ธุรกิจไทยขยายการลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นในปี 2567

บริษัท SCB X Public Company Limited (SCBX) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ ประกาศว่าจะซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท Home Credit Vietnam เป็นราคา 20.97 ล้านล้านเวียดนามด่ง (ประมาณ 31,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจของธนาคารในระดับภูมิภาค

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ผู้อำนวยการของบริษัท SCBX กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการ Home Credit Vietnam เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท SCBX การเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์นี้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของเราในตลาดอาเซียนที่มีการเติบโตสูง และยังเพิ่มมูลค่าและเพิ่มผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นของเราในระยะยาว ประเทศเวียดนามมีการเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีประชากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จึงเป็นตลาดเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับบริษัท การซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายกลุ่ม SCBX เข้าสู่เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน บริษัท Home Credit Vietnam มีฐานลูกค้า 15 ล้านราย มีจุดขาย 14,000 แห่ง และทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ บริษัทนี้ จะทำหน้าที่เป็นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม SCBX ในเวียดนาม และสร้างผลกำไรเชิงบวกให้กับกลุ่มบริษัททันทีหลังจากการเข้าซื้อกิจการเสร็จสิ้น ซึ่งช่วยกระจายฐานรายได้ของกลุ่มบริษัทเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในอนาคต และรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนเพียงพอทั้งในบริษัท SCBX และธนาคารหลังจากธุรกรรมแล้วเสร็จ

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 บริษัท Central Pattana (เซ็นทรัลพัฒนา) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ค้าปลีกชั้นนำของไทย และเป็นสมาชิกของเครือ Central Group เปิดเผยว่า บริษัทย่อยของเครือ CPN Global Co., Ltd. ได้จัดตั้งบริษัทในเวียดนาม บริษัท CPN Global Vietnam จะเข้ามาดูแลการจัดการอสังหาริมทรัพย์แทนบริษัท Central Pattana เพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในอนาคต ด้วยทุนจดทะเบียน 20 พันล้านเวียดนามด่ง (ประมาณ 815,245 เหรียญสหรัฐ) โดยบริษัท CPN Global Co., Ltd. ถือหุ้นร้อยละ 100 การเข้ามาลงทุนในเวียดนามครั้งนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์การขยายธุรกิจของบริษัท Central Retail ซึ่งมีแผนลงทุนในเวียดนาม 1.45 พันล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนามตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2570 โดยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายยอดขาย 4.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มจำนวนร้านค้าเป็น 600 แห่งภายในปี 2570

บริษัท WHA Group ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทนิคมอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงานชั้นนำของไทย กำลังเดินหน้าขยายธุรกิจในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นอกเหนือจากนิคมอุตสาหกรรม WHA 1 – จังหวัดเหงะอาน (Nghe An) ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในระยะที่ 1 ด้วยอัตราการเช่าพื้นที่มากกว่าร้อยละ 77 และกำลังพัฒนาในระยะที่ 2 อยู่นั้น ทางบริษัทยังมีแผนพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอีก 3 โครงการ

นอกจากนี้ WHA Group ตั้งเป้าทำรายได้รวม 178 ล้านลูกบาศก์เมตรสำหรับทั้งการจัดการน้ำประปาและน้ำเสีย โดยแบ่งเป็น 142 ล้านลูกบาศก์เมตรในประเทศไทย และ 36 ล้านลูกบาศก์เมตรในประเทศเวียดนาม ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 14 โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายธุรกิจน้ำครบวงจรในนิคมอุตสาหกรรม WHA ใหม่และภายนอกนิคม รวมไปถึงความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในประเทศเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย กล่าวว่า ไทยกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศเวียดนามในภูมิภาคอาเซียน โดยมีมูลค่าการค้าประมาณ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนของประเทศไทยในเวียดนามยังเพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 735 โครงการ มูลค่ารวมมากกว่า 14 พันล้านเหรียญสหรัฐทำให้กลายเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 9 ของประเทศเวียดนาม ในปี 2567 ไทยและเวียดนามคาดว่าจะมีโอกาสอีกมากมายรออยู่ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นสู่ระดับใหม่คือ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership)” ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและกระชับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

(แหล่งที่มา https://vir.com.vn/ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2567)

 

วิเคราะห์ผลกระทบ

ประเทศไทยถือเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับที่ 9 ในตลาดเวียดนาม มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมค้าปลีก พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และภาคการธนาคาร ไทยและเวียดนามเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งสามารถสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกัน เวียดนามเป็นตลาดที่กำลังเติบโต มีการขยายตัวกำลังซื้อและจำนวนประชากร และมีความต้องการเปิดรับการลงทุน รวมทั้งสินค้าและบริการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ตลาดเวียดนามกำลังเปิดกว้างรับการลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากขึ้น ไทยและเวียดนามถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เนื่องจากความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม อาหาร และวิถีชีวิต ฯลฯ ที่มีร่วมกัน ประเทศไทยและเวียดนามจึงถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ สามารถสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกัน การที่นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ในภาคธุรกิจที่หลากหลาย  เป็นจุดแข็งในการสร้างเครือข่ายในการให้คำแนะนำสำหรับนักลงทุนไทย และผู้ประกอบการไทยรายใหม่ที่ต้องการขยายธุรกิจ หรือส่งออกสินค้าเข้ามาในตลาดเวียดนาม

thThai