ภาพยนตร์ไต้หวันเรื่อง The Pig, The Snake and The Pigeon ภาพยนตร์แนวไล่ล่าผู้ร้าย กำกับโดยผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฮ่องกง Wong Ching-Po นำแสดงโดย Ethan Juan ดาราชายชื่อดังของไต้หวัน สามารถทำรายได้มากกว่า 500 ล้านหยวนแล้ว (ประมาณ 2,500 ล้านบาท) หลังจากเข้าฉายที่ประเทศจีนในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงทางสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียทั้งในไต้หวัน จีนและฮ่องกงเป็นอย่างมาก ความดังจากการเข้าฉายในเมืองจีนก็ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ที่มียอดวิวสูงที่สุดในไต้หวันหลังจากเข้าฉายใน Netflix ด้วย พร้อมทั้งส่งผลให้สินค้าที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ เช่น นาฬิกาข้อมือสีชมพูรูปหัวหมูและเบนโตะที่ Ethan Juan รับประทานอย่างเอร็ดอร่อยในภาพยนตร์ ก็ได้กลายมาเป็นสินค้าที่เหล่าชาวเน็ตจีนและไต้หวันให้ความสนใจเป็นอย่างมากตามไปด้วย 

ภาพยนตร์ไต้หวันโชว์พลังซอฟต์พาวเวอร์ ดันธุรกิจเบนโตะไต้หวันเฟื่องฟู

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิเรื่องด้วยฉากที่ เฉินกุ้ยหลิน (รับบทโดย Ethan Juan) ตัวเอกของเรื่องที่เป็นสมาชิกแก๊งค์มาเฟียนั่งรับประทานเบนโตะหมูทอดอย่างเอร็ดอร่อยในงานศพของมาเฟียระดับเจ้าพ่อ ซึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากลองชิม และมีคอมเมนต์เกี่ยวกับเบนโตะเป็นจำนวนมากในทำนองว่าเห็นแล้วรู้สึกหิว อยากลองชิม และสงสัยว่ารสชาติของเบนโตะเป็นยังไงกันแน่ ส่งผลให้คำค้นหาที่ว่า “เบนโตะแบบเดียวกับเฉินกุ้ยหลิน” กลายเป็นหนึ่งในคำค้นหายอดฮิตไปโดยปริยาย ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้โด่งดังในประเทศจีน ก็มี KOL ชาวจีน คือ Mr. RACHE ที่เป็นเจ้าของ Weibo ชื่อ “小紅書@RACHE” ซึ่งเจ้าตัวใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวัน ได้ทำการรีวิว “เบนโตะแบบเดียวกับเฉินกุ้ยหลิน” ซึ่งก็คือเบนโตะของร้าน formebento (豐米便當) ที่มี 2 สาขาอยู่ในเมือง Hsinchu เพื่อตอบข้อสงสัยของเหล่าชาวเน็ตจีนกัน โดยเห็นว่า มีทั้งข้าว หมูทอดสไตล์เจ้อเจียงชิ้นใหญ่และมีกับข้าวอีก 3 อย่าง ด้วยราคาเพียงประมาณ 105 บาท ทำให้มีความคุ้มค่าอย่างมาก ในขณะที่รสชาติจะจืดกว่าอาหารในประเทศจีนเล็กน้อย ซึ่งเจ้าของร้านได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อของไต้หวันว่า หลังจากภาพยนตร์ดังกล่าวโด่งดังในประเทศจีน ทางร้านก็ได้รับการติดต่อจากนักธุรกิจจีน/ไต้หวันหลายรายที่สนใจขอซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดในเมืองอื่นของไต้หวันรวมถึงตามเมืองใหญ่ของจีน เช่น เซินเจิ้น เซี่ยเหมิน เป็นต้น โดยร้านดังกล่าวได้อาศัยจังหวะที่เบนโตะของร้านกำลังได้รับความสนใจในไต้หวัน จัดกิจกรรมโปรโมทด้วยการออกแคมเปญกินเบนโตะแบบ All You Can Eat สำหรับการรับประทานในร้าน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากเหล่านักชิมในเมือง Hsinchu เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสินค้าที่กลายมาเป็นไฮไลท์เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ นาฬิกาข้อมือสีชมพูรูปหัวหมู ซึ่งเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่อาม่ามอบให้กับเฉินกุ้ยหลิน ซึ่งภาพความโหดและรุนแรงของเฉินกุ้ยหลินในภาพยนตร์ที่ขัดกับนาฬิกาข้อมือสีชมพูสดใสอย่างรุนแรง สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์เป็นอย่างมาก จนทำให้กลายมาเป็นอีก 1 ไอเท็มที่ได้รับความสนใจ และกลายเป็นสินค้ายอดนิยมระดับ Top 3 ของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซชื่อดังในประเทศจีนอย่าง Taobao จนทำให้สินค้าขาดตลาด

ที่มา: TVBS / United Daily News / Yahoo! News / ETtoday (March 15-18, 2567)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการต่อยอดกระแสความนิยมของภาพยนตร์ในเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านการสร้าง Word-of-mouth ทางอินเตอร์เน็ตด้วยจุดสนใจอื่นๆ ของภาพยนตร์ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง เช่นในกรณีของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการคอมเมนต์ของเหล่าชาวเน็ตจำนวนมากเกี่ยวกับความน่าอร่อยในการกินอาหารของเฉินกุ้ยหลิน หรือความขัดแย้งจากภาพความโหดร้ายของเฉินกุ้ยหลินกับนาฬิกาข้อมือสีชมพู   จนทำให้สินค้าทั้ง 2 อย่างนี้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก อีกทั้งการที่มี KOL มาช่วยสร้างกระแสความสนใจด้วยการรีวิวเพิ่มเติม ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการที่จะจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น จนทำให้เกิดโอกาสทางการค้ามากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

thThai