รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนมีนาคม 2567

1.สรุปภาพรวมทั่วไป

เศรษฐกิจ

สำนักงานสถิติแห่งชาติอิหร่าน (Statistical Centre of Iran : SCI)  รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิหร่านช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณปัจจุบัน ( 21 มิถุนายน-20 กันยายน 2566) เติบโตที่อัตราร้อยละ 5.1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ณ ราคาพื้นฐานคงที่ของปี 2554 ในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่า 2,196 พันล้านเรียล (รวมน้ำมันดิบ) ในขณะที่ตัวเลขดังกล่าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,089 พันล้านเรียล (รวมน้ำมันดิบ) โดยภาคเกษตรกรรมเติบโตติดลบร้อยละ 1.0 ภาคอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ ขยายตัวร้อยละ 6.9 และภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 4.6

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะแสดงตัวเลขการเพิ่มขี้นของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่การเติบโตนี้ยังไม่สากล กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอิหร่านสูงไม่ได้มากนัก ซึ่งตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของอิหร่านยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรังและความไม่มั่นคงด้านราคา และการอ่อนค่าของเงินสกุลท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการคว่ำบาตร ทำให้ประชาชนไม่สามารถวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคต เป็นเหตุให้พฤติกรรมผู้บริโภคและการออมทรัพย์ของประชาชนชาวอิหร่านในปัจจุบันเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเรื้อรัง ประชาชนชาวอิหร่านจะไม่ออมเงินหรือสะสมเงินสดไว้กับธนาคารในระยะยาวเนื่องจากค่าเงินสกุลท้องถิ่นมีค่าอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะเก็บออมเงินในรูปของการซื้อเงินตราในสกุลเงินต่างประเทศหรือซื้อเหรียญทองเก็บสะสมไว้เป็นทุนทรัพย์

ทั้งนี้ สถาบันเฟรเซอร์ (Fraser Institute) ได้จัดลำดับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ของโลกในปี 2023 จำนวน 165 ประเทศ พบว่า ประเทศอิหร่านจัดอยู่ในลำดับที่ 160 โดยสถาบันเฟรเซอร์ (Fraser Institute) ได้ประกาศค่าดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4.53 จาก 10 ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 4.58

อัตราเงินเฟ้อ
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิหร่าน (Statistical Centre of Iran : SCI)  รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคในครัวเรือน ของเดือนที่ 12 ปีอิหร่าน 1402 (20 ก.พ. – 19 มี.ค. 2567) อยู่ที่ 230.2 จุดซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มขี้นร้อยละ 32.3 และหากเทียบกับในช่วงระยะเวลา 12 เดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยสิ้นสุด ณ เดือนมีนาคมปีปัจจุบัน (เริ่ม 20 มี.ค.2566 – 19 มี.ค. 2567) เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของครัวเรือนแบบจุดต่อจุด หมายถึงร้อยละของการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมากับเดือนที่ 12 ปีอิหร่าน 1402 อัตราเงินเฟ้อของครัวเรือนแบบจุดต่อจุด อยู่ที่ร้อยละ 32.3  กล่าวคือในเดือนที่ 12 ของปีอิหร่าน 1402 ประชาชนอิหร่านใช้เงินในจำนวนที่มากกว่าเดือนที่ 12 ของปีอิหร่านที่ผ่านมา เพื่อจับจ่ายใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการชนิดเดียวกันเพิ่มขี้นร้อยละ 32.3

อย่างไรก็ตาม พบว่า อัตราเงินเฟ้อแบบจุดต่อจุดของเดือนที่ 12 ของปีอิหร่าน 1402 ลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนที่ 11 ปีอิหร่าน 1402 ตรงกับ 21 ม.ค. – 19 ก.พ. 2567)

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประจำปี หมายถึง ร้อยละของการเปลี่ยนแปลงของจำนวนดัชนีราคาเฉลี่ยในช่วงหนึ่งปีที่สิ้นสุด ณ เดือนปัจจุบัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งในเดือนที่ 12 ปีอิหร่าน 1402 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยครัวเรือนของประเทศสูงถึงร้อยละ 40.7 ซึ่งลดลง 1.8 จุด เมื่อเทียบกับช่วงหนึ่งปีเดียวกันที่สิ้นสุด ณ เดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยประจำเดือน หมายถึง ร้อยละของการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งจากรายงานวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อรายเดือนของดัชนีราคาผู้บริโภคชี้ให้เห็นว่าในเดือนที่ 12 ปีอิหร่าน 1402 (20 ก.พ. – 19 มี.ค. 2567) อัตราเงินเฟ้อในครัวเรือนของประเทศเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ร้อยละ 2.0 โดยอัตราเงินเฟ้อรายเดือนของกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ อยู่ที่ร้อยละ 1.6 และกลุ่มสินค้าและบริการที่นอกเหนือจากอาหารอยู่ที่ร้อยละ 2.2

 

การว่างงาน

ตามรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติอิหร่าน (Statistical Centre of Iran : SCI) ประชากรวัยทำงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 64,064,700 คน อัตราการว่างงานในฤดูใบไม้ร่วงปีอิหร่านปัจจุบัน 1402  (23 ก.ย. – 21 ธ.ค.2566) ลดลงเหลือร้อยละ 7.6 นับเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดที่บันทึกไว้นับตั้งแต่ปี 2005 ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมามีประชากรทำงานในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวน 2,430,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนการจ้างงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่ปี 2553 ทั้งนี้อัตราการว่างงานของประชากรอายุระหว่าง 15-29 ปีของฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 ที่ร้อยละ 8.2 ลดลงเป็นร้อยละ 7.6 ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2023 ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานต่ำที่สุดสำหรับกลุ่มอายุนี้นับตั้งแต่ปี 2021

การลงทุนจากต่างประเทศ

ทุกปีที่มีการจัดวาระการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ( UNCTAD ) จะมีการเผยแพร่สถิติที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากต่างประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งตามรายงาน พบว่า ในปี 2022 จำนวนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอิหร่านมีมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จำนวนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอิหร่านในปี 2021 มีมูลค่า 1.425 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หมายความว่าจำนวนการลงทุนจากต่างประเทศในอิหร่านในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 (หรือคิดเป็นมูลค่า 75 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งในบรรดาประเทศเอเซียตะวันตก 10 ประเทศ อิหร่านจัดอยู่ในประเทศที่ 4 ด้านการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรองจากประเทศซาอุดิอาระเบีย โอมานและบาห์เรน

ทั้งนี้ กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังอิหร่านรายงานว่า นับตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาลชุดที่ 13เข้ามาดำรงตำแหน่ง พบว่าในช่วง 11 เดือนของปีปัจจุบันมีการลงทุนจากต่างประเทศในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากน้ำมันดิบเป็นมูลค่ากว่า 55 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการลงทุนในส่วนของภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่า 3.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคเกษตรมูลค่า 580 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภาคบริการ 617 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และในภาคน้ำมันดิบมูลค่า 4.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ

2 . การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

กรมศุลกากรอิหร่าน (The Islamic Republic of Iran Customs Administration : IRICA) ได้รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของอิหร่านในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (21 มีนาคม 2566 – 19 กุมภาพันธ์ 2567) พบว่าอิหร่านส่งออกสินค้าไปต่างประเทศแล้วมูลค่า 44,890 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าลดลงร้อยละ 8.87 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ จีน อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกีและอินเดีย อิหร่านส่งออกสินค้าไปยังจีนมากที่สุด ด้วยมูลค่า 12,654 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 28.19 ของมูลค่าการส่งออก  ในส่วนของการค้ากับไทย อิหร่านส่งสินค้าออกไปไทยแล้วมูลค่า 334,509,783 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกหลักได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า โลหะ ยูเรีย สัตว์น้ำทะเลแช่แข็งและแช่เย็น สินค้าเกษตร เป็นต้น

การนำเข้า

ในช่วง 11 เดือนแรกของปีปัจจุบัน อิหร่านนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่า 59,884 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.11 โดยมีนำเข้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน ตุรกี เยอรมัน และอินเดีย โดยอิหร่านนำเข้าสินค้าจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากที่สุดคิดเป็นมูลค่า 18,766 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 31.34 ของการนำเข้า ในส่วนของการนำเข้าจากไทย อิหร่านนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่า 113,334,611 เหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่นำเข้าสำคัญ ได้แก่ เอ็มดีเอฟ ข้าวโพดหวาน สับประรดกระป๋อง อุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ ยางพารา  เป็นต้น

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศอิหร่านพบว่า ปริมาณรายได้ที่รัฐบาลอิหร่านได้รับจากการส่งออกสินค้านอกเหนือจากน้ำมันดิบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นได้ว่าอิหร่านได้รับผลกระทบของจากการคว่ำบาตร แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นจะสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศอิหร่านก็ตาม แต่ในทางกลับกันการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการแลกเปลี่ยน การขนส่ง และอื่นๆ รวมถึงการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของต้นทุน ทำให้กำลังการผลิต และการแข่งขันลดลง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าของอิหร่านลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาเงินตราต่างประเทศให้กับผู้นำเข้าภาคเอกชน ตลอดจนข้อจำกัดทางศุลกากร ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนภาคการผลิตซึ่งทำให้การผลิตภายในประเทศลดลงไปด้วย ปัจจุบันหากมีการนำเข้าสินค้าทางผู้นำเข้าจำเป็นต้องใช้เงินสกุลต่างประเทศที่ได้จากการส่งออกสินค้า ซึ่งเรียกว่า Import against Export ในการนำเข้าสินค้า

 

thThai