สินค้าอาหารทะเล โดยเฉพาะสินค้ากุ้งถือเป็นกลุ่มสินค้าอาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจสำหรับตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากกุ้งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในการบริโภคไม่เพียงเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น แต่ก็พบการบริโภคในมื้ออาหารประจำวันด้วยเช่นกัน อีกทั้งรูปแบบการบริโภคกุ้งของชาวอเมริกันนั้นมีหลากหลายมากซึ่งมีแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้สินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯมีความน่าสนใจเฉพาะตัวคือข้อเท็จจริงที่แม้ว่าอัตราความต้องการและปริมาณการบริโภคจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอการทางการค้าของสินค้ากุ้ง ทว่าในปัจจุบันแหล่งที่มาของสินค้ากุ้งในสหรัฐฯซึ่งบริโภคกันแพร่หลายนั้นไม่ได้มาจากผลผลิตสินค้ากุ้งภายในประเทศ แต่กลับพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 95 โดยประเทศที่ส่งออกสินค้ากุ้งมายังสหรัฐฯมากที่สุดก็คืออินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนสินค้าอยู่ในตลาดสินค้ากุ้งสหรัฐฯอยู่ถึงร้อยละ 40 จากทั้งหมด ในขณะที่การนำเข้าสินค้ากุ้งจากประเทศไทยมายังสหรัฐฯก็ถือว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขและสภาวะการแข่งขันทางค้าสินค้ากุ้งภายในตลาดสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการเรียกร้องเป็นวงกว้างจากสมาคมและกลุ่มธุรกิจสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ ต่อการเข้ามาตีตลาดอย่างแข็งขันของสินค้ากุ้งนำเข้า เป็นที่มาของมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบมาตรฐานของสินค้าและกระบวนการผลิตของสินค้ากุ้’

1. ลักษณะสำคัญของสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ
สินค้ากุ้งสามารถจำแนกได้ 3 ชนิดหลักซึ่งมีความแตกต่างกันด้วย 1. แหล่งกำเนิดของกุ้ง 2. วิธีการได้มาของกุ้ง และ 3. รูปแบบ/ลักษณะของสินค้ากุ้ง ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี

1.1 แหล่งกำเนิดของกุ้ง หรือแหล่งที่มาของกุ้งซึ่ง
หมายถึงภูมิภาคหรือเขตทางภูมิศาสตร์ในเรื่องกระแสน้ำเย็น-กระแสน้ำอุ่น บ่งบอกถึงสายพันธุ์เฉพาะของกุ้งที่จะสามารถพบได้จากแหล่งที่มาแหล่านั้น ได้แก่ 1.1 กุ้งที่มีแหล่งกำเนิดจากเขตน้ำอุ่น (Warm-Water Shrimp) อาทิ กุ้งขาว/กุ้งแชบ๊วย (White Shrimp) กุ้งกุลาดำ (Black Tiger Shrimp) กุ้งหวาน (Pink Srimp) กุ้งเปลือกหนา (Brown Shrimp) เป็นต้น ซึ่งมีแหล่งผลิตทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาตินอเมริกา รวมถึงอินเดียและจีนด้วย และ 1.2 กุ้งที่มีแหล่งกำเนิดจากเขตน้ำเย็น (Cold-Water Shrimp) อาทิ กุ้งสายพันธุ์ Pandalus borealis และกุ้งแดง (Shrimp) ซึ่งมีแหล่งผลิตจากภูมิภาคมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ และมหาสมุทรอาร์คติก โดยประเทศผู้ส่งออกสำคัญได้แก่ แดนาดา อาร์เจนตินา เป็นต้น

1.2 วิธีการได้มาของกุ้ง
หมายถึงวิธีการหือกระบวนการที่กุ้งถูกผลิตขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพ ราคา และรสนิยมของผู้บริโภค ประกอบด้วย 2 วิธีการหลัก ได้แก่ 2.1 กุ้งซึ่งได้มาจากการเพาะเลี้ยง (Harvested / Farm-Raised) การเพาะเลี้ยงกุ้งนั้นมีได้หลายรูปแบบ อาทิ การเพาะเลี้ยงกุ้งในระบบเปิด – ระบบปิด เป็นต้น และ 2.2 กุ้งซึ่งได้มาจากธรรมชาติ (Wild-Caught) กุ้งประเภทนี้จะหมายถึงกุ้งที่ได้จากการประมง หรือการจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งกุ้งที่ได้มาจากวิธีการนี้จะมีราคาที่สูงกว่ากุ้งเพาะเลี้ยง และเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม

1.3 รูปแบบ/ลักษณะสินค้ากุ้ง
รูปแบบสินค้ากุ้งที่พบได้โดยทั่วไปในตลาดสหรัฐฯ สามารถจำแนกได้ 3 ชนิด ได้แก่ 1. สินค้ากุ้งสด (Fresh Shrimp) 2. สินค้ากุ้งแช่แข็ง (Frozen Shrimp) และ 3. สินค้ากุ้งแปรรูป (Processed) ผ่านกรรมาวิธีให้พร้อมทาน (Ready-To-Eat)

2. ข้อมูลตลาดสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ

2.1 ภาพรวมขนาดตลาด
ข้อมูลจาก Mordor Intelligence ได้คาดการไว้ว่าในปีนี้มูลค่าตลาดสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตสูงถึง 8.65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2029 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 1.32 ต่อปี ทั้งนี้ สำนักข่าว AP ได้รายงานว่า ในปัจจุบันสัดส่วนของสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯนั้น มีสินค้ากุ้งที่ผลิตในสหรัฐฯเพียงร้อยละ 5 นั่นหมายความว่าสินค้ากุ้งจากต่างประเทศนั้นมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯกว่าร้อยละ 95 และยังไม่มีทีท่าว่าสหรัฐฯจะสามารถผลิตกุ้งได้เพียงพอ

2.2 สัดส่วนสินค้า
สำหรับข้อมูลสินค้ากุ้งที่จะนำมาพิจารณาในรายงานฉบันนี้ จะนับรวมเฉพาะ 7 กลุ่มสินค้าตาม HS Code ประกอบด้วย 1. HS Code 030616: Cold-water shrimps and prawns (Pandalus spp., Crangon crangon), Frozen. 2. HS Code 030617: Other shrimps and prawns, Frozen. 3. HS Code 030635: Cold-water shrimps and prawns (Pandalus spp., Crangon crangon), Live, Fresh or Chilled. 4. HS Code 030636: Other shrimps and prawns, Live, Fresh or Chilled. 5.HS Code 160520: Shrimp and prawns, Prepared or Preserved. 6. HS Code 160521: Shrimp and prawns, Prepared or Preserved, Not in air tight containers. และ 7. HS Code 160529: Shrimp and prawns, Prepared or Preserved, in air tight containers รวมทั้งสิ้น 7 กลุ่มสินค้า เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีนัยยะสำคัญมากที่สุด โดยจากการรวบรวมข้อมูลการนำเข้าจาก Global Trade Atlas พบว่าสินค้ากุ้งแช่แข็งมีส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 72 สินค้ากุ้งแปรรูปอยู่ที่ร้อยละ 26 และ สินค้ากุ้งสดเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐฯที่มีความนิยมในสินค้าที่สะดวกต่อการบริโภคมากกว่า ซึ่งหมายถึงสินค้ากุ้งที่ผ่านกรรมาวิธีเตรียมการปรุงอาหารมาแล้วในระดับหนึ่ง

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 1: แสดงข้อมูลสัดส่วนสินค้ากุ้งที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ โดยคำนวณจากมูลค่าการนำเข้าของสินค้าทั้งหมด ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

2.3 ภาพรวมมูลค่าการค้าสินค้ากุ้งของสหรัฐฯ
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศกลุ่มสินค้ากุ้งของสหรัฐฯในภาพรวม ถือว่าอยู่ในสภาพขาดดุลทางการค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปีค.ศ. 2019 – 2023 หรือ 5 ปีให้หลัง ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสัดส่วนสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ ที่สินค้าที่ผลิตในสหรัฐนเองมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 2: แสดงข้อมูลดุลการค้า และมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากุ้งรวม 7 หมวดหมู่ของสหรัฐฯระหว่างปี 2019 – 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

2.4 สถิติการนำเข้าสินค้ากุ้งมายังสหรัฐฯ
ในปี 2023 ที่ผ่านมาสหรัฐฯนำเข้าสินค้ากุ้ง (นับเฉพาะหมวดหมู่สินค้าตาม HS Code ทั้ง 7 หมวดหมู่ตาม 2.2) มีมูลค่าจาก 7 อันดับประเทศแรก ได้แก่ 1. อินเดีย (ร้อยละ 36) 2. เอกวาดอร์ (ร้อยละ 21)  3. อินโดนีเซีย (ร้อยละ 18) 4. เวียดนาม (ร้อยละ 10) 5. ประเทศไทย (ร้อยละ 5) 6. เม็กซิโก (ร้อยละ 3) และ 7. อาร์เจนตินา (ร้อยละ 2) ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฎในแผนภาพที่ 3 จะเห็นได้ว่าประเทศอินเดียมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากุ้งที่เยอะที่สุดในช่วง 5 ปีให้หลังซึ่งทิ้งห่างจากประเทศอื่น ๆ อย่างมาก สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่าสินค้ากุ้งจาdประเทศอินเดียมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯกว่าร้อยละ 40 ในปัจจุบัน สินค้ากุ้งจากเอกวาดอร์ได้รับความนิยมและมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งจากประเทศไทยนั้นถือว่าค่อนข้างทรงตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 3: แสดงข้อมูลมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งรวม 7 หมวดหมู่ของสหรัฐฯ จากประเทศ 7 อันดับแรก ระหว่างปี 2019 – 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 4: แสดงข้อมูลสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งรวม 7 หมวดหมู่ของสหรัฐฯ จากประเทศ 7 อันดับแรกในปี 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

2.4.1 เปรียบเทียบการนำเข้าระหว่างเดือนมกราคม 2023 และมกราคม 2024
ข้อมูลการนำเข้าสินค้ากุ้งรวม (นับเฉพาะหมวดหมู่สินค้าตาม HS Code ทั้ง 7 หมวดหมู่ตาม 2.2) เปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคมปี 2023 และเดือนมกราคมปีนี้ ในภาพรวมพบว่าในช่วงเดือนเดียวกันนั้น สหรัฐฯมีการนำเข้าสินค้ากุ้งน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับสภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่ส่งผลให้ชาวอเมริกันค่อนข้างใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น สอดคล้องกับรายงาน Agri-Food Institute Industry Update – Q4 2023 ซึ่งรายงานว่าราคาสินค้าอาหารทะเลในภาพรวมนั้นพุ่งสูงขึ้น ทิศทางการใช้จ่ายเงินของชาวอเมริกันนั้นจะหลีกเลี่ยงสินค้าราคาสูงโดยไม่จำเป็น

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 5: แสดงข้อมูลมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งรวม 7 หมวดหมู่ของสหรัฐฯ เปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม 2023 และ 2024 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

2.4.2 ข้อมูลนำเข้ารายไตรมาส
ในปี 2023 ที่ผ่านมา (นับเฉพาะหมวดหมู่สินค้าตาม HS Code ทั้ง 7 หมวดหมู่ตาม 2.2) พบว่ามูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 4 นั้นมีมูลค่าสูงโดนเด่นกว่าทุกไตรมาส สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณความต้องการสินค้ากุ้งในช่วงไตรมาสดังกล่าวที่สูงกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ของปี สอดคล้องกับช่วงเวลาดังกล่าวนั้นถือเป็นช่วงเริ่มต้นเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองสำคัญของปี อาทิ วันชาติสหรัฐฯ วันขอบคุณพระเจ้า และช่วงเทศกาลคริสต์มาสถึงปีใหม่

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 6: แสดงข้อมูลมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งรวม 7 หมวดหมู่ของสหรัฐฯ เปรียบเทียบระหว่างไตรมาสในปี 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

 2.4.3 ข้อมูลนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้ากุ้งแช่แข็ง
หากพิจารณาเฉพาะสินค้ากุ้งแช่แข็ง (1. HS Code 030616: Cold-water shrimps and prawns (Pandalus spp., Crangon crangon), Frozen. 2. HS Code 030617: Other shrimps and prawns, Frozen.) พบว่าประเทศมีมูลค่าจาก 7 อันดับประเทศแรก ได้แก่ 1. อินเดีย (ร้อยละ 38) 2. เอกวาดอร์ (ร้อยละ 27)  3. อินโดนีเซีย (ร้อยละ 15) 4. เวียดนาม (ร้อยละ 5) 5. เม็กซิโก (ร้อยละ 4)  6. อาร์เจนตินา (ร้อยละ 3)และ 7. ประเทศไทย (ร้อยละ 2) ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งแช่แข็งมายังสหรัฐฯรั้งท้าย ประเทศที่ส่งออกกุ้งมายังสหรัฐฯอย่างมีนัยยะสำคัญ

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 7: แสดงข้อมูลมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งแช่แข็งของสหรัฐฯจากประเทศ 7 อันดับแรกระหว่างปี 2019 – 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 8: แสดงข้อมูลสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งแช่แข็งของสหรัฐฯจากประเทศ 7 อันดับแรกในปี 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

2.4.4 ข้อมูลนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้ากุ้งสด
หากพิจารณาเฉพาะสินค้ากุ้งสด (1. HS Code 030635: Cold-water shrimps and prawns (Pandalus spp., Crangon crangon), Live, Fresh or Chilled. 2. HS Code 030636: Other shrimps and prawns, Live, Fresh or Chilled) พบว่าประเทศมีมูลค่าจาก 5 อันดับประเทศแรก ได้แก่ 1. เอกวาดอร์ (ร้อยละ 32) 2. เกาหลีใต้ (ร้อยละ 23)  3. อินโดนีเซีย (ร้อยละ 16) 4. โคลอมเบีย (ร้อยละ 12) 5. ไทย (ร้อยละ 4) ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งแช่แข็งมายังสหรัฐฯรั้งท้าย ประเทศที่ส่งออกกุ้งมายังสหรัฐฯอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ สินค้ากุ้งสดจากอินเดียถือว่ามีมีมูลค่าสูงมากเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจาก ณ วันที่สืบค้นข้อมูล ไม่ปรากฎข้อมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งสดจากอินเดียในปี 2023 จึงทำให้การอ่านข้อมูลอาจคาดเคลื่อนได้หากนำมาพิจารณาร่วมโดยที่ข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 9: แสดงข้อมูลมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งสดของสหรัฐฯจากประเทศ 5 อันดับแรกระหว่างปี 2019 – 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 10: แสดงข้อมูลสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งสดของสหรัฐฯจากประเทศ 5 อันดับแรกในปี 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

2.4.5 ข้อมูลนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้ากุ้งแปรรูป
หากพิจารณาเฉพาะสินค้ากุ้งแปรรูป (1. HS Code 160520: Shrimp and prawns, Prepared or Preserved. 2. HS Code 160521: Shrimp and prawns, Prepared or Preserved, Not in air tight containers. และ 3. HS Code 160529: Shrimp and prawns, Prepared or Preserved, in air tight containers) พบว่าประเทศมีมูลค่าจาก 6 อันดับประเทศแรก ได้แก่ 1. อินเดีย (ร้อยละ 39) 2. อินโดนีเซีย (ร้อยละ 27)  3. เวียดนาม (ร้อยละ 22) 4. ประเทศไทย (ร้อยละ 13) 5. เอกวาดอร์ (ร้อยละ 4) และ 6. จีน (ร้อยละ 3) ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งแปรรูปมายังสหรัฐฯที่มีศัยภาพในระดับกลางเมื่อเปรียบเทียบกีบประเทศที่ส่งออกสินค้ากุ้งแปรรูปมายังสหรัฐฯอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้จะสังเกตุได้ว่าในปี 2023 สถิติการนำเข้าสินค้ากุ้งแปรรูปมายังสหรัฐฯลดลงในภาพรวมทั้งหมด

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 11: แสดงข้อมูลมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งแปรรูปของสหรัฐฯจากประเทศ 6 อันดับแรกระหว่างปี 2019 – 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯแผนภาพที่ 12: แสดงข้อมูลสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้ากุ้งแปรรูปของสหรัฐฯจากประเทศ 6 อันดับแรกในปี 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

2.5 ตัวอย่างสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ
สินค้ากุ้งที่พบได้ทั่วไปในห้างสรรพสินค้า หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งสะท้อนถึงรูปแบบ/ลักษณะสินค้าที่เป็นที่นิยมของชาวอเมริกันนั้นส่วนมากแล้วจะมีความต้องการสินค้ากุ้งที่มีความสะดวกสบายในการปรุงอาหาร หรือมีความยุ่งยากในกระบวนการน้อยที่สุด โดยมีสินค้ากุ้งที่มีการเตรียมพร้อมสำหรับการปรุงอาหารในหลายระดับ ตั้งแต่สินค้ากุ้งตัดแต่ง สินค้ากุ้งตัดแต่งปรุงสุก จนถึงสินค้ากุ้งที่พร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) ได้เลย โดยปรากฎลักษณะสินค้ากุ้ง ดังนี้

2.5.1 สินค้ากุ้งแช่แข็ง
สินค้ากุ้งแช่แข็งที่ปรากฎในตลาดสหรัฐฯนั้นมีตัวเลือกสินค้าที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยประกอบด้วย 1.สินค้ากุ้งแช่แข็งตัดแต่งหัว-ไร้หาง-ดิบ 2. สินค้ากุ้งแช่แข็งตัดแต่งหัว-ไว้หาง-ดิบ 3. สินค้ากุ้งแช่แข็งตัดแต่งหัว-ไร้หาง-สุก และ 4.สินค้ากุ้งแช่แข็งตัดแต่งหัว-ไว้หาง-สุก นอกจากนี้ยังมีการแยกคละขนาดของกุ้งในบรรจุภัณฑ์อีกด้วย อาทิ ขนาด 31-40 ตัว/ปอนด์ ขนาด 21-25 ตัว / ปอนด์ ขนาด 50-70 ตัว / ปอนด์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดราคาสินค้ากุ้งแช่งแข็งที่มีวางจำหน่าย ที่ยังไม่นับรวมมูลค่าเพิ่มของแบรนด์หรือยี่ห้อของสินค้าอีกส่วนหนึ่ง

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

“ตัวอย่างสินค้ากุ้งแช่แข็งในตลาดสหรัฐฯ”

 2.5.2 สินค้ากุ้งสด
สินค้ากุ้งสดที่ปรากฎในตลาดสหรัฐฯนั้นส่วนมากจะเป็นสินค้ากุ้งที่ผ่านการแช่แข็งมาก่อน (Previously Frozen) ซึ่งจะพบได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง อาทิ Publix, Fresco y Mas แต่จะไม่พบให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เช่นCostco ทั้งนี้ ราคาสินค้ากุ้งสดชนิดนี้จะมีราคาที่สูงกว่ากุ้งแช่แข็งเล็กน้อย ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมพอสมควร เนื่องจากสินค้ามีความได้เปรียบกุ้งแช่แข็งตรงนี้สามารถนำไปปรุงได้เลย ไม่ต้องรอเวลาหรือนำไปละลายน้ำแข็งก่อน

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

“ตัวอย่างสินค้ากุ้งสดในตลาดสหรัฐฯ”

2.5.3 สินค้ากุ้งแปรรูป
สินค้ากุ้งแปรรูปในสหรัฐฯนั้นส่วนมากแล้วเป็นการนำกุ้งมาปรุงสุกให้มีรสชาติเฉพาะ ผ่านกระบวนการที่ทำให้สินค้ากุ้งอยู่ในสภาพพร้อมทาน ซึ่งรสชาติมีความหลากหลายมาก ยกตัวอย่างเช่น กุ้งชุปแป้งทอด (Panko Shrimp) กุ้งเทมปุระ (Tempura Shrimp) กุ้งอบเนยกระเทียม (Garlic Butter Shrimp) บิสกิตกุ้งชีสเชดดาร์ (Cheddar Bay Biscuit) กุ้งไดนาไมต์ (Dynamite Shrimp) เป็นต้น ในส่วนของสินค้ากุ้งแปรรูปจากประเทศไทยที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กุ้งคลุกมะพร้าวทอดพร้อมน้ำจิ้มเผ็ดหวานแบบไทย (Coconut Shrimp with Sweet Thai Chili Sauce) ยี่ห้อ Royal Asia และปรากฎสินค้าน้ำจิ้มจากประเทศไทยในส่วนประกอบของกุ้งเทมปุระยี่ห้อ Kirkland อีกด้วย

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

“ตัวอย่างสินค้ากุ้งสดในตลาดสหรัฐฯ”

 2.6 ความต้องการสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลปริมาณการนำเข้าสินค้ากุ้งทั้งหมด และที่แยกตามประเภทสินค้ากุ้ง ซึ่งปรากฎตามแผนภาพที่ 13 – 16 พบว่า ปริมาณความต้องการสินค้ากุ้งทั้งหมด ซึ่งสะท้อนจากปริมาณที่สหรัฐฯมีการนำเข้าทั้งหมดนั้นอยู่ในสภาวะขาลง หรือมีความต้องการน้อยลงทั้งหมดในภาพรวม ดังที่จะเห็นว่าจากปี 2021 เป็นต้นมาปริมาณการนำเข้าสินค้ากุ้งลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความเด่นชัดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2022 – 2023 สอดคล้องกับแนวโน้มการบริโภคของชาวอเมริกันที่คำนึงถึงผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น และราคาสินค้าบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจเกี่ยวข้องการท่าทีของกลุ่มผู้ผลิตกุ้งภายในสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้ควบคุมปริมาณการนำเข้าสินค้ากุ้งจากต่างประเทศ ที่กำลังเข้ามากินส่วนแบ่งสินค้ากุ้งภายในตลาดสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 13: แสดงข้อมูลปริมาณการนำเข้าสินค้ากุ้งรวม 7 หมวดหมู่ของสหรัฐฯระหว่างปี 2019 – 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 14: แสดงข้อมูลปริมาณการนำเข้าสินค้ากุ้งสดของสหรัฐฯระหว่างปี 2019 – 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 15: แสดงข้อมูลปริมาณการนำเข้าสินค้ากุ้งแช่แข็งของสหรัฐฯระหว่างปี 2019 – 2023 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 16: แสดงข้อมูลปริมาณการนำเข้าสินค้ากุ้งแปรรูปของสหรัฐฯระหว่างปี 2019 – 2023ข้อมูลจาก Global Trade Atlas

2.7 แนวโน้มของสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ
ในปัจจุบันสินค้ากุ้งจากประเทศอินเดีย เอกวาดอร์ และอินโดนีเซียบางส่วน เป็นผู้ครองตลาดสินค้ากุ้งส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์จะมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนราคาขายกว่ากุ้งจากประเทศอื่น ๆ อย่างมาก ทำให้ในภาพรวมของตลาดสินค้ากุ้งนั้น สินค้ากุ้งจากทั้งสองประเทศดังกล่าวมีความได้เปรียบ นอกจากนี้ราคาที่ถูกกว่าสินค้ากุ้งตลาดสหรัฐฯมากนั้น ยังทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประกอบการผลิตกุ้งในสหรัฐฯ ถึงพฤติกรรมการขายทุ่มตลาด และการกระทำทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practices) โดยทั้งสองถือเป็นข้อกล่าวหาทางการค้าที่ค่อนข้างเข้มข้น ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อการแข่งขันทางการค้าสินค้ากุ้งในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป ทั้งนี้ สามารถพิจารณาราคาสินค้ากุ้งในภาพรวมจำแนกตามประเภทสินค้าและที่มาได้ตามตารางที่ปรากฎ

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

3. ผู้บริโภคสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ
จากการสำรวจข้อมูลยอดขายสินค้าอาหารทะเลทั้งหมดของ National Fisheries Institute ของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความนิยมที่กว้างและแพร่หลายของชาวอเมริกันที่มีต่อสินค้ากุ้ง โดยจากทุกภูมิภาคของสหรัฐฯนั้น กุ้งถูกจัดให้เป็นสินค้าอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม รูปแบบและรสนิยมในการบริโภคสินค้ากุ้งนั้นเชื่อว่ามีความแตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาคด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมการกิน เศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ สายพันธุ์ของกุ้งที่ได้รับความนิยมจากผลการสำรวจข้อมูลโดย Straw Poll พบว่า อันดับที่ 1. กุ้งขาว Whiteleg shrimp (Litopenaeus vannamei) อันดับที่ 2. กุ้งกุลาดำ Black tiger shrimp (Penaeus monodon) อันดับที่ 3. กุ้ง Gulf white shrimp (Litopenaeus setiferus) อันดับที่ 4. กุ้งหวาน Pink shrimp (Pandalus borealis) และอันดับที่ 5. กุ้งเปลือกแข็ง Brown shrimp (Farfantepenaeus aztecus)

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

แผนภาพที่ 17: ข้อมูลอาหารทะเลแช่แข็งที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก แบ่งตามภูมิภาคของสหรัฐฯ (วัดจากยอดขายของสินค้าแต่ละชนิด) ข้อมูลจาก National Fisheries Institute สหรัฐฯ

4. ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ
ห้าง Whole Foods Market
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Whole Foods Market Inc.
ที่อยู่: 550 Bowie St., Austin, TX 78703
โทร: 512-477-4455 โทรสาร: 512-482-7000
เว็บไซต์: www.wholefoodsmarket.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ
 ห้าง Publix
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Publix Supermarket Inc.
ที่อยู่: 3300 Publix Corporate, Lakeland, FL 33811
โทร: 863-688-1188
เว็บไซต์: www.publix.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

ห้าง Trader Joe’s
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Trade Joe’s Co Inc.
ที่อยู่: 800 S Shamrock Ave. Monrovia, CA 91016
โทร: 626-599-3700
เว็บไซต์: www.tradejoes.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ
ห้าง Walmart
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Walmart Inc.
ที่อยู่: 702 SW 8th St, Bentonville, AR 72716
โทร: 479-273-4000
เว็บไซต์: www.walmart.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

ห้าง Winn-Dixie
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Winn-Dixie Stores, Inc.
ที่อยู่: 4400 W Sample Rd Suite 130b, Coconut Creek, FL 33073
โทร: 561-870-3733
เว็บไซต์: www.winndixie.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

ห้าง Costco Wholesale
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Costco Wholesale Corporation
ที่อยู่: 999 Lake Drive Issaquah, WA 98027
โทร: 425-313-8100
เว็บไซต์: https://www.costco.com

5. มาตรการและกฎระเบียบการนำเข้าสินค้ากุ้งมายังสหรัฐฯ

ในการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลประเภทกุ้งมายังสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีเอกสารประกอบ ดังนี้

1. เอกสาร DS-2031 (Shrimp Exporter’s/Importer’s Declaration)

ระเบียบจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (U.S. Department of State) โดยสำนักกิจการด้านมหาสมุทร สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (Bureau of Oceans and International Environmental and Scientific Affairs) ได้มีการออก “เอกสารรายชื่อประเทศผู้ผลิตกุ้งซึ่งได้รับการตวรจสอบและรับรองประจำปี” (Annual Determination and Certification of Shrimp-Harvesting Nations) โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดรายชื่อประเทศที่ได้รับการรับรองมาตรฐานของกุ้งจากธรรมชาติ (Wild-Caught Shrimp Harvest) ซึ่งสามารถนำเข้ามายังสหรัฐฯได้ โดยในปีล่าสุด (พฤษภาคม 2023) ได้กำหนดให้ทั้งสิ้น 43 ประเทศ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏประเทศไทยอยู่ในรายชื่อ ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดไว้ข้างท้ายว่าสำหรับประเทศที่ไม่ได้รับการรับรองในเอกสารฯ จะเท่ากับว่าทางการสหรัฐฯ อนุญาตให้นำเข้ากุ้งเพาะเลี้ยง (Aquaculture) เท่านั้น และได้กำหนดว่าการนำเข้ากุ้งมายังสหรัฐฯ จะต้องมาพร้อมกับเอกสาร DS-2031 ประกอบพิธีการทางศุลกากร

โดยรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสาร DS-2031 ประกอบด้วย
1.1 ประเทศที่ทำการเพาะเลี้ยงกุ้ง (Harvesting Nation)
1.2 รายละเอียดสถานที่เพาะเลี้ยง (Aquaculture Facility)
1.3 รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งออก (Exporter)
1.4 รายละเอียดของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ (U.S. Importer /Ultimate Consignee)
1.5 วันที่ส่งออก (Date of Export)
1.6 คำอธิบายเกี่ยวกับสินค้า (Description of Product) ประกอบด้วย US HTS Number, จำนวนหน่วย (Number of Units), น้ำหนักสุทธิ (Net Weight in Kg.)
1.7 การสำแดงสินค้าของผู้นำเข้า (Exporter’s Declaration) ในส่วนนี้ผู้ส่งออกจะต้องยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของสินค้ากุ้งที่จะนำเข้ามายังสหรัฐฯ ซึ่งต้องเลือก 1 ส่วน

ส่วน 7.A สินค้ากุ้งที่มาจากการเพาะเลี้ยงที่ไม่เป็นอันตรายต่อเต่าทะเล ต้องแสดงว่าเพาะเลี้ยงด้วยระบบ:
7.A.1: เพาะเลี้ยงในระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Harvested by Aquaculture)
7.A.2: เพาะเลี้ยงด้วยเครื่องกรองเต่า (Turtle Excluder Devices: TEDs)
7.A.3: เพาะเลี้ยงโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่ใช่เครื่องจักร หรืออุปกรณ์พิเศษ (Non-Mechanical Net Retrieval)
7.A.4: เพาะเลี้ยงโดยวิธีการอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อเต่าทะเล ตามกำหนดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (Harvested in manner determined by Dept. of State not to pose threat to sea turtles)

ส่วน 7.B สินค้ากุ้งที่มาจากน่านน้ำของประเทศที่ได้รับการรับรองฯ (ไม่รวมถึงประเทศไทย)
1.8 รายละเอียดการรับรองจากหน่วยงานรัฐฯ ในกรณีที่เลือกส่วน 7.A (ลงลายมือชื่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐฯ) ประกอบด้วย ชื่อ / หน่วยงาน / ตำแหน่ง, ที่อยู่ / โทรศัพท์, ลายมือชื่อ (Signature) พร้อมวันที่
1.9 รายละเอียดการนำเข้า (Import Information) (ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรสหรัฐฯ)

2. ใบรับรอง HACCP
HACCP หรือ ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (Hazard Analysis and Critical Control Points: HACCP) เป็นระบบที่ใช้ในการควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหาร ตั้งแต่ในระบบการผลิต (Production) จนถึงการจัดจำหน่าย (Distribution)
ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับใบรับรองดังกล่าว ได้ที่: https://www.fda.gov/food /hazard-analysis-critical-control-point-haccp/haccp-principles-application-guidelines#guidelines

3. ฉลากผลิตภัณฑ์ (Product Labeling)
บนฉลากของผลิตภัณฑ์จะต้องระบุข้อมูลที่มีความละเอียดและความแม่นยำเป็นไปตามมาตรฐานของทางการสหรัฐฯ โดยควรจะระบุข้อมูลที่สำคัญ ประกอบด้วย วัตถุดิบ วันที่ทำการผลิต สถานที่ และที่อยู่ของผู้ผลิตสินค้ากุ้ง ตลอดจนข้อมูลด้านโภชนาการและการแพ้อาหาร

4. ใบรับรองด้านสุขอนามัย (Sanitation Certificate)
ผู้ที่ส่งออกสินค้ากุ้งมายังสหรัฐฯ ต้องมีใบรับรองด้านสุขอนามัย จากหน่วยงาน หรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับ (Recognize) จากทางการสหรัฐฯ

5. ประกาศแจ้งเตือนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า (FDA Import Alert)

ประกาศแจ้งเตือนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าโดย FDA สหรัฐฯ คือประกาศที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากประกาศเหล่านี้คือหลักเกณฑ์ข้อสำคัญในการพิจารณาการนำเข้าสินค้าอาหารและยามายังสหรัฐฯ โดยมีการกำหนดมาตรการต่อสินค้า และ/หรือกลุ่มสินค้า จากบริษัท และ/หรือประเทศที่ส่งออกสินค้าเหล่านั้นมายังสหรัฐฯ ตั้งแต่การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ (Detention Without Physical Examination: DWPE) ไปจนถึง  การห้ามการนำเข้า (Prohibition) กันเลยทีเดียว โดยเหตุผลของการออกประกาศแจ้งเตือนสามารถใช้เป็นเสมือนข้อกำหนด และข้อห้ามของสินค้าอาหารและยาในการนำเข้ามายังสหรัฐฯ

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า จนถึงปัจจุบันประเทศไทยถูกประกาศแจ้งเตือนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับกุ้งรวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ เรียงตามลำดับจากล่าสุดไปถึงเก่าที่สุด ประกอบด้วย

5.1 Import Alert 16-81 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566
มาตรการ: การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ (DWPE)
สาเหตุ: ตรวจพบการเจือปนของเชื้อโรคซาลโมเนลลา (Presence of Salmonella) ซึ่งเป็นไปตามพรบ. ว่าด้วยอาหาร ยา และเครื่องสำอางของรัฐบาลกลาง (Federal Food, Drug, and Cosmetic Act) ใน Section 801(a)(3) ซึ่งระบุให้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าที่มีการเจือปนของเชื้อโรคซาลโมเนลลา ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

รายชื่อบริษัทจากประเทศไทยที่ถูกขึ้นบัญชีแดง (Red List):

  1. Queen Marine Products Co., Ltd. (Plant)
    สินค้า: อาหารทะเลรวม (Mixed Fishery/Seafood Products)
  1. S2K Marine product Co., Ltd.
    สินค้า: อาหารทะเลรวม (Mixed Fishery/Seafood Products)
  1. Narong Seafood Co., Ltd.
    สินค้า: กุ้ง (Shrimp & Prawns), อาหารทะเลซึ่งมาจากการเพาะเลี้ยง (Aquaculture harvested Fishery/Seafood Products)
  1. Overseas Marine and Cold Storage Co., Ltd.
    สินค้า: กุ้ง (Shrimp & Prawns), อาหารทะเลซึ่งมาจากการเพาะเลี้ยง (Aquaculture harvested Fishery/Seafood Products)
  1. Phatthana Seafood Co., Ltd. (Songhkla Factory)
    สินค้า: กุ้ง (Shrimp & Prawns), อาหารทะเลซึ่งมาจากการเพาะเลี้ยง (Aquaculture harvested Fishery/Seafood Products)
  1. The Union Frozen Products Co., Ltd.
    สินค้า: อาหารทะเลรวม (Mixed Fishery/Seafood Products)
  1. Magnate and Syndicate Co., Ltd.
    สินค้า: กุ้งล็อบสเตอร์ สด – แช่แข็ง (Lobster, Raw – Fresh, Frozen, Natural state) , กุ้งมังกร สด – แช่แข็ง (Spiny Lobster, Raw – Fresh, Frozen, Natural state), กั้งกระดาน สด – แช่แข็ง (Slipper Lobster, Raw – Fresh, Frozen, Natural state)
  1. Mahanakhon Seafood Co., Ltd.
    สินค้า: กุ้ง (Shrimp & Prawns), อาหารทะเลซึ่งมาจากการเพาะเลี้ยง (Aquaculture harvested Fishery/Seafood Products)
    หมายเหตุ: สามารถตรวจสอบประกาศฉบับเต็มได้ที่: https://www.accessdata.fda.gov /cms_ia/import alert_49.html

5.2 Import Alert 16-129 (ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566)
มาตรการ: การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ (DWPE) ซึ่งเมื่อตรวจสอบว่าพบสารเจือปน จะถูกปฏิเสธการนำเข้าสินค้า
สาเหตุ: ตรวจพบการเจือปนของสารไนโตรฟูราน (Nitrofurans) ซึ่งเป็นไปตามพรบ.ว่าด้วยอาหาร ยา และเครื่องสำอางของรัฐบาลกลาง (Federal Food, Drug, and Cosmetic Act) ใน Section 801(a)(3) ซึ่งระบุให้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าที่มีการเจือปนของยาสำหรับสัตว์ และสารไนโตรฟูราน ซึ่งอาจเป็นอันตราย

รายชื่อบริษัทจากประเทศไทยที่ถูกขึ้นบัญชีแดง (Red List):
1. Okeanos Food
สินค้า: กุ้ง (Shrimp & Prawns), อาหารทะเลซึ่งมาจากการเพาะเลี้ยง (Aquaculture harvested Fishery/Seafood Products), กุ้งชุบแป้ง (Shrimp & Prawn Breaded), ซุปกุ้ง(Shrimp chowder/soup/stew /bisque), พาสต้าสอดไส้กุ้ง (Stuffed pasta with Shrimp), เกี๊ยวกุ้ง (Shellfish Dumplings), อาหารทะเลรวม (Mixed Fishery/Seafood Products)

หมายเหตุ สามารถตรวจสอบประกาศฉบับเต็มได้ที่: https://www.accessdata.fda.gov/cms_i a/importalert_31.html

5.3 Import Alert 16-18 (ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566)
มาตรการ: การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ (DWPE)
สาเหตุ: ตรวจสอบคุณภาพด้านสุขอนามัย เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก (Filth) การเน่าบูด (Decomposition) และเชื้อโรคซาลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งเป็นไปตามพรบ.ว่าด้วยอาหาร ยา และเครื่องสำอางของรัฐบาลกลาง (Federal Food, Drug, and Cosmetic Act) ใน Section 801(a)(3) ซึ่งระบุให้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าที่มีตรวจพบสิ่งสกปรก สิ่งเน่าเหม็น หรือเน่าบูด ซึ่งไม่อยู่ในสภาพแก่การบริโภค และเชื้อซาลโมเนลลาซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

รายชื่อสินค้าจากประเทศไทยที่ถูกขึ้นบัญชีแดง (Red List):

  1. กุ้งสด (Shrimp & Prawn, Raw, Fresh, Ambient)
  2. กุ้งแช่เย็น (Shrimp & Prawn, Raw, Fresh, Refrigerated)
  3. กุ้งแช่แข็ง (Shrimp & Prawn, Raw – Fresh, Frozen, Natural State)
  4. กุ้งบรรจุห่อที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อเชิงการค้า (Shrimp & Prawn Packaged Food – Not Commercially Sterile)
  5. กุ้งเพาะเลี้ยงสด (Shrimp & Prawn, Aquaculture Harvested, Raw, Fresh, Ambient)
  6. กุ้งเพาะเลี้ยงแช่เย็น (Shrimp & Prawn, Aquaculture Harvested, Raw, Fresh, Refrigerated)
  7. กุ้งเพาะเลี้ยงแช่แข็ง (Shrimp & Prawn, Aquaculture Harvested, Raw – Fresh, Frozen, Natural State)
  8. กุ้งเพาะเลี้ยงบรรจุห่อที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อเชิงการค้า (Shrimp & Prawn, Aquaculture Harvested, Packaged Food – Not Commercially Sterile)หมายเหตุ: สามารถตรวจสอบประกาศฉบับเต็มได้ที่: https://www.accessdata.fda.gov/ cms_ia/importalert_35.html

 5.4 Import Alert 99-21 (ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566)
มาตรการ: การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ (DWPE)
สาเหตุ: ตรวจพบการเจือปนของสารตระกูลซัลไฟต์ที่ไม่ได้สำแดง (Undeclared Added Sulfiting Agents) ยกตัวอย่างเช่น สารโซเดียมไดออกไซด์, สารโซเดียมไบซัลไฟต์, สารโพแทสเซียมไบซัลไฟต์, สารโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ และสารโพแทสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ โดยพบว่าส่วนผสมของสารดังกล่าวไม่ถูกสำแดงบนฉลากของผลิตภัณฑ์ จึงทำให้อาจเข้าข่ายการบิดเบือนเครื่องหมายการค้า (Misbranding) ซึ่งเป็นไปตามพรบ.ว่าด้วยอาหาร ยา และเครื่องสำอางของรัฐบาลกลาง (Federal Food, Drug, and Cosmetic Act) ใน Section 801(a)(3) ซึ่งระบุให้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าที่มีการบิดเบือน หรือปลอมแปลงข้อมูลฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้า

รายชื่อบริษัทจากประเทศไทยที่ถูกขึ้นบัญชีแดง (Red List):
1. Sam-D Farm Co., Ltd.
สินค้า: กุ้ง (Shrimp & Prawn)
หมายเหตุ สามารถตรวจสอบประกาศฉบับเต็มได้ที่: https://www.accessdata.fda.gov /cms_ia/importalert_265.html

 5.5 Import Alert 16-04 (ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2566)
มาตรการ: การกักกันสินค้าไว้ก่อนการตรวจสอบทางกายภาพ (DWPE)
สาเหตุ: ตรวจพบการบิดเบือนข้อมูลฉลากผลิตภัณฑ์สินค้า (Misbrand) โดยพบว่ามีอาหารทะเลบางประเภทที่แสดงข้อมูลชื่อ ประเภท หรือสายพันธุ์ของอาหารทะเลตามภาษาท้องถิ่น (Vernacular) ไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นไปตามพรบ.ว่าด้วยอาหาร ยา และเครื่องสำอางของรัฐบาลกลาง (Federal Food, Drug, and Cosmetic Act) ใน Section 801(a)(3) ซึ่งระบุให้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าที่มีการบิดเบือน ปลอมแปลง หรือไม่สามารถใช้ชื่อที่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปได้ตามข้อมูลฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้า โดยอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวสินค้า

รายชื่อบริษัทจากประเทศไทยที่ถูกขึ้นบัญชีแดง (Red List):
1. B.S.A. Food Products Co., Ltd.
สินค้า: กุ้งก้ามกราม/กุ้งแม่น้ำ (Macrobrachium Rosenbergii, Giant freshwater / River prawn), กุ้งขาว (Pacific White Shrimp, Litopenaeus Vannamei), กุ้งฝอย (Gura Essa), กุ้งลายเสือ (King Prawn)
หมายเหตุ สามารถตรวจสอบประกาศฉบับเต็มได้ที่: https://www.accessdata.fda.gov/ cms_ia/importalert_13.html#:~:text=Reason%20for%20Alert%3A&text=***%20FDA%20has%20found%20shipments,products%20into%20the%20United%20States.

6. มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping)
ความเป็นมาของมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการผลักดันให้มีการทบทวนดังกล่าวโดย คณะกรรมการเฉพาะมาตรการทางการค้ากุ้ง (The Ad Hoc Shrimp Trade Action Committee: AHSTAC) และสมาคมผู้ผลิตกุ้งแห่งสหรัฐฯ (American Shrimp Processors Association: ASPA) ทำให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ โดยคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (International Trade Commission: ITC) มีมติรับการพิจารณาทบทวนในเวลาต่อมา
ในปัจจุบันประเทศไทย (พร้อมกับประเทศจีน อินเดีย และเวียดนาม) กำลังอยู่ภายใต้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้งแช่งแข็ง (Frozen Warmwater Shrimp) ภายหลังสิ้นสุดกระบวนการทบทวนการต่อมาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี (Sunset review of Antidumping Duty) ซึ่งได้มีการแผยแพร่รายงานผลการทบทวนฯ ช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 เป็นต้นมา

รายละเอียดสินค้าที่เข้าข่ายถูกจัดเก็บภาษีฯ ประกอบด้วย

6.1 ประเภทของสินค้ากุ้ง
สินค้ากุ้งแช่แข็งไม่ว่าจะจับได้ตามธรรมชาติ (Wild-Caught / Ocean-Harvested) และจากการเพาะเลี้ยง (Produced by Aquaculture), กุ้งธรรมดา และกุ้งตัดแต่งหัว (Head-on or Head-off), ปอกเปลือก และยังไม่ปอกเปลือก (Shell-on or peeled), กุ้งธรรมดา และกุ้งตัดแต่งหาง (Tail-on or Tail-off), กุ้งธรรม และกุ้งที่ตัดแต่งผ่าหลังมาพร้อมใช้ (Deveined or not), กุ้งสด หรือกุ้งดิบ (Cooked or Raw) และอื่น ๆ ที่ส่งออกในรูปกุ้งแช่แข็งทั้งหมด

6.2 สายพันธุ์ของกุ้ง
กุ้งกว่า 12 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึง กุ้งก้ามกราม (Giant River Prawn) และกุ้งลายเสือ (Giant Tiger Prawn) ถูกนับรวมด้วย

6.3 ผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูป
6.3.1 กุ้งแช่แข็งพร้อมเครื่องหมักหรือเครื่องเทศ หรือซอสใด ๆ
6.3.2 อาหาร (Food Preparations) ยกเว้นอาหารพร้อมทาน (Prepared Meals) ซึ่งมีส่วนผสมของกุ้งมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป

ทั้งนี้ กุ้ง / ผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปที่ไม่ถูกนับรวม ได้แก่

  1. กุ้งชุบแป้ง (Breaded Shrimp and Prawns)
  2. กุ้งสายพันธุ์ในตระกูล Pandalidae หรือกุ้งแดง หรือกุ้งน้ำเย็น (Coldwater Shrimp)
  3. กุ้งสด (Fresh Shrimp and Prawns)
  4. กุ้งซึ่งเป็นส่วนผสมในอาหารพร้อมทาน (Shrimp and Prawns in Prepared Meals)
  5. กุ้งแห้ง (Dried Shrimp and Prawns)
  6. ซอสกุ้ง (Shrimp Sauce) ตรา Lee Kum Kee
  7. กุ้งน้ำอุ่นกระป๋อง (Canned Warmwater Shrimp and Prawns)
  8. กุ้งชุบแป้ง (Battered Shrimp) ซึ่งเป็นไปตามคุณลักษณะที่กำหนดเฉพาะ

 จะเห็นได้ว่ากฎระเบียบในการนำเข้ากุ้งมายังสหรัฐฯ นั้นอยู่ภายใต้กฎระเบียบเข้มงวดของ USFDA กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ซึ่งนอกเหนือจากข้อกำหนด และมาตรฐานที่กล่าวไปในข้าวต้นนั้น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้ส่งออกกุ้งควรพิจารณา อาทิ หลักเกณฑ์การผลิตที่ดีและเป็นปัจจุบัน (Current Good Manufacturing Practice: CGMP) ซึ่งยึดหลักเกณฑ์ตามโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) เพื่อป้องกันอันตราย หรือสิ่งปนเปื้อนทางชีวภาพ เคมี และกายภาพของอาหาร และผู้นำเข้าต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการเรื่อง Foreign Supplier Verification Programs (FSVP) for Importers of Food for Humans and Animal เป็นต้น นอกจากนี้ USFDA ยังมีกฎระเบียบกำหนดชัดเจนเรื่องยาปฏิชีวะที่อนุญาตให้ใช้ในการเลี้ยงกุ้งได้ วิธีและกระบวนการตรวจสอบกุ้งที่ด่านนำเข้า การปฏิเสธการนำเข้าสินค้าที่อาจเป็นอันตรายต่อการบริโภค และ การประกาศเตือนแหล่งที่มาของสินค้าที่อาจเป็นอันตรายต่อการบริโภคได้

6. โอกาสสำหรับสินค้ากุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯ

 6.1 ตัวอย่างสินค้าไทยที่มีศักยภาพ
จากข้อมูลสถิติการนำเข้าสินค้ากุ้งมายังสหรัฐฯ ปรากฎเป็นที่ชัดเจนว่าสินค้ากุ้งแปรรูปนั้นถือว่าเป็นสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกมากกว่าสินค้ากุ้งอื่น ๆ เนื่องจากการที่ประเทศไทยมีสัดส่วนนำเข้าอยู่ถึงร้อยละ 13 ของทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยสามารถต่อยอดเพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางการตลาดได้ โดยอาจเพิ่มสินค้ากุ้งแปรรูปที่แปลกใหม่และแตกต่างออกไปจากที่มีอยู่แล้วในตลาด เช่น สินค้ากุ้งแปรรูปอาหารไทยเมนูต่าง ๆ อาทิ กุ้งพันอ้อย กุ้งอบวุ้นเส้น หรือแม้กระทั่งเกี๊ยวกุ้ง ซึ่งอาจจะเพิ่มรสชาติตามอาหารไทยที่ชาวอเมริกันรู้จักดี เช่น รสชาติต้มยำ เป็นต้น ทั้งนี้ อาจพิจารณานำเอานวัตกรรมทางด้านอาหารมาประยุกต์ใช้ในตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ อันจะสามารถทำให้ยืดอายุการถนอมอาหาร คงรสชาติที่เข้มข้นความสดใหม่ของกุ้ง และความสะดวกสบายในการบริโภค

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

“ตัวอย่างสินค้ากุ้งแปรรูปไทยที่มีศักยภาพ”

 6.2 การเจาะตลาดสินค้ากุ้งในสหรัฐฯ
6.2.1 ศึกษาข้อมูลลักษณะพื้นฐานและความต้องการของกลุ่มลูกค้าในตลาด ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มผู้บริโภคกุ้งนั้นมีปริมาณค่อนข้างมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งที่จะเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้ากุ้งจากประเทศไทยอาจจะอยู่ที่กลุ่มสินค้ากุ้งแปรรูปมากกว่า เนื่องจากประเทศไทยมีความดดนเด่นในศักยภาพการผลิตซึ่งเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว โดยอาจพิจารณาเพิ่มรสชาติ หรือลูกเล่นที่แปลกใหม่ที่มีพื้นฐานจากอาหารไทยที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วนั้น ป้อนสู่ตลาดมากขึ้น
6.2.2 ผู้ผลิตต้องควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานของทางการสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด เนื่องจากหน่วยงานด้านอาหารและยา และกระทรวงการเกษตรของสหรัฐฯมีความเข้มงวดในระดับสูงต่อการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอาหารก่อนนำเข้ามายังสหรัฐฯ
6.2.3 ติดตามความเปลี่ยนแปลงของกระแสนิยมผู้บริโภคในตลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด และสินค้าให้เข้ากับกระแสสังคมได้
6.2.4 รับฟังความคิดเห็น และเสียงตอบรับของกลุ่มผู้บริโภค และใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อพัฒนา ต่อยอด หรือปรับปรุงสินค้าให้ตรงต่อความต้องการผู้บริโภคมากขึ้นต่อไป
6.2.5 แสวงหาผู้จัดจำหน่ายที่มีศักยภาพทางด้านการตลาด และการประชาสัมพันธ์ในเขตพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสรรหาตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายตามช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6.3 ผู้นำเข้าสินค้ากุ้งที่สำคัญในเขตสคต. ณ เมืองไมอามี

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

Pacific Coral Seafood Co., Inc.
ที่อยู่: 2240 Ne 2nd Ave Miami, FL 33137-4806
โทร: 305-573-8280
เว็บไซต์: www.pacific-coral.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

 Metafoods, LLC
ที่อยู่: 2970 Clairmont Rd Ne#510 Brookhaven, GA 30329-1638
เว็บไซต์: www.metafoodsllc.net

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

Tampa Maid Foods Inc.
ที่อยู่: 1110 County Line Rd Lakeland, FL 33815-3163
โทร: 863-683-2459

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

 King & Prince Seafood Corporation
ที่อยู่: 1 King And Prince Blvd Brunswick, GA 31520-8668
โทร: 888-391-5223
เว็บไซต์: www.kpseafood.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

Cheung Kong Holding, Inc.
ที่อยู่: 1121 Oakleigh Dr East Point, GA 30344-1820
เว็บไซต์: www.gounitedfood.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

Beaver Street Fisheries, Inc.
ที่อยู่: 1741 W St Beaver Jacksonville, FL 32209
โทร: 904-354-5661
เว็บไซต์: www.beaverstreetfisheries.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

Twin Tails Seafood Corporation
ที่อยู่: 8325 Nw 30th TerDoral, FL 33122-1916
โทร: 305-477-7360
เว็บไซต์: www.twintailsseafood.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

Jomara Seafood, Inc.
ที่อยู่: 2275 W 9th Ave Hialeah, FL 33010-2001
โทร: 305-885-4577
เว็บไซต์: www.jomaraseafood.com

รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้าสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ

AJC International Inc.
ที่อยู่: 1000 Abernathy Road NE, Suite 600 Atlanta, GA 30328
โทร: 404 252 6750
เว็บไซต์: www.jomaraseafood.com

7. ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปี 2012 ประเทศไทยเคยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้ากุ้งแช่งแข็ง (Frozen Shrimp) มายังสหรัฐฯ ซึ่งเคยมีส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 20% ทว่านับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าประเทศจีน เม็กซิโก และเอกวาดอร์ จะมียอดส่วนแบ่งสินค้ากุ้งแช่แข็งในตลาดสหรัฐฯ มากกว่าประเทศไทย

โดยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น Tridge Market Intelligence Analytics สำนักวิเคราะห์ด้านการตลาดที่มีชื่อเสียง  ได้ให้ข้อสังเกตถึงเหตุผลที่ทำให้สินค้ากุ้งแช่แข็งส่งออกจากประเทศไทยมายังสหรัฐฯ ลดน้อยถอยลง ซึ่งสามารถจำแนกได้ 2 เหตุผลหลัก ดังนี้

1. ราคาที่สูงเกินกว่าประเทศผู้ส่งออกอื่น ๆ (Uncompetitive Pricing)
ข้อมูลจากช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2012 พบว่าราคาเฉลี่ยของสินค้ากุ้งแช่แข็งไทยอยู่ที่ 8.8 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงกว่าราคาค่าเฉลี่ยของสินค้ากุ้งแช่แข็งนำเข้าในสหรัฐฯ เพียง 3.9% อยู่ที่ 8.6 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลกรัม และในทางกลับกันเทียบได้ว่าสินค้ากุ้งแช่แข็งจากประเทศไทยราคาต่ำกว่าสินค้ากุ้งแช่แข็งจากประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนามเสียอีก

ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2023 นี้ ราคาค่าเฉลี่ยของสินค้ากุ้งแช่แข็งนำเข้าในสหรัฐฯอยู่ที่ 8 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลกรัม แต่สินค้ากุ้งแช่แข็งจากประเทศไทยกลับสูงกว่า 69% โดยอยู่ที่ 13.5 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายสำคัญในตลาดสหรัฐฯ อย่างประเทศเอกวาดอร์นั้น สินค้ากุ้งแช่แข็งจากประเทศไทยมีราคาสูงกว่า 2 เท่าตัวเลยทีเดียว (สินค้ากุ้งแช่แข็งจากประเทศเอกวาดอร์ราคาอยู่ที่ 6.7 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลกรัม) ทั้งยังนับว่าสูงกว่าสินค้ากุ้งแช่แข็งจากประเทศอินเดีย และอินโดนีเซียอีกด้วย หรือสรุปได้โดยง่ายสถานการณ์ราคาสินค้ากุ้งแช่แข็งของประเทศไทยนั้นกลับด้านกันอย่างน่าตกใจเพียงในช่วงระยะเวลา 10 ปี

ในการนี้ Tridge Market Intelligence Analytics ได้ให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้ากุ้งแช่แข็งในประเทศไทยสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ประกอบด้วย

1.1 ราคาอาหารเพาะเลี้ยงกุ้งเพิ่มสูงขึ้น
ราคาต้นทุนอาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การเพาะเลี้ยงกุ้งบางส่วนในประเทศไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้าอาหารเพาะเลี้ยงกุ้งจากต่างประเทศ ซึ่งวิกฤติความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

1.2 ต้นทุนด้านพลังงาน และค่าแรงสูงขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่อย่างเม็กซิโก และเอกวาดอร์ จะพบว่าสถานการณ์ราคาต้นทุนทางพลังงาน และค่าแรงภายในประเทศไทยนั้นสูงกว่าสองประเทศอยู่พอสมควร

1.3 ต้นทุนด้านการขนส่งที่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณาปัจจัยทางภูมิศาสตร์แล้ว จะพบว่าการขนส่งสินค้าจากประเทศที่อยู่ใกล้สหรัฐมากกว่า (เช่นเม็กซิโก และเอกวาดอร์) ย่อมทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศถูกกว่าจากประเทศไทย

2. ความเสียเปรียบของประโยชน์ทางการค้า (Less Trade Advantages)
ประเทศไทยเสียเปรียบหลายประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อาทิ ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งต่างจากประเทศเม็กซิโก หรือระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) ซึ่งประเทศเอกวาดอร์ได้รับสิทธิพิเศษนี้ นอกจากนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงได้รับผลจากมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้อีกด้วย

 ภายใต้เงื่อนไขและความท้าทายของการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ที่ซึ่งการแข่งขันทางการค้ามีปัจจัยที่ลึกมากไปกว่าคุณภาพของสินค้านั้น กระบวนการผลิตและได้มาซึ่งสินค้านั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่าคุณภาพและราคาของสินค้า หลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำล้วนสามารถถูกแทรกแซงด้วยคำว่า “มาตรฐาน” สำหรับการผลิต/สินค้าได้ทั้งสิ้น อาทิ มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม มาตรฐานทางสุขอนามัย มาตรฐานทางสวัสดิภาพของแรงงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงจากรายงานข่าวข้างต้น ประกอบกับท่าที่ของภาคธุรกิจผู้ประกอบการที่สะท้อนออกมา ทำให้สินค้ากุ้งจากอินเดียถือว่าอยู่ในสถานะที่น่ากังวลและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมาตรการกีดกันทางการค้าซึ่งอาจมาในรูปแบบมาตรฐานในกระบวนการผลิตตามตัวอย่างที่ได้กล่าวไป

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ทางการค้าสำหรับสินค้ากุ้งจากประเทศไทยก็คือความเป็นไปได้ในส่วนแบ่งทางการตลาดที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากสินค้ากุ้งจากอินเดียจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้าดำเนินการ เนื่องจากข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่สหรัฐฯนำเข้าสินค้ากุ้งจากประเทศไทยเป็นอันดับที่ 5 ตามหลังอินเดีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้จากนี้จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวจากภาครัฐของสหรัฐฯที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มตอบโต้ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับกระบวบการผลิตสินค้ากุ้งจากประเทศอินเดีย ซึ่งอาจเป็นคุณสำหรับสินค้ากุ้งประเทศไทยหากมีมาตรการที่สินค้ากุ้งไทยผ่านมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ก็อาจเป็นโทษได้เช่นกันหากมีมาตรฐานที่แตกต่างไป

thThai