เยอรมนีทุ่มเงินหลายพันล้านให้เอกชน…ผลักดันกระบวนการผลิตที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการเปิดการประมูลระดับยุโรปครั้งแรกของนาย Robert Habeck รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สภาวะอากาศสังกัดพรรคพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) ซึ่งในการประมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ (Klimaschutzverträge) และนาย Habeck ได้ออกมาเปิดเผยว่า “ระบบที่จะคัดสรรว่าใครควรจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล สามารถทำให้การประมูลในรอบแรกนี้ช่วยประหยัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายล้านตันเลยทีเดียว” นาย Habeck ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า รัฐบาลเยอรมันได้จัดสรรเงินทุนกว่า 4 พันล้านยูโร สำหรับการระดมทุนในครั้งนี้ โดยมีหลักการเบื้องต้นง่าย ๆ คือ เมื่อบริษัท/ภาคเอกชนได้ปรับเปลี่ยนสายการผลิตจากการใช้น้ำมันมาเป็นไฮโดรเจน บริษัทเหล่านี้จำเป็นจะต้องลงทุนในด้านดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมักมีราคาสูงกว่าแบบเดิม รัฐบาลจึงเข้ามารับหน้าที่ชดเชยส่วนต่างของต้นทุนที่เกิดขึ้นให้ และเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปหากการผลิตที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศก็จะมีราคาถูกลง จนบริษัทเหล่านี้จะสามารถชำระส่วนต่างของเงินสนับสนุนนี้คืนให้กับรัฐบาลได้ โดยเงินอุดหนุนเพื่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศนี้ควรนำไปใช้สนับสนุนบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงอย่างเช่นบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ ซีเมนต์ กระดาษ หรือยิปซั่ม เป็นต้น สำหรับบริษัทที่ใช้พลังงานมากนี้จัดเป็นตัวการหลักในการสร้างมลพิษต่อสภาวะอากาศมากเป็นพิเศษ ตามข้อกำหนดของกระทรวงฯ ได้นำเสนอข้อมูลต่อ Handelsblatt ว่า ภายใน 4 เดือนข้างหน้าภาคเอกชนจะสามารถสมัครขอเงินทุนสนับสนุนนี้ได้ โดยระยะเวลาการระดมทุนสูงสุดอยู่ที่ 15 ปี และการประมูลอีก 3 รอบจะตามมาในอนาคต

 

นับตั้งแต่ที่นาย Habeck เข้ารับตำแหน่ง เขาก็ต้องต่อสู้กับหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลพรรคเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP – Freie Demokratische Partei) และคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศฉบับนี้อย่างหนัก นอกจากนี้ ข้อตกลงฉบับนี้ยังเป็นการสร้างนโยบายขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อนโยบายกฎหมายลดเงินเฟ้อ (IRA – Inflation Reduction Act) ของสหรัฐอเมริกาที่พุ่งฉีดเม็ดเงินเข้าโครงการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศมากขึ้นอีกด้วย โดยในปี 2020 คณะรัฐบาลที่ประกอบด้วยกลุ่ม Union หรือกลุ่มสหภาพ ประกอบด้วยพรรค CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands (พรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี) และพรรค CSU – Christlich-Soziale Union in Bayern (พรรคสหภาพสังคมนิยมคริสต์เตียนแห่งนครรัฐบาวาเลีย) และพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) ได้มีการพิจารณาร่วมกันทึ่จะออกข้อตกลงการปกป้องสภาพภูมิอากาศสำหรับอุตสาหกรรมขึ้น ซึ่งในที่สุดรัฐบาลชุดปัจจุบัน (SPD, FDP และ Grünen) ก็ได้ทำการระบุเรื่องดังกล่าวลงในสัญญาเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล (Koalitionsvertrag) อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมฯ ก็ยังมีการถกเถียงกันมานานว่า ควรให้ “ความสำคัญ” กับโครงการนี้อย่างไร

 

ภาคอุตสาหกรรมเยอรมันเป็นตัวการหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1 ใน 5 ของประเทศ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ถูกผลักดันโดยใช้มาตรการจูงใจต่าง ๆ โดยให้บริษัทเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบและแหล่งพลังงานที่ได้จากแหล่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจะกำหนดราคาการค้าขายแลกเปลี่ยนแก๊สเรือนกระจก (Emissions Trading) ซึ่งนับว่าถูกกว่าการใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่เป้าหมายไม่มีความชัดเจน และไม่ค่อยยุติธรรมอย่างไรก็ดี นาย Habeck ก็ไม่เชื่อว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียวจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ นอกจากนี้บริษัทจำนวนมากยังคงหลีกเลี่ยงที่จะสร้างโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหันไปใช้พลังงานจากแหล่งหมุนเวียนอย่างไฮโดรเจนหรือไฟฟ้า แต่พวกเขายังต้องการที่จะพึ่งพาแหล่งพลังงานแบบเดิม อย่างเช่น แก๊ส น้ำมัน หรือถ่านหิน ต่อไป โดยการลงทุนในโรงงานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมีราคาสูงมากและการดำเนินงานก็มีต้นทุนที่สูง จึงทำให้สินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมักไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งจากการประมาณการของผู้เชี่ยวชาญไฮโดรเจนที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) จะมีราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลมาก ซึ่งเหตุนี้ในมุมมองของนาย Habeck เงินอุดหนุนหลายพันล้านในรูปแบบของข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ (Klimaschutzverträge) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจำกัดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมของภาคเอกชนให้อยู่ในกรอบที่สามารถคาดการณ์และลดความเสี่ยงลงได้ โดยเขากล่าวว่า “ข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ (Klimaschutzverträge) ทำให้เราสามารถรับประกันได้ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคเอกชนประสบความสำเร็จ” ซึ่งภายในปี 2045 ข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 350 ล้านตัน (โดยประมาณ) หรืออาจจะสูงถึง 20 เมกะตัน/ปี ซึ่งเป็นปริมาณ 1 ใน 3 ของเป้าหมายการลดค่าดังกล่าวจากภาคอุตสาหกรรมภายในปี 2030 ของรัฐบาลกลางเยอรมันเลยทีเดียว และในที่สุดพรรค FDP ก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศมาเป็นเวลานานก็ยอมอ่อนข้อให้ จนถึงขนาดที่นาย Lukas Köhler รองประธานกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค FDP พูดถึงข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศว่าเป็น “เครื่องมือที่เหมาะสนในการแข่งขันที่เป็นธรรมที่สุด” และข้อตกลงดังกล่าวจะสามารถเป็นตัว “เสริม” การซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างสมเหตุสมผลที่สุด และตรงกันข้ามกับนโยบาบเงินอุดหนุนจากรัฐแบบดั้งเดิม

 

โดยข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ (Klimaschutzverträge) มีคุณสมบัติพิเศษ 2 ประการที่ทำให้เป็นมาตรการที่ตอบสนองระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ได้แก่

 

  1. ภาครัฐสามารถได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนคืน

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าการผลิตพลังงานทดแทนจะขยายตัวขึ้น ซึ่งโอกาสที่การผลิตแบบเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศจะมีราคาถูกกว่าการผลิตแบบใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่วางแผนไว้ ซึ่งหากเป็นตามนั้นจริงบริษัทที่เกี่ยวข้องจะต้องชำระส่วนต่างคืนให้กับรัฐบาล ยกตัวย่างเช่น หากการระดมทุนเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ เมื่อบริษัทดำเนินการไป 15 ปี แต่บริษัทถึงจุดคุ้มทุน (Break-even-Point) เร็วกว่าที่กำหนดเพียง 10 ปีเท่านั้น ก็จะต้องการชำระเงินคืนให้กับรัฐบาลเป็นระยะเวลาเพียง 5 ปีที่เหลือ อย่างไรก็ตา มเอกชนยังมีอีกทางเลือกหนึ่งนั่นก็คือ การยกเลิกการใช้งานข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกรณีนี้ภาคเอกชนก็จะต้องชำระเงินคืนเพียงสามปีเท่านั้น ตามข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สภาวะอากาศ กระทรวงฯ ต้องการจัดการประมูลทั้งหมด 4 รอบ โดยวงเงินสนับสนุนรวมกันเป็นตัวเลข 2 หลักพันล้านโดยประมาณ จากข้อมูลของนาย Felix Banaszak สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกรีน ผู้ดูแลเรื่องนโยบายงบประมาณระบุว่า ปัจจุบันรัฐได้เตรียมเงินไว้ 23 พันล้านยูโรโดยประมาณ นาย Banaszak กล่าวว่า “สิ่งนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการและเพิ่มเงินทุนของภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุโรปของประเทศเรา” โดยเงินส่วนใหญ่มาจากกองทุนรวมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (KTF – Klima- und Transformationsfonds) ของรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตาม เหล่าข้าราชการของนาย Habeck ได้ออกมาเน้นย้ำว่า ข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ “ไม่ใช่เงินทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช้ถูกสร้างมาเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งหมดในประเทศเยอรมนี แต่เป็นเพียงจุดเริ่มเริ่มต้นเพื่อผลักดันให้ส่วนอื่นทำตามเท่านั้น”

 

  1. บริษัทต่าง ๆ จะต้องเข้าสู่การแข่งกันประมูล

ข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ (Klimaschutzverträge) นั้น จะมาในรูปแบบการประมูล ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่ทำเรื่องเข้ามาทุกบริษัทจะได้รับเงินสนับสนุนนี้ เฉพาะบริษัทออกมาประกาศสัญญาว่า จะประหยัด CO2 สูงสุดด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่านั้นที่จะได้รับเงินสนับสนุนดังกล่าวนี้ เพื่อระบุสิ่งนี้ให้เป็นรูปธรรมเอกชนจึงต้องตกลงราคาของ CO2 คงที่ต่อ 1 ตัน ขึ้นมา โดยกระบวนการประมูลที่กำลังเริ่มต้นอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่เสียทั้งหมด โดยมี “ขั้นตอนการเตรียมการ” ในช่วงฤดูร้อนปี 2023 มาระดับหนึ่งแล้ว เฉพาะบริษัทที่ดำเนินการตามขั้นตอนนี้สำเร็จเท่านั้นจึงจะสามารถสมัครในรอบการประมูลรอบแรกได้ รายงานจากวงในแจ้งว่า มีโครงการที่เกี่ยวข้องและนำมารวมพิจารณาเป็น “จำนวนสองถึงสามหลัก” แวดวงกระทรวงฯ กล่าวต่อว่า เป็นโครงการจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เคมี กระดาษ ซีเมนต์ เซรามิค เหล็ก แก้ว และ ยิปซั่ม ที่แจ้งความประสงค์ที่จะร่วมประมูลในครั้งนี้ โดยวัตถุประสงค์หลักของข้อตกลงด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ (Klimaschutzverträge) ก็คือเพื่อนำมาปิดช่องว่างด้านเงินทุนสำหรับบริษัทอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางนั้นเอง

 

จาก Handelsblatt 29 มีนาคม 2567

thThai