โอกาสและความท้าทายการค้าปลีกในฟิลิปปินส์

 

                   ภาคการค้าปลีกเป็นหนึ่งภาคส่วนสำคัญที่มีเสถียรภาพมากขึ้นของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในฟิลิปปินส์ซึ่งเกิดจากการที่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขับเคลื่อนโดยการบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ และภาคการค้าปลีกของฟิลิปปินส์ยังได้รับแรงผลักดันจากการส่งเงินกลับจากแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาพแวดล้อมด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของฟิลิปปินส์ ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้าปลีกต่างชาติที่วางแผนจะเข้าสู่หรือขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากความสนใจที่มากขึ้นจากผู้ค้าปลีกต่างชาติที่จะเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในฟิลิปปินส์ส่งผลให้มีการดูดซับพื้นที่ค้าปลีกทั่วประเทศฟิลิปปินส์มากขึ้น และ  ยังช่วยเพิ่มอัตราค่าเช่าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานการค้าปลีก ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้จ่ายเพื่อแก้แค้นที่ลดลงและต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่อาจขัดขวางการเติบโตของภาคค้าปลีกเพื่อปรับตัวต่อไป ดังนี้

           1. การใช้พื้นที่อย่างสร้างสรรค์

              ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าควรเปิดใช้งานพื้นที่จัดกิจกรรม (Event spaces) หรือ ศูนย์กิจกรรม (Activity centers) เพื่อดึงดูดผู้ซื้อมากขึ้นด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานแสดงสินค้า นิทรรศการ และคอนเสิร์ต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสนใจของค้าปลีกต่างๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและรองเท้า ควรพิจารณาเปิดร้านในรูปแบบ Pop-up store ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้เล่นต่างชาติที่กำลังวางแผนเข้ามาขยายธุรกิจในตลาดท้องถิ่นฟิลิปปินส์

         2. เพิ่มพื้นที่ค้าปลีกที่มีความหนาแน่นสูง

                         พื้นที่ค้าปลีกที่มีความหนาแน่นสูง เช่น ศูนย์อาหารและศูนย์ความบันเทิงสำหรับครอบครัว ได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ข้อจำกัดต่างๆ ผ่อนคลายลงแล้ว และผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เริ่มออกไปรวมตัวกันในพื้นที่ค้าปลีกที่มีความหนาแน่นสูง และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเพิ่มการตลาดสำหรับพื้นที่ค้าปลีกที่มีความหนาแน่นสูงซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการสัญจรของผู้บริโภคและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ใช้เวลาและใช้จ่ายมากขึ้น

        3.  รักษาพื้นที่ค้าปลีกในตำแหน่งสำคัญ

                       ผู้ค้าปลีกควรรักษาพื้นที่ห้างสรรพสินค้าในย่านธุรกิจหลักๆ ทั่วเมโทรมะนิลา โดยขณะนี้ อัตราพื้นที่ว่างกำลังทรงตัว ขณะที่ค่าเช่าค่อยๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ในตลาด เนื่องจากมีการฟื้นตัวทั่วภูมิภาคเมืองหลวง ซึ่งยังคงเห็นพื้นที่ว่างจำนวนมากในห้างสรรพสินค้าบางแห่งในเกซอนซิตี้ อลาบังและ เบย์ แอเรีย โดยผู้ค้าปลีกควรสำรวจความเป็นไปได้ของการเปิดพื้นที่ทางกายภาพในทำเลดังกล่าวเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทำเลย่อยที่มีแนวโน้มว่าอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยจะแล้วเสร็จมากขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตจะเห็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นสำหรับพื้นที่ค้าปลีกชั้นนำในย่านศูนย์กลางธุรกิจในเมืองมาคาติ เมือง ออร์ติกัส และ ฟอร์ด โบนิฟาซิโอ

       4. ความต้องการจากผู้ค้าปลีกต่างชาติรายใหม่เข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์

                      แนวโน้มความต้องการพื้นที่ทางกายภาพที่เพิ่มขึ้นจากผู้ค้าปลีกในต่างประเทศถือเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นโดยอาศัยการขยายตัวของเศรษฐกิจมหภาคที่ยั่งยืน ตลอดจนการออกมาตรการที่ผ่อนคลายด้านสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบการค้าปลีกของประเทศ โดยผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าควรประเมินความต้องการจากผู้ค้าปลีกต่างประเทศที่วางแผนเข้าประเทศโดยคำนึงถึงขนาดและข้อกำหนดในการจัดตั้งธุรกิจ

                  5.  การตลาดในช่วงวันหยุด

ผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องขยายกลยุทธ์ออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันหยุด (Holidays Season) โดยการจ่ายเงินโบนัสและการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของชาวฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่สี่ของปี และผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าควรคว้าแรงผลักดันเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายของชาวฟิลิปปินส์ดังกล่าว

               6. การเปิดใช้งานศูนย์กิจกรรมอีกครั้งและการจัดงานอีเวนท์

ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าควรเพิ่มความพยายามสร้างความสนใจของผู้บริโภคในการเยี่ยมชมพื้นที่ร้านค้าที่มีหน้าร้านจริงในห้างสรรพสินค้า และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในศูนย์กิจกรรมของห้างสรรพสินค้าผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น งานแสดงสินค้า งานตลาดนัด เป็นต้น ที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคให้มาเยี่ยมชมห้างสรรพสินค้าอยู่นานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น โดยผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าและผู้ค้าปลีกควรประสานงานอย่างใกล้ชิดในการดูแลกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในศูนย์กิจกรรมของห้างสรรพสินค้า

         7.  ประเมินส่วนประสมการค้าปลีกอีกครั้ง

                      ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าควรประเมินส่วนประสมการค้าปลีกที่จะนำเสนอแก่ผู้บริโภคอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีผู้ค้าปลีกจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้นและการขยายตัวของร้านค้าปลีกในท้องถิ่นโดยการประเมินส่วนประสมจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ที่เปิดตัวในระยะต่อไป ทั้งนี้ โดยทั่วไปผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ที่ครอบครองพื้นที่ห้างสรรพสินค้ามาจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้น ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าควรประเมินผู้ค้าปลีกในอุดมคติ (The Ideal Retailers) ที่จะนำเสนอในห้างสรรพสินค้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน ควบคู่ไปกับผู้ค้าปลีกทั่วไปในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย และผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าควรศึกษาส่วนประสมการค้าปลีกใดจะช่วยให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายในระดับที่เหมาะสมที่สุดและคงการเติบโตในระยะยาวด้วย

        8.  เพิ่มกลยุทธ์ Omnichannel

                         ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าและผู้ค้าปลีกควรทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบ Omnichannel ของผู้บริโภค แม้ว่าผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์กลับมาช้อปปิ้งที่หน้าร้านจริงแล้ว แต่ผู้ค้าปลีกควรพิจารณากลุ่มผู้ซื้อชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย โดยการออกแบบพื้นที่ห้างสรรพสินค้าใหม่ควรได้รับการเสริมด้วยการปรับปรุงแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้ค้าปลีก

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

-อุตสาหกรรมค้าปลีกเป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของชาวฟิลิปปินส์คิดเป็น 3 ใน 4 หรือร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)และหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง อุตสาหกรรมค้าปลีกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมากจากพฤติกรรมการช็อปปิ้งแบบล้างแค้นของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม การค้าปลีกในยุคปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนโฉมไปจากอดีตเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องติดตามและรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ รวมทั้งความต้องการของลูกค้าเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวให้ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะและแนวทางดังกล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปพิจารณาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจได้ซึ่งน่าจะช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีช่องทางค้าปลีกที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านค้าปลีกดั้งเดิมซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยกระจายสินค้าของไทยไปสู่ ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์

——————————————————

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

กุมภาพันธ์ 2567

thThai