อินเดียเป็นประเทศที่มีการใช้ยางธรรมชาติมากเป็นอันดับสองของโลก รองจาก จีน และเป็นผู้ผลิตอันดับ 6 ของโลก

ในปีงบประมาณ 2566 อินเดียผลิตยางธรรมชาติได้ประมาณ 839,000 เมตริกตัน มีปริมาณการใช้ทั้งสิ้น 1.3 ล้านเมตริกตัน โดย 3 ใน 4 ของจำนวนเป็นการใช้ในประเภทกลุ่มยางรถยนต์ และท่อยาง ขณะที่ส่วนที่เหลือใช้กับผลิตภัณฑ์ยางทั่วไป แม้ว่าการใช้ยางในปี 2563/64 จะลดลงเนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด อย่างไรก็ตาม ในปีถัดมาเริ่มมีความต้องการใช้ยางเพิ่มมากขึ้น และปรับตัวสูงขึ้นในปีต่อๆ มา

ปัจจุบันราคายางกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อเดือนมกราคม 2567 ราคายางในตลาดอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ขณะที่ราคายางในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ซึ่งแม้ว่าราคายางของตลาดในประเทศจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคายางในตลาดต่างประเทศ แต่เนื่องจากอินเดียต้องพึ่งพาการนำเข้ายางธรรมชาติจากต่างประเทศในปริมาณเกือบ 500,000 ตัน ทุกปี หากสถานการณ์ในตลาดยังคงมีลักษณะของอุปทานที่หดตัวและการนำเข้าที่ล่าช้าต่อเนื่องไปอีกระยะ อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้ยาง ตัวอย่างเช่น ยางแผ่นรมควันชั้น 4 (RSS-4) ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมใช้ของอินเดีย ช่วงเดือนมกราคม 2567 มีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 164 รูปีอินเดียต่อกิโลกรัม ซึ่งหากอุปทานยังไม่ดีขึ้น คาดว่ามีแนวโน้มจะปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566/67 ของอินเดีย (เมษายน – พฤศจิกายน 2566) การผลิตยางในอินเดียเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณ 526,000 ตัน ขณะที่การบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 คิดเป็นปริมาณ 949,000 ตัน อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าทั้งปีงบประมาณ 2566/67 อินเดียจะสามารถผลิตยางได้ปริมาณ 855,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากปีก่อนหน้าที่ผลิตได้ปริมาณ 839,000 ตัน ขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-6 หรือคิดเป็นปริมาณ 1.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีปริมาณการใช้ที่ 1.35 ล้านตัน

อย่างไรก็ดี ราคายางแผ่นรมควันชั้น 4 (RSS-4) ในอินเดียที่เคยมีอัตราสูงกว่าราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS-3) ในตลาดโลกมาเป็นเวลาเกือบปี กลับถูกแซงหน้าในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตยางอินเดียมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะนำเข้ายางประเภท Technically Specified Rubber (TSR) หรือยางแท่งซึ่งมีราคาถูกกว่า โดยราคายางแท่งในตลาดโลกจะอยู่ที่ประมาณ 128 รูปีอินเดียต่อกิโลกรัม ขณะที่ยางแผ่นรมควันชั้น 3 มีราคาประมาณ 178 รูปีอินเดียต่อกิโลกรัม

สำหรับยางธรรมชาติที่อินเดียมีการนำเข้า 5 อันดับแรก จำแนกตามรหัส HS Code และอัตราภาษีนำเข้าที่มีการเรียกเก็บ มีรายละเอียดดังนี้

รหัส HS Code อัตราภาษีนำเข้า
400122- ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ทางเทคนิค (TSNR) 25% หรือ 30 รูปีอินเดียต่อกิโลกรัม
400121- ยางแผ่นรมควัน 25% หรือ 30 รูปีอินเดียต่อกิโลกรัม
400110 – น้ำยางธรรมชาติจะผ่านกรรมวิธีพรีวัลแคไนซ์เซชัน หรือไม่ก็ตาม 70%
400129 – ยางธรรมชาติในรูปแบบอื่นๆ 25% หรือ 30 รูปีอินเดียต่อกิโลกรัม
400130 – บาลาตา กัตตาเปอร์ชา กวายูล ชิเคิล และกัมธรรมชาติที่คล้ายกัน 10%

โดยมีมูลค่าการนำเข้าในปี 2564-2566 จำแนกตามรหัสสินค้า ได้ดังนี้

สถิติการนำเข้ายางธรรมชาติของอินเดีย
รหัสสินค้า

(HS Code)

2021 2022 2023 (ม.ค.-ส.ค.)
มูลค่า (เหรียญสรอ.) % Share มูลค่า (เหรียญสรอ.) % Share มูลค่า (เหรียญสรอ.) % Share
i) 400122 856,933,351 88.22 919,810,440 87.71 431,986,377 88
ii) 400121 97,488,795 10.04 108,838,381 10.38 44,937,375 9.15
iii) 400110 9,895,709 1.02 11,987,221 1.14 8,698,871 1.77
iv) 400129 7,068,867 0.73 7,890,217 0.75 5,228,754 1.07
v) 400130 1,707 0.00017 217,239 0.02 62,906 0.01
นำเข้ารวม 971,388,430 100 % 1048743498 100 % 490,914,283 100%

แหล่งนำเข้ายางธรรมชาติ 5 อันดับแรกของอินเดีย ประกอบด้วย เวียดนาม โกตดิวัวร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยก่อนหน้านี้อินเดียเคยนำเข้ายางแท่งจากอินโดนีเซียและประเทศผู้ผลิตในแถบอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งปี 2564 ที่ โคท ไอเวอรี่ เริ่มมาเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้ายางแท่งหลักของอุตสาหกรรมยางในอินเดีย

แหล่งนำเข้ายางธรรมชาติของอินเดีย
ประเทศ 2021 2022 2023 (ม.ค.-ส.ค.)
มูลค่า (เหรียญสรอ.) % Share มูลค่า (เหรียญสรอ.) % Share มูลค่า (เหรียญสรอ.) % Share
1. เวียดนาม 237,331,847 24.43 254,569,859 24.27 98,772,743 20.12
2. โกตดิวัวร์ 107,321,044 11.05 215,072,224 20.51 72,008,859 14.67
3. อินโดนีเซีย 286,141,815 29.46 207,178,444 19.75 165,725,611 33.76
4. มาเลเซีย 123,209,887 12.68 149,911,910 14.29 74,843,209 15.25
5. ไทย 104,354,202 10.74 105,942,889 10.1 48,374,816 9.85
อื่นๆ 113,029,635 11.64 116,068,172 11.08 31,189,045 6.35
นำเข้ารวม 971,388,430 100 1,048,743,498 100 490,914,283 100

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียยังไม่มีการพิจารณาลดภาษีนำเข้ายางธรรมชาติแม้ว่าจะมีการร้องขอจากผู้ผลิตยาง เนื่องจากยังมีความแตกต่างของราคาในตลาดอินเดียและตลาดโลกอยู่ เพื่อเป็นการควบคุมการนำเข้าและปกป้องผู้ผลิตในประเทศกว่า 1.3 ล้านราย อัตราภาษีนำเข้าในปัจจุบันจึงยังใช้อัตราที่ปรับปรุงเมื่อปี 2558 โดยมีการปรับลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาตการนำเข้ายางล่วงหน้าจาก 18 เดือน เหลือ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 พร้อมทั้ง ออกประกาศให้จำกัดให้นำเข้ายางธรรมชาติได้เฉพาะท่าเรือเจนไน และท่าเรือ Nhava Sheva (หรือ Jawaharlal Nehru Port) ในมุมไบ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา

แม้ว่ายางธรรมชาติจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.4 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศอินเดีย และมีสัดส่วน GDP ของภาคเกษตรน้อยมากคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.64 และกลับมีสัดส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมสูงถึงร้อยละ 3.63 ในปี 2561-2562

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมยางธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในระยะ 2 ปีข้างหน้า รอบปี 2567-2569 รัฐบาลอินเดียจึงเตรียมจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จาก 57,641 ล้านรูปีอินเดีย เป็น 70,869 ล้านรูปีอินเดีย เพื่อลดการนำเข้าในอนาคต โดยคณะกรรมการบริหารยางฯ จะให้การสนับสนุนเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรหรือผู้ปลูกยางทั้งปลูกใหม่และปลูกทดแทน โดยให้การช่วยเหลือสำหรับแหล่งเพาะปลูกเดิม อาทิ รัฐเกรละ รัฐกรณาฏกะ และรัฐทมิฬนาฑู บนเนื้อที่รวม 12,000 เฮกแตร์ ขณะที่แหล่งเพาะปลูกอื่นๆ อาทิ รัฐอานธรประเทศ รัฐโอดิสสา และรัฐทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย จะให้การช่วยเหลือบนเนื้อที่รวม 3,752 เฮกแตร์

นอกจากนี้ อินเดียยังมีโครงการ Indian Natural Rubber Organisation for Assisted Development (INROAD) ที่กำลังดำเนินการเพาะปลูกยางบนเนื้อที่ 200,000 เฮกแตร์ ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และรัฐเวสต์เบงกอล โดยมุ่งหวังให้ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกลายเป็นฐานการผลิตยางธรรมชาติขนาดใหญ่ใน 4-5 ปีข้างหน้า โดยในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปลูกยางไปแล้วภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นเนื้อที่เกือบ 70,000 เฮกแตร์

นอกจากการพยายามผลักดันของรัฐบาลอินเดียที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้ายางธรรมชาติแล้วนั้น กลุ่มผู้ผลิตยางเองก็ไม่ต้องการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและแสดงความสนใจที่จะลงทุนผลิตในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์และหน่วยงานภาครัฐ

ความเห็นของสคต. ณ เมืองเจนไน

ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก และในปี 2565 ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้ายางพาราอันดับ 4 ของโลก โดยสินค้ายางพาราที่ไทยมีการส่งออกมากที่สุด คือ ยางแท่ง รองลงมา คือ น้ำยางข้น ยางแผ่น และยางพาราอื่นๆ ตามลำดับ โดยไทยเป็นตลาดนำเข้าสินค้ายางอันดับ 5 ของอินเดีย แต่หากเทียบสัดส่วนการครองส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด ยังถือมีสัดส่วนไม่มากนัก ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นผลมาจากสินค้ายางพาราที่อินเดียมีการนำเข้ามาก ได้แก่ ยางแท่ง ซึ่งไทยมีศักยภาพในการส่งออกแต่มีตลาดส่งออกหลัก คือ จีน ส่วนสินค้ายางแผ่นรมควัน ซึ่งอินเดียมีความต้องการใช้ประโยชน์มากเป็นประเภทยางแผ่นรมควันชั้น 4 (RSS-4)  ขณะที่ไทยยางแผ่นรมควันที่ไทยผลิตเป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS-3)

อย่างไรก็ดี อินเดียยังถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้ายางพาราของไทย หากผู้ผลิตไทยต้องการขยายตลาด หรือหาแหล่งส่งออกใหม่ๆ ทดแทนตลาดเดิม อินเดียก็ถือเป็นตลาดทางเลือกอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ หากผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าตรงความต้องการของตลาด และมีราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ สำหรับผู้ผลิตไทยที่มีกำลังทุนที่จะขยายโรงงานผลิตในต่างประเทศ อาจพิจารณาร่วมทุนกับคู่ค้าในอินเดียเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางพาราในอินเดียได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอินเดีย และประเทศข้างเคียง เนื่องจากเป็นอุตสาหรรมที่รัฐบาลอินเดียให้การสนับสนุน

 

แหล่งข้อมูล:

  • Consumption of natural rubber in India from financial year 2017 to 2023, by end use, Statista

https://www.statista.com/statistics/275390/world-usage-distribution-of-natural-rubber/

  • Production volume of natural rubber in India from financial year 2006 to 2023, Statista

https://www.statista.com/

  • Rubber prices continue to soar, threaten to hit tyre market, Money Control, 29 January 2024

https://www.moneycontrol.com/

  • Natural Rubber Sector in India, Economic & Political Weekly, 5 February 2023

https://www.epw.in/

  • Govt hikes rubber sector support by 23% to ₹708 cr for next two years, Mint, 19 Feb 2024

https://www.livemint.com/

  • Assam: Rubber industry leaders eye northeast for natural resource potential, India Today NE, 23 February 2024

https://www.indiatodayne.in/

  • India attempts to revive its dwindling rubber industry, BBC, 9 June 2023

https://www.bbc.com/

  • INROAD project converts nearly 70,000 hectares into natural rubber plantations in northeast in three years, Economic Times, 23 February 2024

https://economictimes.indiatimes.com/

  • NIRT To Launch Three Nodal Rubber Training Centres In Northeast India, KNN India, 21 February 2024

https://knnindia.co.in/

  • Rubber, Department of Scientific and Industrial Research

https://www.dsir.gov.in/

การพัฒนาของอุตสาหกรรมยางในอินเดีย

thThai