อินเดียเดินหน้า Make in India 2.0 กระตุ้นส่งออกและลดการนำเข้า

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียออกแถลงการณ์กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ Make in India ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา โดยปัจจุบันมี 27 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งเป็น 15 กลุ่มจากภาคการผลิตและ 12 กลุ่มจากภาคการบริการ ที่อยู่ในความดูแลและส่งเสริมจากภาครัฐภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ Make in India 2.0
.
The department for promotion of industry and internal trade หรือ DPIIT ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าภายในประเทศ กำลังดำเนินการร่วมกับ 24 กลุ่มอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการผลิตในประเทศ กระตุ้นการส่งออกและลดการนำเข้าสินค้าในกลุ่มที่สามารถผลิตได้เอง ประกอบด้วย เฟอร์นิเจอร์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องหนังและรองเท้า อาหารพร้อมรับประทาน การประมง ผลิตผลทางการเกษตร ส่วนประกอบรถยนต์ อลูมิเนียม อิเล็กทรอนิกส์ เคมีเกษตร เหล็ก สิ่งทอ ส่วนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและวงจรรวม เอทานอล เซรามิก กล่องรับสัญญาณ หุ่นยนต์ โทรทัศน์ กล้องวงจรปิด ของเล่น โดรน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องกีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกาย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศมากขึ้นและทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายที่เกิดขึ้นเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งจากกระทรวง ภาครัฐส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะด้าน เช่น Invest India ที่ดูแลเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ
.
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
โครงการ Make in India เริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน 2014 วัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุน การส่งเสริมนวัตกรรม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เพื่อเปลี่ยนอินเดียให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิต ออกแบบและนวัตกรรมของโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ GDP ของประเทศมีสัดส่วน 25% ที่มาจากภาคการผลิต จากปัจจุบันที่ระดับ 15-16% และจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก รัฐบาลจึงยิ่งให้ความสำคัญโดยริเริ่มโครงการใหม่ๆเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ โดยมีหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วม โครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องภายใต้ Make in India อาทิ โครงการกระตุ้นภาคการผลิต (Production Linked Incentive : PLI) โครงการวางระบบท่อสำหรับโครงสร้างพื้นฐานประเทศ (National Infrastructure Pipeline : NIP) โครงการธนาคารที่ดินสำหรับภาคอุตสาหกรรม (India Industrial Land Bank : IILB) โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (Industrial Park Rating System : IPRS) โครงการระบบการเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐและเอกชน (National Single Window System : NSWS) โครงการหนึ่งเขตหนึ่งผลิตภัณฑ์ One District One Product : ODOP) ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 1,000 รายการที่เป็นผลลัพธ์จากหลายอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ เกษตรกรรม การแปรรูปอาหาร หัตถกรรม และอื่นๆ จากทั้งหมด 761 เขตของประเทศ โดยผลจากการดำเนินโครงการ Make in India ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติตลอด 8 ปีที่ผ่านมา (2014-2022) เพิ่มขึ้นถึง 57% เมื่อเทียบกับช่วง 8 ปีก่อนหน้า (2006-2014)
.
สำหรับโครงการกระตุ้นภาคการผลิต (PLI) เป็นโครงการหลักที่ภาครัฐพยายามประชาสัมพันธ์และเชิญชวนผู้ประกอบการ/นักลงทุนที่มีความพร้อมเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมี 14 หมวดอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องใช้ไฟ้า เภสัชกรรม IT ยานยนต์ อาหาร แบตเตอรี่ พลังงานทดแทน เป็นต้น โดยภาครัฐตั้งงบประมาณไว้ถึง 1.97 แสนล้านรูปีหรือประมาณกว่า 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์และสร้างแรงจูงให้ผู้ประกอบการที่สนใจมาเข้าร่วมลงทุนภายใต้โครงการ โดยคาดว่าผลลัพธ์ของโครงการจะก่อให้เกิดการสร้างงานและกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญใน 5 ปีข้างหน้า

******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี
11 มกราคม 2567
.
ที่มา:
– The Economic Times, 26 Dec 2023, Make in India 2.0: DPIIT working closely with 24 sub-sectors to promote manufacturing, exports, cut imports
– Ministry of Commerce & Industry, 9 Aug 2023, Make in India initiative to make India a hub for manufacturing, design and innovation
– Ministry of Commerce & Industry, 2 Aug 2023, Production Linked Incentive Schemes for 14 key sectors aim to enhance India’s manufacturing capabilities and exports

thThai