แผนกโลจิสติกส์ของบริษัทค้าปลีกในเยอรมนีเริ่มมีความกังวลใจต่อสถานการณ์ผลกระทบจากปัญหาในทะเลแดงมากขึ้น โดยนาย Felix Ahlers เจ้าของบริษัทอาหารแช่แข็ง Frosta เปิดเผยว่า “เรานำเข้าเห็ดหูหนู หน่อไม้ มะม่วง และเครื่องเทศชนิดพิเศษจากตะวันออกไกล ซึ่งหากอาหารเหล่านี้หายไปจากชั้นวางอาหารแช่แข็งเอเชียของเรา เราก็ไม่รู้จะนำเข้าจากที่ไหนแทน” โดยในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายติดอาวุธฮูตี ซึ่งมีฐานที่มั่นในเยเมนได้ออกมาโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการค้าปลีกของเยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้านนาย Julien Cote จากบริษัท Wakeo ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ได้ออกมาแสดงความห่วงใยว่า “มีความเป็นไปได้ที่ที่เราจะเห็นชั้นวางสินค้าในห้างค้าปลีกที่ว่างเปล่า” โดยสินค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ก็น่าจะเป็นสินค้ในกลุ่มกีฬา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ในขณะที่ นาย Patrick Lepperhoff ผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานของบริษัทที่ปรึกษา Inverto กล่าวว่า “สมาร์ทโฟน หน้าจอ หรือโน๊ตบุ๊ค บางรุ่นอาจหายไปจากตลาดสักพักหนึ่ง” นาย Cote ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ผู้ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ผู้ค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าตามฤดูกาลในระยะสั้น ๆ อย่างเช่น บริษัท Fast-Fashion ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่ผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงคอลเลกชั่น หากสินค้าของผู้ค้าปลีก Fast-Fashion มาถึงช้าในอีก 2 – 3 สัปดาห์ต่อมา พวกเขาจะไม่สามารถขายสินค้าได้ทันกับช่วงเวลาที่วางแผนไว้ ซึ่งระยะเวลาเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจของพวกเขา ดังนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบในทะเลแดงจึงส่งผลกระทบกับพวกเขาหนักมาก” ด้านนาย Daniel Terberger จากบริษัท Katag ผู้ให้บริการด้านแฟชั่นจากเมือง Bielefeld โดยบริษัทฯ เป็นผู้จัดซื้อสินค้าให้กับร้านแฟชั่นมากกว่า 300 แห่ง ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ปัญหานี้มีหลักการง่าย ๆ “สินค้าที่มีราคาค่อนข้างถูกและมีกำไรน้อยจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งมากกว่าเสื้อผ้าที่มีราคาสูงกว่า” โดยเขาคาดการณ์ว่า หากมีการหยุดชะงักในการขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดงระยะยาวอาจส่งผลกับผู้ผู้บริโภคปลายทางและทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 10%  โดยนาย Cote กล่าวว่า “ในขณะนี้มีบริษัทบางแห่งเปลี่ยนมาใช้บริการการขนส่งทางอากาศแทน แต่นั่นก็หมายความว่า จะทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่มขึ้น 10 – 15%” แต่สำหรับร้านค้าปลีกส่วนใหญ่เป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนมาใช้บริการการขนส่งทางอากาศแทนเนื่องจากมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำอยู่แล้ว

 

หนังสือพิมพ์ Handelsblatt ได้ออกสำรวจบริษัทต่าง ๆ พบว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่อธุรกิจของพวกเขาแต่อย่างใด โดยนาย Ahlers จากบริษัท Frosta ได้กล่าวไว้ว่า “หากเราไม่สามารถส่งมอบสินค้าบางรายการจาก 100 รายการ มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย” ในส่วนบริษัท Tchibo เองก็กำลังปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยโฆษกของบริษัทฯ เปิดเผยว่า “ทันทีที่มีการโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดงขึ้นครั้งแรก บริษัทฯ เราได้ปลุกมาตรการเพื่อลดความล่าช้าในการจัดส่งหรือลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุดออกมาใช้” ซึ่งแน่นอนที่สถานการณ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในความท้าทายของผู้ค้าปลีกเพราะสินค้าของธุรกิจค้าปลีกนั้นต้องจัดการกับสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว และแน่นอนที่สุด ที่ผู้ค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าโดยมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย (Promotion) และสินค้าราคาประหยัดตามฤดูกาล ก็จะประสบปัญหาได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Ikea ที่ล่าสุดได้ออกมาแสดงความกังวลถึงความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า นอกจากนี้ก็มีบริษัท Aldi Nord เองก็คาดการณ์ว่า ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้น และ Aldi เห็นว่า “เราน่าจะหารือกับผู้ผลิตสินค้าและพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ให้รวมตัวกันแก้ไขหรือลดผลกระทบจากสถานการณ์นี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นอกจากนี้ บริษัทส่วนมากก็เตรียมความพร้อม เพราะหากเกิดปัญหาหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานขึ้น นาย Burkhard Schültken หัวหน้าฝ่ายโลจิสติกส์ของบริษัท Woolworth เปิดเผยว่า “เราได้เรียนรู้จากวิกฤตการณ์ในอดีต อย่างเช่น อุบัติเหตุในคลองสุเอซ และปัญหาการขนส่งที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโคโรน่า ซึ่งการขนส่งสินค้าตามฤดูกาล บริษัทได้วางแผนเผื่อเวลาไว้บ้างแล้ว” นาย Schültken กล่าวว่า “เราได้เตรียมสินค้าสำหรับเทศกาลอีสเตอร์ไว้เรียบร้อยแล้ว” แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนด้านการจัดเก็บสูงขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน อีกทั้งการขยายเส้นทางการขนส่งและการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานอย่างกระทันหันนั้นทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ด้านนาย Schültken ได้ออกมากล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2023 – ปัจจุบัน ค่าขนส่งทางทะเลเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าผลกระทบหนักจากวิกฤติทะเลแดงนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปรับราคาค่าขนส่งมากน้อยแค่ไหน” ที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งได้เห็นด้วยกับนาย Lepperhoff ผู้เชี่ยวชาญของบริษัท Inverto ที่ตั้งข้อสงสัยว่า “มีความเป็นไปได้ที่บริษัทขนส่งสินค้าบางราย อาจใช้สถานการณ์นี้ในการเพิ่มสัดส่วนกำไรของบริษัท” โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 เป็นต้นมาอัตราค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐานเพิ่มขึ้นจากเดิมที่น้อยกว่า 1,500 เหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันกระโดดมาอยู่ที่ตู้ละ 5,000 เหรียญสหรัฐฯ

 

ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาคอขวด (Bottlenecks) ในการจัดส่งสินค้าที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง โดย “ต้นทุนการด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งวัตถุดิบสู่ยุโรปที่ปกติขนส่งผ่านช่องทางคลองสุเอซที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบ และอาจทำให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปปรับราคาสูงขึ้นได้” นาย Lepperhoff ผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานให้ข้อมูลว่า “โดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตส่งต่อต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้บริโภค แม้ว่าสิ่งนี้มักจะเกิดขึ้นเพียงบางส่วนและตามมาทีหลังก็ตาม โดยต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอัตราเงินเฟ้ออีกด้วย” งานวิจัยระยะยาวของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่า ราคาค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้นได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น หากอัตราค่าระวางเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 0.7% โดยประมาณ บริษัท Teekanne ที่ตั้งอยู่ในเมือง Düsseldorf นำเข้าวัตถุดิบครึ่งหนึ่งผ่านทางคลองสุเอซ โดยนอกจากจะนำเข้าชาดำและชาเขียว แล้ว ยังนำเข้าสมุนไพรและผลไม้หลายชนิด ซึ่งแหล่งนำเข้าของบริษัทฯ ส่วนใหญ่มาจากจีนและแอฟริกาตะวันออก นาย Frank Schübel ผู้บริหารหลักบริษัท Teekanne คาดการณ์ว่า “หากต้องขนส่งสินค้าตลอดทั้งปีผ่านแอฟริกา บริษัทฯ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นตัวเลขหกหลักเลยทีเดียว” และหากความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ยังคงยืดเยื้อต่อไป ก็จะต้องมีการเจรจาค่าระวางเรือใหม่ทั้งหมด นาย Schübel กล่าวว่า “สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าของเราขนาดไหนนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด” อย่างไรก็ดี การขาดแคลนอาหารแบบจริงจังก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น แม้แต่กับน้ำมันปาล์มที่ต้องนำเข้ากว่า 85% จากมาเลเซียและอินโดนีเซีย นาย Gerhard Brankatschk ผู้บริหารสมาคมผู้นำเมล็ดพันธ์พืชไปใช้ในอุตสาหกรรมแห่งเยอรมนี (OVID) กล่าวว่า “น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตอาหารหลายชนิด เช่น ช็อคโกแลตและเนยเทียม เช่นเดียวกับสินค้าจำพวกผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด” ขณะนี้ มีการจัดเก็บสต๊อกน้ำมันปาล์มใน EU ที่เพียงพอ ผู้ผลิตเนยเทียมยี่ห้อ Rama ของบริษัท Upfield เองก็ออกมายืนยันเช่นเดียวกัน

 

สถานการณ์การนำเข้าสินค้าเครื่องเทศที่ส่วนใหญ่มาจากอินเดียหรือจีนก็มีความคล้ายคลึงกัน ผู้ผลิตเครื่องเทศ Avo จากเมือง Osnabrück จัดหาเครื่องเทศและสารปรุงแต่งกว่า 35% จากเอเชีย ซึ่งรวมถึงพริกไทยขาว ลูกจันทน์เทศ แกง พริกหวาน กระเทียม และหัวหอม โดยผู้บริโภคสามารถสัมผัสเครื่องเทศของบริษัท Avo  ผ่านสินค้าบริโภคอย่างของบริษัท Apetito ยาวไปจนถึงบริษัท McDonald’s” นาง Anna Breun ผู้บริหารหลักและสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาของ Avo กล่าวย้ำว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะมีการขาดแคลนเครื่องเทศในระยะสั้น แต่จะไม่มีปัญหาคอขวดในระยะยาวอย่างแน่นอน” เพราะผลกระทบจากการโจมตีดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่วางแผนเวลาจัดส่งนานขึ้น และต้นทุนที่สูงขึ้นเตรียมพร้อมรับปัญหา โดยไม่กลัวผลที่จะเกิดขึ้นตามมาแต่อย่างใดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตน นอกจากนี้ บริษัท Beiersdorf ผู้ผลิต Nivea เองก็กำลังลดสินค้าคงคลังลง และกล่าวว่า ผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะตามมา “มีต่ำมาก” บริษัท Henkel ผู้ผลิต Persil เองก็ออกมาแถลงการณ์ที่คล้ายกัน บริษัท Cosnova ธุรกิจครอบครัวผู้จำหน่ายลิปสติกรายใหญ่ในเยอรมนีได้นำเข้าบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่จากเอเชีย ซึ่งบรรจุภัณฑ์ก็สั่งล่วงหน้าไว้เพียงพออยู่แล้ว ขณะนี้เวลาจัดส่งก็ต้องขยายออกไปอีก 3 สัปดาห์ โดยบริษัท Cosnova ที่ตั้งอยู่ในเมือง Hessen นำเข้าสินค้ากว่า 90% จากยุโรป และจะใช้การขนส่งทางอากาศกับสินค้าที่มีความสำคัญด้านเวลาเป็นพิเศษเท่านั้น บริษัท Babor ผู้ผลิตเครื่องสำอางจากเมือง Aachen ก็ปรับระยะเวลาในการสั่งสินค้าให้เร็วขึ้นเช่นกัน เพื่อตอบสนองระยะเวลาในการจัดส่งที่นานขึ้น แต่ก็อดบ่นถึงค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ นาย Horst Robertz ซีอีโอร่วมของบริษัท Babor กล่าวว่า “เรามั่นใจว่าผู้ผลิตวัตถุดิบ 1 หรือ 2 รายน่าจะหารือเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ในด้านเรื่องราคาครั้งต่อไป” อย่างไรก็ตามขณะนี้เราก็ยังไม่มีแผนที่จะส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ให้กับผู้ค้าปลีกแต่อย่างใด

 

จาก Handelsblatt 19 กุมภาพันธ์ 2567

thThai