ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) ระบุว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ลดลงจากการเติบโตในปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 และ ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐและการส่งออกลดลง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงส่งผลกระทบต่อการบริโภค สำหรับตัวเลข GDP เฉพาะไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.6 ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 6 และลดลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2565ที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 และเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน การเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ตามหลังประเทศเวียดนาม (ร้อยละ 6.7) แต่แซงหน้าประเทศจีน (ร้อยละ 5.2) และมาเลเซีย (ร้อยละ 3.4) ทั้งนี้ นาย Arsenio M. Balisacan เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ (NEDA) กล่าวว่า แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2566 จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 6-7 แต่เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์อยู่ในตำแหน่งที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจดีกว่านี้ หากไม่ได้รับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในปี 2566 โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 6 นับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่อัตราเงินเฟ้อเกินกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) กำหนดไว้ที่ร้อยละ 2-4

            นอกจากนี้ ข้อมูลจาก PSA ยังแสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของภาครัฐในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.8 ลดลงจากการไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 และจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐตลอดทั้งปี 2566 พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.4 ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ในขณะเดียวกันการบริโภคของครัวเรือนซึ่ง    คิดเป็นประมาณสามในสี่ของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3    ของปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 7 สำหรับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนทั้งปี   ในปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.6 ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยภาคส่วนที่มีการเติบโต ได้แก่ ร้านอาหารและโรงแรม (ร้อยละ 16.2) การคมนาคม (ร้อยละ 12.2) และกิจกรรมสันทนาการ (ร้อยละ 7.3) ขณะที่การใช้จ่ายด้านเสื้อผ้าและรองเท้าลดลงร้อยละ 1.4 สำหรับการสะสมทุนรวม (Gross Capital Information) ซึ่งเป็นองค์ประกอบการลงทุนของระบบเศรษฐกิจพบว่า                  ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 11.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่หดตัวร้อยละ 1.4 และเพิ่มขึ้นจาก                ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 สำหรับการสะสมทุนรวมทั้งปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.4 ลดลงจากปี 2565                 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.8 ในส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 หดตัวร้อยละ 2.6 จากไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 และลดลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 14.6 สำหรับการส่งออกทั้งปีในปี 2566            ขยายตัวร้อยละ 1.3 ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.9 ขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.9    เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่หดตัวร้อยละ 1.1 แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 7 สำหรับการนำเข้าทั้งปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.9 ในส่วนของรายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) ซึ่งเป็น         ผลรวมของ GDP ของประเทศและรายได้สุทธิที่ได้รับจากต่างประเทศในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 11.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 และ GNI ทั้งปี 2566 เติบโตร้อยละ 10.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 สำหรับด้านการผลิตในไตรมาสที่ 4 ของ 2566 ภาคบริการขยายตัวร้อยละ 7.4 ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่ขยายตัว           ร้อยละ 9.8 สำหรับการเติบโตของ ภาคบริการทั้งปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 7.2 ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 ขณะที่      ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.2 ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 สำหรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ทั้งปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 และ ภาคการเกษตรป่าไม้และการประมงขยายตัวร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่หดตัวร้อยละ 0.3 สำหรับการเติบโตของภาคเกษตรป่าไม้และการประมงทั้งปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.5

              เลขาธิการ NEDA กล่าวเพิ่มเติมว่าการใช้จ่ายของรัฐที่ชะลอตัวลงเนื่องมารัฐบาลต้องการบรรลุการรวมบัญชีทางการคลังในการลดการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐ แต่ยังสามารถให้ความคุ้มครองทางสังคม    ได้เพียงพอ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ     ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการส่งออกโดยส่วนใหญ่มาจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงอย่างมากถึงร้อยละ 11.6 ขณะที่             การส่งออกบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ12.3 อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ NEDA เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาในตลาดงานและการเติบโตที่ยั่งยืนของการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ แต่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตที่ต่ำของการใช้จ่ายด้านอาหาร เนื่องจากราคาอาหารที่สูงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลจะพยายามบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อต่อไปด้วยการเสริมสร้างห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตร โดยใช้นโยบายการค้าเพื่อสนับสนุนการผลิต และป้องกันการต่อต้านการแข่งขัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

-ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาค แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลก จะชะลอตัวก็ตาม โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มี GDP ขยายตัวเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ในเอเชีย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินสจะยังคงขยายตัวได้ดีในปี 2567 – 2568 ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในภาพรวมค่อนข้างมีเสถียรภาพไม่อ่อนไหวต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกน้อย แต่มีการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ของฟิลิปปินส์เป็นภาคส่วนสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ มีสัดส่วนคิดเป็น 3 ใน 4 หรือ ร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันการบริโภคภาคครัวเรือนมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง  ซึ่งช่วยส่งผลดีต่อเนื่องต่อการส่งออกของไทยมายังตลาดฟิลิปปินส์ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าเครื่องสำอางและบำรุงผิว และอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการส่งออกมายังฟิลิปปินส์เพื่อรองรับกับความต้องการที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ตลาดฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ยังคงมีความเสี่ยงหลักจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และควรปรับกลยุทธ์ทางการค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ต่อไป

—————————————————-

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

กุมภาพันธ์ 2567

thThai