอสที่มีปริมาณโซเดี่ยมต่ำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพต่อไป

 

  • นวัตกรรมด้านรสชาติในกลุ่มสินค้าซอสพริก

ชาวสิงคโปร์ยังมีความชื่นชอบรสชาติเผ็ด โดยจะเห็นได้จากซอสพริกที่หลากหลายในสิงคโปร์ ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย และอาหารนานาชาติ เช่น ซอสพริกหม่าล่าจากจีน โคซูจังจากเกาหลี หรือซอสทาบาสโกในอาหารตะวันตก ความต้องการซื้อซอสพริกในสิงคโปร์มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในตลาด เนื่องจากชาวสิงคโปร์มีความชื่นชอบความเผ็ดที่หลากหลาย ตั้งแต่เผ็ดร้อนจนชา หรือหวานอมเปรี้ยว ส่งผลให้หลายๆ แบรนด์ได้นำเสนอซอสพริกแบบต่างๆ ในตลาดสิงคโปร์มากขึ้น เช่น แบรนด์ Lee Kum Kee ได้เปิดตัวซอสหม่าล่า XO และ Cumin Chicken Sauce ในเดือนพฤษภาคม 2566 หรือแบรนด์ Borneo Hot Sauce ผู้ผลิตซอสพริก Sabasco Sabah Chili ที่ทำจากพริกมาเลเซีย (Momporok Chili) ได้เปิดตัวสินค้าใหม่อย่าง Ripe Red, First Harvest Green, Sweet Chili Sauce และ Classic Extra Spicy ในสิงคโปร์

สินค้าเครื่องปรุงและซอสปรุงรสในสิงคโปร์

  1. โอกาสทางการตลาดของสินค้าเครื่องปรุงและซอสปรุงรสในสิงคโปร์
  • ปริมาณค้าปลีกสินค้ากลุ่มซอส น้ำจิ้ม และเครื่องปรุงรสต่างๆ ยังคงเติบโตในปี 2566 โดยได้รับแรงส่งจากพฤติกรรมการปรุงอาหารในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับแรงกดดันในค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาอาหารในสถานบริการด้านอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น และภาษีสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมในการซื้อสินค้า เช่น การเลือกซื้อสินค้าในกลุ่ม Private Label ของซูเปอร์มาร์เก็ต แทน หรือเลือกซื้อขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการซื้อ

ในขณะที่ หลายๆ แบรนด์ราคาเพิ่มสูงขึ้น ผู้ผลิต Private Label ต่างพยายามรักษาราคาไว้ ในขณะเดียวกันยังคงปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ โดยคาดว่า กลุ่มลูกค้าจะเปลี่ยนมาซื้อสินค้าในราคาที่เหมาะสม เช่น ซอสหอยนางรมแบรนด์ Golden Chef ของซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ได้ออกสินค้าซอยหอยเชลล์แห้ง ราคาขายปลีกอยู่ที่ 7.30 เหรียญสิงคโปร์ ในปริมาณ 510 มิลลิลิตร ในขณะที่
แบรนด์ Lee Kum Kee ปริมาณเท่ากันแต่ราคาขายอยู่ที่ 8.05 เหรียญสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริโภคได้มีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป เช่น ผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วขาว เป็นสินค้าที่มีความหลากหลาย และมีความแตกต่างด้านคุณภาพในเชิงความล้ำลึกของรสชาติ ผู้บริโภคอาจจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่อาจจะพรีเมี่ยมน้อยกว่า แต่จะยังคงซื้อแบรนด์ที่ชื่นชอบมาเป็นเวลานาน อย่างแบรนด์ Tai Hua และ Lee Kum Kee เนื่องจากการรับรู้ในมาตรฐานการผลิตขั้นสูงของแบรนด์เหล่านี้

  • ผู้บริโภคชื่นชอบการมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

ชาวสิงคโปร์มันถูกดึงดูดด้วยนวัตกรรมรสชาติใหม่ๆ และพยายามเพิ่มรสชาติใหม่ๆ ไปในมื้ออาหาร ดังนั้นร้านค้าปลีกจึงได้นำเสนอแบรนด์ต่างชาติมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ได้นำแบรนด์ Moredough Kitchens จากออสเตรเลีย และแบรนด์สวีเดน Santa Maria เข้ามาวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมที่จำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์อย่างเดียว ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากแบรนด์ที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถตอบสนองความชื่นชอบที่แตกต่างกันได้ ในขณะเดียวกัน ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากจะทดลองแบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดมากขึ้นอีกด้วย

ในปี 2565 เป็นปีที่มีสินค้าใหม่ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมด้านรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติจากวัตถุดิบในท้องถิ่น และตัวเลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างร้านค้าปลีกกับสถานบริการด้านอาหาร แต่ในปี 2566 เป็นปีที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจ จากอัตราเงินเฟ้อที่สูง ท่ามกลางต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น ส่งผลให้หลายๆ บริษัทอาจจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ น้อยลง และมุ่งเน้นที่จะสินค้าหลักของบริษัท เนื่องจากผู้บริโภคส่วนมากจะจัดลำดับให้ความสำคัญในการใช้จ่ายกับของที่จำเป็นมากกว่า

  • การเพิ่มรสชาติแบบเกาหลีในสถานบริการด้านอาหารต่างๆ มากขึ้น

ความนิยมในอาหารเกาหลีในสิงคโปร์อย่างต่อเนื่องนำไปสู่สถานบริการอาหารต่างๆ ที่ไม่ใช่ร้านอาหารเกาหลีเริ่มขายเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของอาหารเกาหลี เช่น กิมจิ ซึ่งเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ และโปรไบโอติกที่ช่วยในการทำงานของลำไส้ ประกอบกับรสชาติเผ็ด และเปรี้ยวในหลายรูปแบบ ร้านอาหาร The Soup spoon ได้เพิ่มกิมจิสัปปะรดเป็นท้อปปิ้งในเมนูสลัดของทางร้าน ร้าน Haakon ได้เปิดตัวเมนูสลัดกุ้งกิมจิ และโซบะกิมจิกุ้ง โดยมีส่วนผสมของกิมจิ และมายองเนสโกชูจัง นอกจากนี้ ร้าน McDonalds สิงคโปร์ยังได้ออกเมนูเบอร์เกอร์ไก่ซอสเผ็ดเกาหลี และเบอร์เกอร์เนื้อกิมจิ ในบรรจุภัณฑ์ BT21 (ตัวการ์ตูนจากวง BTS)  หรือซอสโคชูจังที่มักใช้ในอาหารเกาหลี ได้ถูกนำมาใช้ในสถานบริการอาหารต่างๆ มากขึ้น เช่น ร้าน Daily Cut ได้เพิ่มมะเขือม่วงเคลือบซอสโคชูจังเป็นอีกตัวเลือกในเมนูสลัด สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการรสชาติในแบบเกาหลีได้เพิ่มขึ้นในสิงคโปร์ และชาวสิงคโปร์มีความเต็มใจที่จะลองซอสหรือเครื่องปรุงรสใหม่ๆ ของเกาหลีเพิ่มมากขึ้น

 

 

  1. แบรนด์เครื่องปรุงและซอสปรุงรสในสิงคโปร์

ในปี 2566 แบรนด์ Lee Kum Kee มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 8.3% ตามมาด้วยแบรนด์ Chongga อยู่ที่ 5.4% แบรนด์ Won Hup และ Knorr อยู่ที่ประมาณ 4.8% แบรนด์ Tai Hua และ Maggi อยู่ที่ประมาณ 4.5% และแบรนด์ Bibigo และ Heinz อยู่ที่ประมาณ 3%

 

  1. มาตรการลดปริมาณโซเดียมในสิงคโปร์

คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพในสิงคโปร์ (Singapore ‘s Health Promotion Board : HPB) ร่วมกับผู้ผลิตหรือจำหน่ายเกลือและภาคบริการด้านอาหารดำเนินโครงการพัฒนาส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพ ( Healthier Ingredient Development Scheme : HIDS) เพื่อสนับสนุนการทดแทนเกลือ ซอสปรุงรส ที่ใช้ในการปรุงอาหารด้วยทางเลือกโซเดียมต่ำ ในขณะเดียวกัน HPB จะเริ่มดำเนินการรณรงค์ทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมการบริโภคเกลือน้อยลง โดยจะเผยแพร่อันตรายจากการบริโภคเกลือมากเกินไป สร้างความตระหนักเกี่ยวกับสารทดแทนเกลือ และให้คำแนะนำกับประชาชนถึงการทำให้อาหารมีรสชาติ โดยใช้ปริมาณเกลือที่น้อยลง

ตราสัญลักษณ์ Healthier Choice นั้น เป็นตราสัญลักษณ์ที่ออกโดย HPB โดยกำหนดให้สินค้าอาหารที่มีตราสัญลักษณ์ Healthier Choice Lower in Sodium (โซเดียมต่ำ) นั้นต้องมีโซเดียมน้อยกว่า 25% เมื่อเทียบกันผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันในกลุ่มอาหารเดียวกัน

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.

          เครื่องปรุงและซอสปรุงรสเป็นส่วนสำคัญในการปรุงอาหาร โดยเฉพาะในอาหารเอเชีย รวมไปถึงสิงคโปร์ที่มีแนวโน้มที่จะปรุงอาหารที่บ้านมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์[1] เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

 

 

ที่มาข้อมูล : Euromonitor   // Health Promotion Board

[1] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ – https://www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports

thThai