รายงานของศูนย์วิจัย FiBL (Research Institute of Organic Agriculture) ระบุว่าเดนมาร์กยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในตลาดออร์แกนิกด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 12
ผู้จัดการตลาดระหว่างประเทศของสมาคมเกษตรออร์แกนิกแห่งชาติของเดนมาร์กให้ความเห็นว่า แม้อุตสาหกรรมอาหารจะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น วิกฤตพลังงานและภาวะเงินเฟ้อตลอดปี 2565 แต่การที่เดนมาร์กยังคงครองตลาดสินค้าออแกนิกอย่างต่อเนื่องนับเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ โดยเฉพาะความพยายามจากหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างรากฐานให้แก่ตลาดออร์แกนิกในเดนมาร์ก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถิติล่าสุดจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มเชิงบวกและการเติบโตที่ดีของตลาดอาหารออร์แกนิกเมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป แต่อาจมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ทั้งนี้ เดนมาร์กอยู่ในอันดับที่สองของโลกด้วยการใช้จ่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกต่อหัวมากกว่า 2,700 โครนเดนมาร์ก รองจากสวิตเซอร์แลนด์ที่ใช้จ่ายมากกว่า 3,200 โครนเดนมาร์กต่อหัว
ในภาพรวม ตลาดออร์แกนิกกำลังเติบโตทั่วโลก โดยยอดขายอาหารออร์แกนิกในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 125,000 ล้านยูโร ในปี 2564 เป็น 135,000 ล้านยูโร ในขณะที่พื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดของโลก โดยมีสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีนเป็นผู้นำตลาดออร์แกนิกที่โดดเด่น
ที่มาของข่าว: https://www.fodevarefokus.dk/danmark-bevarer-den-oekologiske-foerertroeje/
Denmark statistics
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต.
• ตลาดออร์แกนิกในเดนมาร์กมีส่วนแบ่งตลาดที่สูงเนื่องจากความร่วมมือของรัฐบาลเดนมาร์กและภาคส่วนเกี่ยวข้อง โดยเดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่มีการปรับใช้ฉลากออร์แกนิก กฎระเบียบเกี่ยวกับสินค้า ออร์แกนิก และการตรวจสอบโดยภาครัฐ รวมทั้งเป็นประเทศแรกที่จัดทำแผนปฏิบัติการออร์แกนิกตั้งแต่ปี 2538
• เดนมาร์กนับเป็นประเทศที่แข็งแกร่งในตลาดสินค้าออร์แกนิก ดังนั้น การแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่น นับเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ตาม เดนมาร์กก็ยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยนอกเหนือจากผู้บริโภคชาวเดนมาร์กที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความยั่งยืน และราคาที่เอื้อมถึงแล้ว ผู้นำเข้ายังคงมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกสำหรับสินค้าอาหารเอเชียน
• สำหรับกลุ่ม food service ผลสำรวจแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ดี แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดยังคงเดิมที่ร้อยละ 13 แต่ยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 2,600 ล้านโครนเดนมาร์ก ในปี 2564 เป็น 3,300 ล้านโครนเดนมาร์ก ในปี 2565 นอกจากนี้ public kitchen ในเดนมาร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น โรงพยาบาล และโรงอาหารในออฟฟิศมักจะให้บริการเมนูอาหารที่หลากหลายในแต่ละวัน รวมถึงอาหารประจำชาติด้วย ซึ่งห้องครัวเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะต้องการใช้สินค้าที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าไทยที่มีโอกาส ได้แก่ เครื่องปรุงรส เครื่องแกง และเส้นก๋วยเตี๋ยว
นอกจากนี้ นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์กแล้ว ความยั่งยืนและราคายังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวเดนมาร์กให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับผู้ส่งออกของไทย