การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลก เนื่องจากมีการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชากรโลก และทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประเทศต่างๆ จึงมีการผลักดันนโยบายหลายด้านให้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ในปี 2566 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีอยู่ในอันดับที่สองรองจากสหรัฐอเมริกาสําหรับการลงทุนในโครงการใหม่ (Greenfield investment) ใน หรือเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 28 สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ FDI ในยูเออี ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในรูปแบบ Greenfield ที่เป็นการลงทุนแบบบริษัทก่อตั้งการดำเนินงานใหม่ หรือลงทุนด้านอาคารสถานที่ใหม่ จึงมีผลอย่างมากต่อการสร้างงาน ซึ่งแตกต่างกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา ที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในรูปแบบการควบรวมและซื้อกิจการ แสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ตกอยู่ในภาวะซบเซา ยูเออีเป็นสวรรค์สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เปิดเผยรายงานว่า ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่ม Greenfield ของซาอุดิอาระเบียประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิฐใหญ่ที่สุดของตะวันออกกลางนั้นเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 63 เมื่อปีที่ผ่านมา
ในขณะที่รายงานของ Global Investment Trends Monitor กล่าวว่า FDI ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันตก FDI ยังคงทรงตัว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2) โดยยูเออีได้ตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูด FDI ภายในปี 2574 ไว้ที่มูลค่า 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และติดอันดับหนึ่งใน 10 ประเทศชั้นนําของโลกในแง่ของการดึงดูด FDI ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลยูเออีมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งในการกระจายเศรษฐกิจและเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ มีปัจจัยที่ส่งผลให้นักลงทุนมั่นใจในการลงทุนในประเทศ อาทิ นโยบายในการพึ่งพาการนําเข้าลดลง และการอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนได้ 100% นโยบายที่เน้นการลงทุนทางเศรษฐกิจในสาขาที่หลากหลาย อำนวยความสะดวกในการทําธุรกิจ/จัดตั้งบริษัทเป็นไปได้อย่างง่ายดาย มีโครงสร้างพื้นฐานในระดับที่ดี มีปัจจัยแวดล้อมในการทําธุรกิจเป็นบวก โครงการออกวีซ่าแบบใหม่ (NextGen FDI programme) เช่น วีซ่าทอง วีซ่าเขียว ให้สิทธิ์พำนักถาวร เพื่อดึงดูดบรรดามหาเศรษฐี และแรงงานทักษะสูงเป็นพิเศษ เช่น แพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงศิลปินแขนงต่างๆ อนุญาตให้คนต่างชาติทำงานในประเทศได้โดยไม่ต้องมีนายจ้างอุปถัมภ์ เป็นการผ่อนคลายข้อกำหนดด้านถิ่นที่อยู่ และยูเออีได้เข้าสู่ การทําข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (CEPA) กับหลายประเทศ เช่น อินเดีย กัมพูชา จอร์เจีย อิสราเอล อินโดนีเซีย และ ตุรกี และวางแผนทำข้อตกลง CEPA อีก 26 ฉบับ
UNCTAD ระบุว่ายอด FDI โดยรวมในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 แตะประมาณ 1.37 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดการเงินปรับตัวได้ดี สวนทางกับความคาดหมายจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั่วโลก และ การเติบโตการลงทุน FDI ในภาพรวมของโลก ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากมูลค่าที่สูงขึ้นของเศรษฐกิจในยุโรปบางแห่ง หาก ไม่รวมช่องทางเหล่านี้กระแส FDI ทั่วโลกลดลงร้อยละ 18
FDI ประเทศอื่น
FDI ในสหภาพยุโรปขยายตัว 141 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ท่ามกลางความผันผวนครั้งใหญ่ในลักเซมเบิร์กและเนเธอร์แลนด์ หากไม่รวมสองประเทศนี้การไหลเข้าของกลุ่มลดลง 23 เปอร์เซ็นต์
สหรัฐอเมริกาเป็นผู้รับ FDI รายใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว แม้ว่าการไหลเข้าจะลดลงร้อยละ 3 ในปีที่แล้ว และจํานวนโครงการลงทุนในรูปแบบ Greenfield ลดลงร้อยละ 2
เนื่องจากความผันผวนอย่างมากในลักเซมเบิร์กและเนเธอร์แลนด์ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นประมาณ 141 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หากไม่รวมทั้งสองประเทศการไหลเข้า FDI สู่ EU ลดลงร้อยละ 23
ในปี 2566 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนชะลอรุนแรงคิดเป็นการหดตัวร้อยละ 6 ซึ่งตัวเลขดังกล่าว สนับสนุนแนวคิดว่ากระแส Re-shoring และ Friend-shoring ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากจีนและกลับไปยังสหรัฐและชาติพันธมิตรมากขึ้น แต่โครงการลงทุนในรูปแบบ Greenfield ในจีนนั้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 8
รายงานระบุว่าการไหลเข้าของ FDI อินเดีย ลดลงร้อยละ 47 แต่ทั้งนี้มีการประกาศโครงการใหม่ที่มีเสถียรภาพ ซึ่งช่วยให้อินเดียยังคงอยู่ใน 5 อันดับแรกของจุดหมายปลายทางโครงการ Greenfield ระดับโลก
การไหลเข้า FDI ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาลดลงร้อยละ 9 เป็นมูลค่า 841 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว และเมื่อมองไปข้างหน้า ดูเหมือนจะเป็นไปได้ว่ากระแส FDI ที่จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2567 เนื่องจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการกู้ยืมในตลาดหลัก บ่งชี้ถึงการรักษาเสถียรภาพของเงื่อนไขทางการเงินสําหรับข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศ
ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
เนื่องจาก FDI เป็นการลงทุนระยะยาว ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกประเทศที่จะลงทุนจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานต่างๆ อาทิ ประสิทธิภาพของกฎเกณฑ์ อัตราภาษีที่โปร่งใส คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว (Advanced Economies: AEs) มักจะครองอันดับต้นๆ นักลงทุนยังให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการเมือง ทั้งเสถียรภาพในประเทศ สถานการณ์ระหว่างประเทศ และปัจจัยที่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้า เช่น การกีดกันทางการค้า และผลของข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
ปัจจุบันมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ของไทยหลายรายเข้าไปลงทุนในยูเออีในภาคบริการ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกและส่ง ร้านอาหาร โรงแรม บริการสุขภาพและความงาม และธุรกิจจัดงานแสดงสินค้า ในภาคการผลิตบริษัทไทยร่วมกับกลุ่ม Dubai Holdings ของรัฐบาลดูไบ ประกอบธุรกิจประเภทการผลิตทองแดงและผลิตภัณฑ์ทองแดง ในงานก่อสร้าง เป็นต้น
————————————-