อียิปต์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล

 

อียิปต์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการประกาศโจมตีอิสราเอลของอิหร่าน จะสร้างความตึงเครียดให้เพิ่มสูงขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศในช่วงที่ผ่านมา โดยกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการควบคุมสถานการณ์อย่างถึงที่สูง เพื่อป้องกันมิให้กระทบต่อความมั่นคงและเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยอียิปต์กังวลว่าสถานการณ์ระหว่างอิหร่านและอิสราเอลจะทวีความรุนแรงขึ้น และขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการใช้กำลังทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาและกิจกรรมทางทหารในพื้นที่

 

อียิปต์มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขสถานการณ์ โดยเน้นย้ำว่าอียิปต์ยังคงติดต่อสื่อสารกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งมั่นที่จะควบคุมความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้น และหลีกเลี่ยงภัยคุกคามใดๆ ต่อเสถียรภาพของภูมิภาคและผลประโยชน์ของประชาชน แหล่งข่าวระดับสูงของอียิปต์ยืนยันการมีอยู่ของหน่วยงานประเมินสถานการณ์ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานและสถาบันที่เกี่ยวข้องทุกแห่งในการติดตามสถานการณ์ในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด และจัดทำรายงานต่อเนื่องไปยังประธานาธิบดีอับเดล-ฟัตตาห์ เอล-ซีซี ตลอดเวลา โดยอียิปต์พยายามสื่อสารกับทุกฝ่าย เพื่อหยุดยั้งการขยายตัวของความขัดแย้งในภูมิภาคนี้

 

สืบเนื่องจากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ (IRGC) ของอิหร่านได้ใช้โดรนและขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีอิสราเอลในช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 13 เมษายน 2567 การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองเพื่อตอบโต้การโจมตีของอิสราเอลต่อสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ตามการระบุของเจ้าหน้าที่อิหร่าน

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 เมษายน 2567 กองทัพอากาศอียิปต์อยู่ในภาวะเตรียมพร้อมสูงสุด หลังจากที่อิหร่านปล่อยโดรนหลายลำต่ออิสราเอล จากแหล่งข่าวความมั่นคงระดับสูงของอียิปต์ระบุกับสำนักข่าวข่าวอัลกอเฮรา (Al-Qahera News)

 

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 กระทรวงการบินพลเรือนของอียิปต์ยืนยันว่าการจราจรทางอากาศในสนามบินอียิปต์ทุกแห่งดำเนินไปตามปกติโดยไม่มีการหยุดชะงักหรือการยกเลิกเที่ยวบินใดๆ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ดำเนินการทางการทูตผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีต่างประเทศ จากสหรัฐอเมริกา อิหร่าน และอิสราเอลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะบรรเทาความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง

 

อียิปต์แสดงความกังวลอย่างยิ่งเนื่องเหตุการณ์ดังกล่าวอาจลุกลามจนควบคุมไม่ได้ เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพในภูมิภาค และเป็นอันตรายต่อประชาชน นอกจากนี้ อียิปต์ยังเน้นย้ำถึงความกระตือรือร้นของอียิปต์ในการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เพื่อควบคุมวิกฤตการณ์ระหว่างอิหร่านและอิสราเอลในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของอียิปต์ในการพยายามทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในฉนวนกาซา และอำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

  • ภาวะสงครามในอิสราเอลและสถานการณ์ในทะเลแดงได้ส่งผลกระทบต่ออียิปต์อย่างมีนัยสำคัญ โดยนิตยสาร Foreign Policy วิเคราะห์ว่า อียิปต์จะเป็นประเทศที่เสียหายมากที่สุดจากเหตุการณ์ดังกล่าว (Egypt has the most to lose.) และนิตยสาร Time วิเคราะห์ว่า อียิปต์จะเป็น “the big loser” หากทะเลแดงถูกปิด โดยความตึงเครียดระหว่างอิสราเอล-อิหร่านครั้งนี้ ได้สร้างความกังวลให้กับอียิปต์อย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสัญญาณเตือนถึงแนวโน้มไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น อาจขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาค และยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจอียิปต์ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
  • แม้ว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2567 – ต้นเดือนเมษายน 2567 สภาพเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของอียิปต์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่เนื่องจากมีเม็ดเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนมากไหลเข้าอียิปต์ตั้งแต่ปลายปี 2566 ในรูปเงินกู้ เงินช่วยเหลือ และการขายกิจการภาครัฐ จนทำให้อียิปต์มีสภาพคล่องเพียงพอ สำหรับการโอนจ่ายค่าสินค้านำเข้าและปล่อยสินค้าที่ติดอยู่ที่ท่าเรือได้ทั้งหมด ประกาศลอยตัวค่าเงินปอนด์อียิปต์ตามสัญญาที่ให้ไว้กับ IMF และคืนส่งหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชำระได้ อย่างไรก็ดี สคต. ณ กรุงไคโร เห็นว่า ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามสถานการณ์ของอียิปต์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะในระยะกลางและระยะยาว ว่าอียิปต์จะสามารถฟื้นฟูรัฐอียิปต์ให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน ได้หรือไม่ เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออียิปต์ เช่น

(1) ภาวะสงครามในอิสราเอล สถานการณ์ในทะเลแดง และความตึงเครียดระหว่างอิสราเอล-อิหร่านส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านคลองสุเอซและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของอียิปต์

(2) สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคา wheat ที่อียิปต์นำเข้าในปริมาณสูง

(3) ความเปราะบางของเศรษฐกิจอียิปต์ เช่น อัตราเงินเฟ้ออียิปต์ที่อยู่ในระดับสูง (มากกว่า 30%) ค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่า (อ่อนค่ามากกว่าครึ่งจากปี 2565) และภาระหนี้สาธารณะสูง (กว่า 90% ของจีดีพี)

  • ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศ ผู้ส่งออกไทยจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบต่อไป โดยควรพิจารณาเปิด L/C ทำประกันการส่งออก และเรียกเก็บค่ามัดจำจำนวนมากที่สุด เพื่อประเมินสภาพคล่องของผู้นำเข้า หลีกเลี่ยงการเกิดซ้ำของปัญหาการชำระเงินล่าช้า และรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

____________________________________

 

ที่มา https://english.ahram.org.eg/NewsContent/1/1234/520849/Egypt/Foreign-Affairs/Egypt-expresses-deep-concern-over-IranianIsraeli-e.aspx

https://www.egypttoday.com/Article/1/131553/Egypt%E2%80%99s-Air-Forces-on-alert-due-to-Iranian-Israeli-escalation

thThai