โรงกลั่นน้ำมัน TALARA เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับเปรู

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ดิน่า โบลูอาร์เต ของเปรู พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานฯ และคณะกรรมการบริหารของบริษัท Petroperu ได้เข้าร่วมพิธีเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบของโรงกลั่นน้ำมัน Talara ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Piura ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเปรู ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นหนึ่งในการลงทุนภายใต้โครงการด้านพลังงานที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศเปรู

โรงกลั่นน้ำมัน Talara เป็นโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex refinery)[1] ที่มีคุณภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบันมีจำนวนฐานการผลิตหลักจำนวน 16 สถานี หน่วยบริการเสริมการผลิตอีก 5 สถานี ท่าเรือบรรจุของเหลว 2 ท่า ถังเก็บน้ำมันจำนวน 125 ถัง ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบดับเพลิง รวมถึงห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานหลักของโรงกลั่นน้ำมัน Talara มุ่งเน้นการแปรรูปน้ำมันดิบตกค้างให้เป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล แนฟทา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายพลังงานของเปรู โดยจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45[2] หรือคิดเป็นปริมาณการผลิตได้มากถึง 95,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลดีต่อการมีเชื้อเพลิงที่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และลดการนำเข้าพลังงานน้ำมัน (น้ำมันดิบ) จากต่างประเทศ ซึ่งเปรูต้องนำเข้าน้ำเชื้อเพลิงเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

รัฐบาลเปรูคาดการณ์ว่าโรงกลั่นน้ำมัน Talara จะสามารถสร้างรายได้จากภาษีเงินได้และภาษีจากการขายประมาณ 1,759 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี[3] ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ตำแหน่ง และการจ้างงานทางอ้อมเพิ่มขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องประมาณ 20,000 ตำแหน่ง ซึ่งโรงกลั่นน้ำมัน Talara จะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค รวมทั้งดึงดูดการลงทุนภาคพลังงานเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศเปรูต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โดยในปี 2566 น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าที่เปรูนำเข้าคิดเป็นมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นมูลค่า 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ทั้งนี้ เปรูมีการนำเข้าวัตถุดิบน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทยด้วย โดยมีมูลค่าการนำเข้ารวมกว่า 2.2  ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 77 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นประเทศในลำดับที่ 19 จากจำนวน 66 ประเทศที่เปรูนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง

น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแหล่งพลังงานหลักของเปรู รองลงไปคือก๊าซธรรมชาติ พลังงานจากน้ำ และอื่น ๆ เช่น ถ่านหิน ลม พลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น ตามลำดับ ทั้งนี้ แหล่งพลังงานอื่น ๆ ดังกล่าวของเปรูยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ (รวมกันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของพลังงานทั้งหมด) ที่จะสามารถทดแทนแหล่งพลังงานหลักได้

 

บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

ปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าสินค้าพลังงานของเปรูในช่วง 3 ปีล่าสุด (2564 – 2566) มีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึงกว่า 2.7 แสนล้านบาทต่อปี โดยรัฐบาลเปรูมีความพยายามที่จะลดการนำเข้าจากต่างประเทศและนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศ เช่น โครงการท่าเรือใหม่ Chancay ที่รัฐบาลเปรูตั้งเป้าหมายให้ท่าเรือ Chancay เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลระหว่างภูมิภาคลาตินอเมริกาและภูมิภาคเอเชีย สำหรับการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา เช่น ชิลี โคลอมเบีย และเอกวาดอร์ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ภายในสิ้นปีนี้[1]

อุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเศรษฐกิจโลกเติบโตช้า ขณะที่อุปทานน้ำมันจะถูกจำกัดจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโดยเฉพาะ OPEC+ (กำลังการผลิตประมาณร้อยละ 40 ของการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก) ที่ต้องการให้อุปทานน้ำมันสมดุลย์กับอุปสงค์เพื่อพยุงราคาไม่ให้ปรับลดลงกว่าระดับที่ต้องการ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2567 จะอยู่ที่ 102.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ สินค้าวัตถุดิบน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าที่ประเทศเปรูมีการนำเข้ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิต โดยโรงกลั่นน้ำมัน Talara จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเปรู ในแง่ของการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศในเขตเมือง Piura มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 400,000 คน[2] ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้าง การลงทุนสำหรับที่อยู่อาศัย ร้านอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ความต้องการที่อยู่อาศัย อาหารและการบริการในรูปแบบต่าง ๆ เป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการของไทย เช่น รถบรรทุก รถปิกอัพ  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหาร (อาทิ น้ำตาลทราย ข้าว และมันสำปะหลัง ปลากระป๋อง) เนื่องจากเปรูเผชิญปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” (ภัยแล้ง ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี) ที่คาดว่าจะยาวนานไปจนตลอดปี 2567 ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของเปรูลดน้อยลง และยังคงต้องนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศ เพื่อการสำรองและป้องกันการขาดแคลนในอนาคต

จากข้อมูลล่าสุดของ World Trade Atlas[1] พบว่าตั้งแต่เดือน มกราคม – พฤศจิกายน 2566 เปรูมีการนำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 14,500 ล้านบาท โดยสินค้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักร (พิกัดศุลกากรที่ 84) (2) รถบรรทุก (พิกัดศุลกากรที่ 87) (3) ปลากระป๋อง (พิกัดศุลกากรที่ 16) (4) ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง (พิกัดศุลกากรที่ 40) (5) เครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (พิกัดศุลกากรที่ 85) ตามลำดับ ซึ่งจากข้อมูลสถิติดังกล่าว สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดการณ์ว่าการส่งอออกสินค้า 5 อันดับแรกดังกล่าวจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเปรูอย่างค่อยเป็นค่อยไป และนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานของเปรู

___________________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

มกราคม 2567

 

[1] https://connect.ihsmarkit.com/gta/standard-reports/

[1] https://andina.pe/agencia/noticia-from-chancay-to-shanghai-a-new-silk-road-linking-asia-and-south-america-968428.aspx

[2] https://piura.com/

[1] โรงกลั่นน้ำมันแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ โรงกลั่นแบบธรรมดา (Simple refinery) ซึ่งมีกระบวนการกลั่นแบบ Distillation ที่ทำการแยกส่วนประกอบน้ำมันดิบเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามองค์ประกอบของน้ำมันดิบแต่ละชนิดและโรงกลั่นแบบคอมเพล็กซ์ (Complex refinery) ซึ่งมีต้นทุนการลงทุนสูงกว่า และเป็นโรงกลั่นที่มีหน่วยเปลี่ยนสภาพของผลิตภัณฑ์ (Cracking units)  อันเป็นกระบวนการเพิ่มเติมจากกระบวนการกลั่นแบบ Distillation จึงสามารถปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดหนักที่มีมูลค่าต่ำให้เป็นน้ำมันชนิดเบามี่มีมูค่าสูงกว่า ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์แต่ละแห่งจะมีความสามารถในการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่างกัน

[2] https://www.refineriatalara.com/inicia-operacion-plena-de-la-nueva-refineria-talara/

[3] https://andina.pe/ingles/noticia-peru-new-talara-refinery-will-supply-clean-fuels-to-peru-and-attract-investments-968573.aspx

 

thThai