เกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าไทย-อิตาลี ประจำเดือนมกราคม 2567

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสมาพันธ์อุตสาหกรรมของอิตาลี (Confindustria) เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของอิตาลีในปี 2567 โดยสถานการณ์ด้านการค้าของอิตาลีในช่วงต้นปีจะค่อนข้างมีความเสี่ยง อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และลุกลามไปจนถึงการโจมตีเรือขนส่งสินค้า/เชื้อเพลิง ในเส้นทางทะเลแดง/คลองสุเอซ ส่งผลทำให้การส่งมอบวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต และสินค้าเกิดความล่าช้า ในขณะที่ ราคาน้ำมันและราคาพลังงานยังคงไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ราคาดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง
ธนาคารแห่งชาติอิตาลี (Banca d’Italia) ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์เศรษฐกิจอิตาลีในช่วงปี 2566 – 2569 โดยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ได้นำไปสู่ความตึงเครียดต่อราคาวัตถุดิบและตลาดการเงินมากนัก ซึ่งภายในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2567-2569) ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง สำหรับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมาขยายตัวเกือบ 3% ในปี 2567 ในขณะที่ สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคจะได้รับผลกระทบจากภาวะการเงินและเครดิตที่ค่อนข้างเข้มงวดขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบไปถึงการจัดทำงบประมาณในช่วงปี 2567-2569 รวมถึงการใช้เงินทุนของสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ Next Generation EU ที่เกี่ยวข้องกับแผนการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศของอิตาลี (Il Piano Nazionale di Ripresa e Resilienza – PNRR)
เกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าไทย-อิตาลี ประจำเดือนมกราคม 2567
โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (ISTAT) เปิดเผยตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 และขยายตัวอยู่ที่ 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 ในขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) เดือนมกราคม 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากราคาสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น (+0.6% จาก -0.1% ของเดือนธันวาคม 2566) โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าด้านพลังงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น (+1.2% จาก -2.3% ของเดือนธันวาคม 2566) แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้าในตลาดที่ได้รับการคุ้มครองและก๊าซสำหรับใช้ภายในครัวเรือน (+0.9%) (เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -3.2%) และราคาเชื้อเพลิงยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงในครัวเรือน และไฟฟ้าในตลาดเสรี (+1.3%) (เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -2.1%) ในขณะที่ หากเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.8% (เดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 0.6%) ซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น (จาก -1.5% ของเดือนธันวาคม 2566 เป็น -0.7%) โดยราคาสินค้าด้านพลังงานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น (จาก -24.7% ของเดือนธันวาคม 2566 เป็น -20.5%) แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้าในตลาดที่ได้รับการคุ้มครองและก๊าซสำหรับใช้ภายในครัวเรือน (จาก -41.6% ของเดือนธันวาคม 2566 เป็น -20.6%) และราคาเชื้อเพลิงยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงในครัวเรือน และไฟฟ้าในตลาดเสรี (จาก -21.1% ของเดือนธันวาคม 2566 เป็น -20.4%)
สำหรับการค้าระหว่างไทย-อิตาลี ในเดือนมกราคม 2567 พบว่า มีมูลค่า 477.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง 2.71% แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 253.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.31% และการนำเข้ามูลค่า 223.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง 11.23% ไทยเกินดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 29.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 320.74% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ทั้งนี้ ไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลีมาโดยตลอด โดยเดือนกันยายน 2566 ไทยได้ดุลการค้ากับอิตาลีครั้งแรกในรอบ 55 เดือน และในเดือนมกราคม 2567 ไทยกลับมาได้ดุลการค้ากับอิตาลีอีกครั้งในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่กันยายน 2566
เกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าไทย-อิตาลี ประจำเดือนมกราคม 2567
เดือนมกราคม 2567 การส่งออกของไทยไปอิตาลีมีมูลค่าทั้งสิ้น 253.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.31% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีมูลค่า 238.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยอิตาลีถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับ 22 ของตลาดส่งออกทั่วโลกของไทย และอันดับ 4 ของตลาดส่งออกในยุโรปของไทย (อันดับ 1-3 ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังอิตาลี 10 อันดับแรก มีดังนี้
เกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าไทย-อิตาลี ประจำเดือนมกราคม 2567
โดยพบว่าเดือนมกราคม 2567 กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกมายังอิตาลีมีมูลค่ามากที่สุด คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 216.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง 0.12 % โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับดือนมกราคม 2566 เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (+0.42%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+364.19%) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+29.84%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+28.24%) เป็นต้น รองลงมา ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม มีมูลค่า 19.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 132.57% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง (+160.57%) ยางพารา (+161.64%) ข้าว (+64.43%) เป็นต้น และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่า 17.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.68% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง (+47.53%) เครื่องดื่ม (+188.66%) สิ่งปรุงรสอาหาร (+8.35%) เป็นต้น
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
สถานการณ์ความไม่สงบของตะวันออกกลาง และการโจมตีเรือขนส่งสินค้าที่มุ่งสู่ทะเลแดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งเชื้อเพลิง ในเส้นทางระหว่างเอเชียและยุโรปต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือใหม่ ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาการส่งมอบสินค้าในยุโรป/อิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาปกติประมาณ 15-30 วัน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายแสดงความกังวลเป็นอย่างมาก และคาดการณ์ว่าช่วงต้นปี 2567 การค้าระหว่างเอเชีย-ยุโรป อาจเกิดการชะลอตัวไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลตัวเลขการค้าระหว่างไทย – อิตาลี ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยมายังอิตาลี ในเดือนมกราคม 2567 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้สถานการณ์ความขัดแย้ง และการเพิ่มขึ้นของราคาค่าขนส่งทางเรือยังคงน่าเป็นห่วง โดยสินค้าไทยหลายรายการที่ยังคงมีโอกาสในการขยายการส่งออกมายังตลาดอิตาลีในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 เช่น สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง ยางพารา เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทยมายังตลาดอิตาลี
——————————————————————-
ที่มา: 1. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร 2. สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี https://www.istat.it/en/ และ 3. หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจออนไลน์ Il sole 24 ore

thThai