บริษัทสิงคโปร์เริ่มหันมาใช้สีกันความร้อน

“โอกาสสินค้าวัสดุก่อสร้างในสิงคโปร์”

บริษัทผู้พัฒนาอุตสาหกรรมสิงคโปร์ JTC ได้เริ่มทดลองใช้สีกันความร้อนสำหรับภายนอกอาคารที่นิคมอุตสาหกรรม Bukit Batok และ Sin Ming เพื่อช่วยลดอุณหภูมิความร้อนในเมือง โดยการทดลองใช้ดังกล่าวจะเริ่มในไตรมาสที่สามของปี2567 เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการบรรเทาผลกระทบจากความร้อนในเมืองลงได้หรือไม่ ผลกระทบดังกล่าวได้แก่ การลดการสะสมความร้อนภายในเมือง เนื่องจากอุณหภูมิในเมืองร้อนกว่าเขตนอกเมือง เพราะพื้นผิวถนน ตัวอาคาร และยานพาหนะต่างดูดซับและกักเก็บความร้อน

การทดลองดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technology University : NTU) แสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมบริเวณอาคารที่ทาสีนั้นเย็นลงได้ถึง 2 องศาเซลเซียสในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน ผลการทดลองได้ดำเนินการในปี 2561 และ 2562 และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Sustainable Cities and Society ในเดือนมีนาคม 2567 นอกจากนี้ ในปี 2563 NTU ยังได้ทดสอบการใช้สีกันความร้อนที่แฟลตอาศัยสองบล็อคใน Bukit Purmei ก่อนขยายการใช้งานเป็น 130 บล็อคใน Tampines โดยคาดว่าการวิจัยดังกล่าวจะสามารถสรุปผลได้ในปี 2567

อาคารอุตสาหกรรม 2 แห่งของ JTC  และถนนระหว่างอาคารทั้งสองแห่งถูกเคลือบด้วยสีกันความร้อน ในขณะที่อาคารอีกสองแห่งทำหน้าที่เป็นตัวควบคุม ซึ่งสีกันความร้อนจะมีส่วนผสมของไทเทเนียมไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเม็ดสีที่สะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี และมักใช้ในครีมกันแดด ทั้งนี้ การสร้างพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำ เช่น บ่อน้ำและทะเลสาบ เป็นแนวทางที่คุ้นเคยสำหรับเมืองที่มีอากาศเย็น แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องบูรณาการเข้ากับการวางผังเมือง ในขณะที่ การทาสีกันความร้อนไม่จำเป็นต้องปรับปรุงใดๆ เพียงแค่ทาสีบนโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่

ทีมงาน NTU นำโดยรองศาสตราจารย์ Wan Man Pun จากคณะวิศวกรรมเครื่องกลและการบินและอวกาศ ได้ตรวจสอบสภาวะต่างๆ เช่น การเคลื่อนที่ของอากาศ อุณหภูมิพื้นผิวและอากาศ ความชื้น และการแผ่รังสี ณ ทั้งสองไซต์งาน เป็นเวลากว่า 6 เดือน พบว่า ความร้อนถูกปล่อยออกมาจากอาคารและทางเท้าที่ทาสีแล้วลดลงประมาณ 30% ส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่เย็นลงถึง 2 องศาเซลเซียสในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวันเวลาประมาณ 16.00 น. คนเดินเท้าจะรู้สึกเย็นลง 1.5 องศาเซลเซียสในสภาพแวดล้อมกลางแจ้ง  จากการวัดโดย Universal Thermal Climate Index ขณะนี้ นักวิจัยกำลังสร้างสีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยใช้เม็ดสีแบเรียมซัลเฟต สารเคมีนี้สามารถสะท้อนความร้อนของดวงอาทิตย์ซึ่งอาคารอาจดูดซับกลับออกสู่อากาศภายนอกได้มากขึ้น สีสมัยใหม่ยังประกอบไปด้วยสารยึดเกาะโพลีเมอร์ที่ปล่อยความร้อนผ่านความยาวคลื่นที่เรียกว่า Atmospheric Window หมายความว่าความร้อนที่สะท้อนกลับจะไม่คงอยู่ในบริเวณโดยรอบ จึงทำให้อากาศเย็นลงได้มากขึ้น

นอกจากนี้ สีกันความร้อนยังช่วยดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศในอาคารได้อีกด้วย การปล่อยความร้อนเหลือทิ้งจากเครื่องปรับอากาศส่งผลให้เกิดเกาะความร้อนในเมือง จากรายงานของโครงการวิจัย Cooling Singapore เมื่อความร้อนถูกปล่อยออกมาในเวลากลางคืนโดยมนุษย์ทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น อาจทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4-7องศาเซลเซียสในสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี สีกันความร้อนสามารถรับมือกับการดูดซับรังสีแสงอาทิตย์เท่านั้น ในขณะที่ สิงคโปร์ร้อนขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น  การทำกิจกรรมในแต่ละวัน การจราจร และภาคการผลิต

ในขณะนี้ สีกันความร้อนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาด จึงอาจจะมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับสีธรรมดา แต่ในตลาดที่ผู้บริโภคมีความพร้อม (Mature Market) แล้วอย่างแคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งหลังคาใหม่และหลังคาที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ต้องใช้วัสดุที่เย็นลง รวมถึงสีกันความร้อน ราคาจึงแตกต่างกันน้อยมาก

นาย Joseph Goh รองประธานสถาบันวิศวกรสิงคโปร์ กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้งานในวงกว้าง การใช้สีกันความร้อนบนทุกพื้นผิวอาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากทำให้ต้นทุนสูง หรือ การทาสีกันความร้อนบนทางเท้าจะมีต้นทุนสูงกว่าการทาสีบนภายนอกอาคาร หากมีกฎระเบียบในการจัดการกับความร้อนในเมืองผ่านการใช้พื้นที่สีเขียว ร่มเงา หรือสีกันความร้อน ก็อาจถูกนำไปใช้งานมากขึ้น และต้นทุนจะลดลงเนื่องจากเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
จากผลกระทบของภาวะโลกร้อนส่งผลให้ชาวสิงคโปร์เริ่มมองหาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ช่วยลดอุณหภูมิลง นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีโครงการระยะยาว 10 ปี HDB Green Towns เป็นโครงการที่มุ่งเน้นไปที่ทำให้บริเวณรอบแฟลต HDB มีอุณหภูมิเย็นลง ลดการใช้พลังงาน และการรีไซเคิลน้ำฝน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง เช่น สีกันความร้อน และวัสดุก่อสร้างกันร้อนอื่นๆ เพราะนอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิจากภายนอกอาคารแล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดพลังงานภายในอาคารอีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องติดตามเทรนด์ผู้บริโภคของสิงคโปร์เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน/การส่งออก และการเติบโตทางธุรกิจต่อไป

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.straitstimes.com/singapore/authorities-eye-reflective-paint-for-buildings-as-ntu-pilot-shows-it-can-cool-urban-areas-by-2-deg-c

 

 

thThai