ผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์เลือกรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นอาหารมื้อหลักมากขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Central Bureau of Statistics : CBS) รายงานว่า หนึ่งในสี่ของอาหารมื้อหลักทั้งหมดที่ผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์บริโภคในปีที่ผ่านมาเป็นอาหารมังสวิรัติ มากกว่าร้อยละ 40 ของชาวดัตช์รับประทานอาหารมังสวิรัติ 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ CBS ร่วมกับสถาบันสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Rijksinstituut voor Volksgezondheid en Milieu : RIVM) และศูนย์โภชนาการได้ทำการสำรวจ Health Survey/Lifestyle Monitor 2023 ซึ่งปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคมื้ออาหารมื้อหลัก 7 มื้อต่อสัปดาห์ ผลการสำรวจพบว่าในปีที่ผ่านมาร้อยละ 31 ของผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ไม่เลือกรับประทานอาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารมังสวิรัติเลย แต่มีสัดส่วนผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์เพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3 ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบเต็มตัวและไม่เคยรับประทานเนื้อสัตว์รวมถึงเนื้อปลา ร้อยละ 0.5 ของผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์เลือกรับประทานอาหารจากพืชหรืออาหาร Plant-based เป็นหลัก และร้อยละ 2 ของผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ไม่รับประทานเนื้อสัตว์แต่รับประทานปลา

 

แม้ว่าผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่จะยังคงบริโภคเนื้อสัตว์อยู่แต่ไม่ได้บริโภคทุกวัน และมีแนวโน้มที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 22 ของผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ยังคงรับประทานเนื้อสัตว์ แต่เลือกที่จะปรับเปลี่ยนไปรับประทานอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์หรือปลาอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ และร้อยละ 43 ของผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์เลือกรับประทานอาหารมังสวิรัติ 1 หรือ 2 วันต่อสัปดาห์

 

ในปี 2566 แรงจูงใจหรือเหตุผลหลักของผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง คือ สภาพภูมิอากาศ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อปี 2563 ที่เหตุผลหลักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเป็นเรื่องของสุขภาพ โดยร้อยละ 35 ของผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่เริ่มรับประทานเนื้อสัตว์น้อยลงในปีที่ผ่านมา ร้อยละ 57 ยังคงรับประทานเนื้อสัตว์ ส่วนผู้บริโภคที่รับประทานอาหารมังสวิรัติยังคงมีสัดส่วนเท่าเดิมตั้งแต่ปี 2563

 

ผลการสำรวจยังพบว่าผู้บริโภครับประทานอาหารมังสวิรัติบ่อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคที่รับประทานอาหารมังสวิรัติสม่ำเสมอหรือรับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 45 เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ร้อยละ 32 เป็นผู้ที่มีพื้นฐานการศึกษาวิชาชีพระดับสูง และร้อยละ 19 เป็นผู้ที่มีการศึกษาสายอาชีพระดับกลางหรือการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ที่มีอายุระหว่าง 25 – 35 ปี มักจะรับประทานอาหารมื้อหลักเป็นอาหารมังสวิรัติ และผู้บริโภคผู้หญิงมักเลือกที่จะไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือทานอาหารมังสวิรัติมากกว่าผู้ชาย

 

แม้ว่าผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่จะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทุกวันอีกต่อไป แต่ในฤดูร้อนที่ผ่านมา พบว่าการเติบโตของยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ที่มีเติบโตขึ้นมาหลายปีได้หยุดชะงักลง ซึ่ง  Pablo Moleman จากมูลนิธิ ProVeg กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติของ Innovation Curve และเนเธอร์แลนด์ได้ผ่านระยะแรกของการเติบโตนี้ไปแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับตัวและการพัฒนาของตลาด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

 

นอกจากปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงแล้ว ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ยังประสบกับปัญหาและได้รับผลกระทบจากบริษัทที่มีการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการเติบโตของตลาด โดยการเร่งรีบในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่และไม่ใส่ใจกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากนัก ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์เป็นครั้งแรกแต่ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติไม่อร่อยหรือไม่ตรงตามความคาดหวัง ไม่กลับมาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์อีกอย่างน้อยหนึ่งปี ทำให้บริษัทเหล่านั้นจะต้องใช้จ่ายเงินค่าโฆษณาเป็นจำนวนมากเพื่อดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์อีกครั้ง

 

ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์กำลังเผชิญกับปัญหาอื่นอีกด้วย โดย Vivera หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์สังเกตว่าผู้บริโภคมองว่าผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปมากเกินไป และมีการใช้เกลือปริมาณมากในกระบวนการผลิต แม้ว่าปัจจุบันจะมีการใช้เกลือลดน้อยลงแล้วก็ตาม แต่ความเข้าใจผิดของผู้บริโภคเกี่ยวกับปริมาณเกลือยังคงอยู่ และยังคงมีการพูดถึงประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง

 

Mark van Noorloos จากบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ Schouten กล่าวว่าหากมีผลการศึกษาพบว่ามีผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่มีปริมาณเกลือสูงเกินไป ผลการศึกษานั้นจะถูกนำไปเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อทั้งภาคส่วน Mark van Noorloos  ได้เน้นย้ำว่าการพัฒนาและการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ยังคงมีความจำเป็น แต่ผู้บริโภคมีความคาดหวังต่อผลิตภัณฑ์ที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยยังคงปรุงรสเนื้อสัตว์ด้วยเกลือและพริกไทยในการปรุงอาหารที่บ้านหรือก่อนรับประทานอยู่ดี การใช้เกลือจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์เท่านั้น

 

บทวิเคราะห์และความเห็นของ สคต.

ผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์ให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยหันไปบริโภคอาหารที่ทำจากพืชหรือผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น และลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะลดการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลทั้งเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นและเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย

 

แม้ว่าเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ในเนเธอร์แลนด์จะมีการหยุดชะงักไปบ้าง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Innovation Curve ซึ่งหากผู้ผลิตสามารถปรับตัวและพัฒนา รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพและรสชาติที่ดีขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคได้ ก็คาดว่าตลาดจะสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ของไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติและเนื้อสัมผัส เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภค และสามารถเจาะตลาดและขยายตลาดในเนเธอร์แลนด์และยุโรปได้มากขึ้น

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

thThai