ผู้นำอียูไฟเขียว เปิดโต๊ะการเจรจาให้บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเข้าเป็นสมาชิกอียู

📰 ข่าวเด่นประจำเดือนมีนาคม 2567 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 
Cover Photo Credit: European Commission

 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ที่ประชุมคณะมนตรียุโรป (European Council) ประกอบด้วยผู้นำรัฐบาลของแต่ละรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ พร้อมทั้งประธานคณะมนตรียุโรป Mr. Charles Michel และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Ms. Ursula von der Leyen มีมติเป็นเอกฉันท์ อนุมัติการเปิดกระบวนการเจรจา (Accession Negotiations) ระหว่างประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนากับผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ

 

ก่อนหน้านี้ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาได้รับสถานะผู้สมัครสมาชิกสหภาพฯ (Candidate Country) อย่างเป็นทางการ ในเดือนธันวาคม 2565 หลังจากยื่นใบสมัครขอเป็นสมาชิกสหภาพฯ ในปี 2559 แม้บอสเนียฯ ยังคงต้องแก้ปัญหาทุจริตภาครัฐและการฟอกเงินต่อไป ตลอดจนเผชิญความท้าทายหลายประการในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทว่าก็ได้แสดงความคืบหน้าในการลงมือแก้กฎหมายที่เน้นเรื่องประชาธิปไตย หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการปฏิรูปการบริหารประเทศ ตามที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการยุโรป ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานของสหภาพยุโรป (European Integration) ไปบ้างแล้ว

 

อนึ่ง กระบวนการเจรจา (Accession Negotiations) หมายถึง รัฐบาลบอสเนียฯ ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์โคเปนเฮเกน (Copenhagen Criteria) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ประเทศผู้สมัครทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม ประกอบด้วย มีการปกครองแบบประชาธิปไตย เคารพในหลักสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองชนกลุ่มน้อย ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด มีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจต่างๆ ในการเป็นสมาชิกสหภาพฯ ยึดถือเป้าหมายในการบรรลุความเป็นเอกภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และการเงินของสหภาพฯ รวมถึงการรับประเทศสมาชิกใหม่ต้องไม่เกิดผลกระทบต่อระบบการบูรณาการยุโรป นอกจากนี้ รัฐบาลบอสเนียฯ ต้องแก้กฎหมายและนโยบายบริหารประเทศ 35 หมวด (Chapters of the Acquis หรือ Negotiation Chapters) ให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายของสหภาพฯ เช่น การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตเสรี การปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ การลดการผูกขาดของภาครัฐ การสนับสนุนการแข่งขันของภาคเอกชนในตลาด การปรับโครงสร้างอัตราภาษี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนโยบายทางการทหาร เป็นต้น เมื่อแก้กฎหมายแต่ละหมวดเสร็จแล้ว รัฐบาลบอสเนียฯ ก็จะต้องมาเจรจากับคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อขอรับการประเมินผลและคำแนะนำ และต้องให้ประเทศสมาชิกสหภาพฯ ทุกประเทศเห็นชอบด้วย กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาหลายปีจนกว่าจะบรรลุผลสัมฤทธิ์ครบทุกหมวดกฎหมาย และได้รับสถานะสมาชิกสหภาพยุโรปในที่สุด

 

 

💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭

มติดังกล่าวของที่ประชุมคณะมนตรียุโรป เป็นข่าวดีอย่างยิ่งกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เป็นประโยชน์กับเซอร์เบีย กล่าวคือจะกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การขยายตัวทางมูลค่าการค้า ตลอดจนเปิดทางสู่ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปและพันธมิตรที่ลึกซึ้งขึ้น ดังนี้

 

มิติทางเศรษฐกิจ

– การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจะขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างบอสเนียฯ และสหภาพยุโรป บอสเนียฯ จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขยายมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป และสร้างงานให้กับพลเมืองบอสเนียฯ ได้มากขึ้น

– แม้บอสเนียฯ จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปแล้วหลายโครงการแล้วก็ตาม ทว่าหากบอสเนียฯ เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเต็มตัว ก็จะสามารถขอรับเงินงบประมาณช่วยเหลือประเทศสมาชิก ที่มีไว้สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงาน และโครงการพัฒนาอื่นๆ ที่สำคัญได้มากขึ้น

– เนื่องจากสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบที่เข้มงวดควบคุมการประกอบธุรกิจและรับรองมาตรฐานต่างๆ เพื่อส่งบเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมืองและรักษาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตหรือนำเข้ามาบริโภคในสหภาพยุโรป อาทิ มาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานคุณภาพสินค้าอาหาร เป็นต้น ในระหว่างการเจรจาแก้กฎหมาย เมื่อบอสเนียฯ รับมาตรฐานเหล่านี้มาเป็นเกณฑ์ในประเทศของตน ก็จะทำให้สินค้าที่ผลิตในบอสเนียฯ มีคุณภาพทัดเทียมสินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรป สามารถแข่งขันในเวทีนานาชาติได้มากขึ้น

 

มิติทางการเมือง

– เมื่อพิจารณาว่า สหภาพยุโรปถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดในการสร้างสันติภาพในทวีปยุโรปภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของบอสเนียฯ จะช่วยให้รัฐบาลบอสเนียฯ ได้รับความช่วยเหลือ และมีกลไกระดับนานาชาติในการรักษาสันติภาพและจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเซิร์บ ชาวโครแอต และชาวมุสลิมบอสเนีย ที่เป็นต้นกำเนิดสงครามบอสเนียในช่วงปี 2535-2538

– ก่อนจะเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ประเทศนั้นๆ จะต้องดำเนินการปฏิรูปและแก้กฎหมายหลายประการเพื่อพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญที่ประชาคมยุโรปให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ฉะนั้น การแก้กฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อธำรงรักษากประชาธิปไตย หลักนิติธรรม เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน จะช่วยทั้งบูรณาการบอสเนียฯ สู่สังคมประชาคมยุโรป ตลอดจนลดการทุจริตและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบอสเนียฯ ในระยะยาวได้

– สหภาพยุโรปมีนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้ายและรักษาความมั่นคงชายแดน การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของบอสเนียฯ จะทำให้รัฐบาลบอสเนียฯ สามารถขอรับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์อยู่ และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงระดับภูมิภาคได้

 

ส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสหภาพยุโรปนั้น มีทั้งมิติเศรษฐกิจ คือโอกาสในการลงทุนและขยายตลาดที่กว้างขึ้น ส่วนมิติการเมือง คือการรับประกันความปลอดภัยและความมั่นคงของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ภาวะสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นตัวเร่งกระบวนการขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป เนื่องจากสหภาพยุโรปตระหนักว่าการขาดเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ และการมีอิทธิพลทางการเมืองของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่านและยุโรปตะวันออก อาจเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงในลักษณะเดียวกันได้ จึงอาจเป็นภัยต่อสหภาพยุโรปซึ่งมีพรมแดนติดกับภูมิภาคเหล่านี้ได้ เห็นได้จากการอนุมัติการเปิดการเจรจาแก้กฎหมายในลักษณะเดียวกันให้กับยูเครนและมอลโดวาเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ข้อพิจารณาสำคัญ คือกระบวนการแก้กฎหมายและเจรจานั้นใช้เวลานานหลายปี จึงไม่อาจคาดหวังผลลัพธ์ได้ในเวลาอันสั้น สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์จึงคาดว่าในระยะสั้น ประเทศคู่ค้าของบอสเนียฯ รวมทั้งประเทศไทย จะให้ความสนใจบอสเนียฯ ในฐานะตลาดที่มีศักยภาพมากขึ้น

 

เมื่อพิจารณาจากสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย จากฐานข้อมูล Global Trade Atlas ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ สินค้าอันดับหนึ่งที่ไทยส่งออกไปบอสเนียฯ ในปี 2566 คือ อาหารทะเลกระป๋อง (พิกัดศุลกากร 1604) มูลค่าราว 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 35.96% YoY คิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของยอดส่งออกสินค้าทุกรายการจากไทยไปบอสเนียฯ นอกจากนี้ อาหารทะเลนำเข้าจากไทยยังคิดเป็นสัดส่วนถึง 25% ของการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากคู่ค้าต่างประเทศทุกรายของบอสเนียฯ ทำให้เห็นว่าสินค้าอาหารทะเลแปรรูปเป็นสินค้าไทยที่ควรส่งเสริมเป็นอันดับหนึ่งในตลาดบอสเนียฯ

 

เนื่องจากบอสเนียฯ มีข้อจำกัดในการผลิตอาหารและเทคโนโลยีการเกษตรด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและการลงทุนการผลิตจากต่างประเทศ บอสเนียฯ จึงนำเข้าอาหารทะเลจากไทย ด้วยเป็นอาหารฮาลาล และสินค้าไทยเป็นสินค้าคุณภาพสูง ชาวมุสลิมซึ่งมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งประเทศบอสเนียฯ สามารถรับประทานได้ ทั้งนี้ บอสเนียฯ เป็นหนึ่งในประเทศไม่กี่ประเทศในทวีปยุโรปที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ จึงตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคยุโรปสำหรับสินค้าฮาลาล นับตั้งแต่ก่อตั้งหน่วยงานการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นแห่งแรกในทวีปยุโรปในปี 2549 อีกทั้งส่งเสริมธุรกิจ HORECA ในประเทศ ด้วยการชูนโยบาย Halal Tourism จับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมที่มีรายได้สูงจากภูมิภาคตะวันออกกลาง และจัดงานแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ฮาลาล Sarajevo Halal Fair

 

ทว่าผู้ส่งออกไทยก็เผชิญอุปสรรคสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังบอสเนียฯ คือ ภาษีนำเข้า อัตรา 10% เสียเปรียบคู่แข่งอย่างโครเอเชีย (สัดส่วนการนำเข้า 18.57% อัตราภาษี 0%) เยอรมนี (สัดส่วนการนำเข้า 4.19% อัตราภาษี 0%) และโปแลนด์ (สัดส่วนการนำเข้า 3.46% อัตราภาษี 0%) เนื่องจากบอสเนียฯ มีข้อตกลง SAA กับสหภาพยุโรป ที่เปิดเสรีการค้าระหว่างบอสเนียฯ กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เมื่อปี 2558

 

แม้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบอสเนียฯ ในปัจจุบันจะยังไม่มากนัก ทว่าบอสเนียฯ มีศักยภาพในการเป็นตลาดเริ่มต้น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเจาะตลาดภูมิภาคบอลข่านในภายต่อไป

 

ที่มาของข้อมูล

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
มีนาคม 2567

thThai