น้ำตาลเป็นสารให้ความหวานที่ได้จากพืช ซึ่งมีการบริโภคมากที่สุดในโลก[1] โดยปัจจุบันมีการผลิตน้ำตาลในกว่า 110 ประเทศ ซึ่งน้ำตาลเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของหลายประเทศและเป็นที่ต้องการในปริมาณสูงจากทั่วโลกทั้งการบริโภคโดยตรง และใช้เป็นวัตถุปรุงแต่งในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยข้อมูลจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Organization: ISO) [2] ระบุว่าปริมาณน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตทั่วโลกมีแหล่งที่มาจากอ้อย (Sugar cane) และอีกร้อยละ 20 ผลิตได้จากหัวบีท (Sugar beet) โดยประเทศชิลีมีการปลูกและผลิตน้ำตาลจากหัวบีทเป็นหลัก เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและหนาวเย็น เหมาะสมต่อการเพาะปลูกหัวบีท ซึ่งแหล่งเพาะปลูกหลักอยู่ในแคว้นบิโอบิโอ (Bio bio) ในขณะที่อ้อยเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น ในกระบวนการผลิตน้ำตาล อาทิ น้ำตาลทรายดิบ (Raw sugar) และน้ำตาลทรายขาว (White sugar) ยังได้ผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นผลพลอยได้ (By product) เช่น กากน้ำตาล แอลกอฮอล์ ปุ๋ย และเอทานอล ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กากน้ำตาล ที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ และสามารถนำไปแปรรูปเป็นพาร์ติเคิลบอร์ดหรือเยื่อกระดาษเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม  เอทานอล เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ เป็นต้น

 

ข้อมูลจากกระทรวงการเกษตรของสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ปริมาณการค้าน้ำตาลในตลาดโลกในปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 125.3 ล้านตันจากจำนวนที่ผลิตได้ทั้งหมดที่ 183.5 ล้านตัน หากพิจารณาตามสัดส่วนปริมาณการผลิตทั่วโลกในปี 2566 ผู้ผลิตน้ำตาลรายสำคัญ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ บราซิล 41 ล้านตัน (22.4%) อินเดีย 36 ล้านตัน (19.6%) สหภาพยุโรป 15.5 ล้านตัน (8.5%) จีน 10 ล้านตัน (5.5%) และไทย 9.4 ล้านตัน (5.1%) ตามลำดับ[3]

 

ประเทศชิลีที่ผลิตน้ำตาลได้เพียง 115,000 ตัน[1] ในปี 2566 และมีการผลิตลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งน้ำตาลที่ชิลีผลิตได้มีปริมาณน้อยมากหากเปรียบเทียบกับประเทศ 5 อันดับแรก แต่ปริมาณความต้องการน้ำตาลภายในชิลีมีสูงถึง 810,000 ตัน หรือมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 704 โดยสถานการณ์ขาดแคลนน้ำตาลในปัจจุบันของชิลี ต้องทดแทนด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ และชิลีเป็นประเทศที่มีปริมาณการนำเข้าน้ำตาลมากเป็นอันดับที่ 24[2] ของโลก จากข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคในระดับไม่เกิน 50 กรัมต่อวัน[3] โดยค่าเฉลี่ยของการบริโภคน้ำตาลทั่วโลกอยู่ที่ 73 กรัมต่อวัน ในขณะที่ชาวชิลีมีการบริโภคเฉลี่ยถึง 110 กรัมต่อวัน สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)[4] ที่เปิดเผยว่าประเทศชิลีมีการบริโภคน้ำตาล (Sugar consumption per Capital) สูงถึง 40 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

 

จากข้อมูลรายงานของกรมศุลกากรชิลี (ADUANAS) ระบุว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ชิลีมีการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศกว่า 40 ประเทศ รวมมูลค่ากว่า 18,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.48 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน[1] หากพิจารณาการนำเข้าระหว่างปี 2564 – 2565 แม้จะมีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน แต่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมาก  เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละประมาณ 17.9 ต่อปี สาเหตุหลักของราคาที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เนื่องมาจากผู้ผลิตรายใหญ่เผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรง[2] และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งทั่วโลก

 

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

สาเหตุหลักของสถานการณ์ขาดแคลนน้ำตาลของชิลี คาดว่าเกิดจากปริมาณการบริโภคน้ำตาลในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปริมาณการบริโภคน้ำตาลสูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานโลก ในขณะที่กำลังการผลิตของชิลีไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวชิลี นิยมรับประทานของหวานหลังมื้ออาหาร ดื่มน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ขนมปัง เบเกอรี่ ขนมคบเคี้ยวต่าง ๆ รวมถึง แยมผลไม้ และโยเกิร์ต ซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น แม้ว่ารัฐบาลชิลีได้มีการบังคับใช้กฎหมายการติดฉลากแจ้งเตือนสารอาหารเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งน้ำตาลเป็นหนึ่งในสารอาหารที่มีการแจ้งเตือน รวมทั้ง การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบต่อการบริโภคน้ำตาล และการจัดเก็บภาษีความหวาน แต่ปริมาณการบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยต่อคนของประเทศชิลีก็ยังสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

 

ในมุมของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ อ้างอิงข้อมูลจากการเข้าพบหารือของ สคต. ณ กรุงซันติอาโก กับสมาคมผู้ผลิตอาหาร (Chile Alimentos) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยสมาคมดังกล่าวมีสมาชิกจำนวนกว่า 74 บริษัท และได้แจ้งให้ สคต.ฯ ทราบ ถึงผลกระทบจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำตาลของชิลี และราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยรัฐบาลชิลีอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ สมาคมฯ แจ้งเพิ่มเติมว่าสมาชิกหลายบริษัทต้องการนำเข้าน้ำตาลจากไทย เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายสำคัญและการขนส่งจากไทยไปยังชิลีมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งน้ำตาลทางบกจากบราซิลมายังชิลี

 

น้ำตาลเป็นวัตถุดิบสำคัญที่มีการใช้งานแพร่หลาย จากทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก ปัจจุบันการผลิต การส่งออก และการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กระแสการดูแลสุขภาพ และการเพิ่มขึ้นของสินค้าทดแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลที่เพิ่มมากขึ้นด้วย องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษกิจ (OECD) คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกจะมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 ต่อปี[1] ทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตตามไปด้วย โดยในปี 2567 นี้ กระทรวงการเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8.2 ล้านตัน[2] หรือมีปริมาณรวมประมาณ 185 ล้านเมตริกตัน เนื่องจากผู้ผลิตรายสำคัญของโลก เช่น บราซิล และอินเดีย เพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อย โดยในปีนี้สภาพอากาศค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อการผลิต และราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น สร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรให้หันมาปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าการบริโภคน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นอย่างมากตามการเติบโตของตลาด ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาน้ำตาลในตลาดโลกในแต่ละปีนั้น ได้แก่ สภาพอากาศ กำลังการผลิต สภาวะทางเศรษฐกิจ และความต้องการจากทั่วโลก

 

ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพด้านการส่งออกน้ำตาลในระดับต้นของโลก และจากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)[1] และกระทรวงการเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ระบุตรงกันว่า ในปี 2566 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลจำนวนกว่า 10 ล้านตัน ซึ่งเป็นการส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากบราซิล แม้ปริมาณการผลิตจะเป็นอันดับ 5 ของโลกก็ตาม โดยในปี 2567 นี้ การผลิตและส่งออกน้ำตาลในตลาดโลกคาดว่าจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น สะท้อนความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาน้ำตาลยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ปัญหาภัยแล้ง/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพเศรษฐกิจโลก และนโยบายควบคุมการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย (เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายสำคัญของโลก) นอกจากปัจจัยสำคัญหลักดังกล่าวอุตสาหกรรมน้ำตาลในปีนี้ ยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายเพิ่มเติม เช่น นโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low carbon economy) ความยั่งยืน กฎระเบียบและข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว และเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวและยกระดับศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยมีการกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกที่หลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไปและมีการจัดทำแผนฉุกเฉินต่อความเป็นไปได้ของฉากทัศน์ (Scenario) ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงการลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระแสความยั่งยืน เช่น การช่วยสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยสามารถลงทุนในแหล่งน้ำ หรือการสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เป็นต้น รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านระบบการผลิตไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำร่วมด้วย[2] หากผู้ประกอบการน้ำตาลไทย มีความสนใจที่จะส่งออกน้ำตาลมายังภูมิภาค ลาตินอเมริกา สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thaitrade@ttcsantiago.cl

__________________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

มีนาคม 2567

[1] https://www.oecd-ilibrary.org/docserver/08801ab7-en.pdf?expires=1708527228&id=id&accname=guest&checksum=663D4A773415D9A3445D739F73FB5A74

[2] https://www.scbeic.com/th/detail/product/9353

[1] https://www.oecd-ilibrary.org/docserver/08801ab7-en.pdf?expires=1709838137&id=id&accname=guest&checksum=CDDFAB98D280D14A809236B0D2580E23

[2] https://apps.fas.usda.gov/psdonline/circulars/sugar.pdf

[1] https://connect.ihsmarkit.com/gta/standard-reports/

[2] https://www.oecd-ilibrary.org/docserver/08801ab7-en.pdf?expires=1709838137&id=id&accname=guest&checksum=CDDFAB98D280D14A809236B0D2580E23

[1] https://fas.usda.gov/data/production/commodity/0612000

[2] sugar.pdf (usda.gov)

[3] https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/healthy-diet

[4] www.fao.org

[1] https://www.oecd-ilibrary.org/docserver/08801ab7-en.pdf?expires=1709838137&id=id&accname=guest&checksum=CDDFAB98D280D14A809236B0D2580E23

[2] https://www.isosugar.org/sugarsector/cane-and-beet

[3] sugar.pdf (usda.gov)

thThai