ที่มา : สำนักข่าว Bernama
เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์ – สิงคโปร์ (JS-SEZ) กำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ในวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะ เสรี อันวาร์ อิบราฮิม และรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ลี เซียน ลุง เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในครั้งนี้ด้วย
เขตเศรษฐกิจพิเศษ JS-SEZ คาดว่าจะส่งเสริมการค้าระหว่างยะโฮร์และสิงคโปร์ โดยที่ทั้งสองประเทศร่วมมือกันสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษติดกับชายแดนสิงคโปร์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างทั้งสองประเทศ และส่งผลดีต่อการรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวถูกวางเป้าหมายให้เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจโดยจะมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บริการทางการเงิน บริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการดูแลสุขภาพโดยในปี 2566 รัฐยะโฮร์ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 70,600 ล้านริงกิต โดยสิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสองของรัฐ โดยลงทุนภาคการผลิตของรัฐยะโฮร์ถึงร้อยละ 70 ของการลงทุนทั้งหมดของสิงคโปร์
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้กล่าวเสริมว่า “เพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเพื่อให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว อีกทั้ง เพื่อเป็นการผลักดันรัฐยะโฮร์ให้เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนหลักในภูมิภาคนี้อย่างสมบูรณ์ รัฐบาลกลางของมาเลเซียจำเป็นต้องมีการดำเนินการรถไฟความเร็วสูง (HSR) และการขนส่งรางเบา (LRT) โดยทันที”
เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์ – สิงคโปร์ (JS-SEZ) ยังมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นและขยายความต้องการพื้นที่สำนักงาน โดยเฉพาะในเมืองยะโฮร์บาห์รูอีกด้วย นาย Wong Khim Chon ผู้อำนวยการ IGB Property Management Sdn Bhd. กล่าวว่าความต้องการพื้นที่สำนักงานในรัฐเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สถานการณ์ Covid 19 ยุติลงและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของอสังหาริมทรัพย์และอาคารสำนักงานโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว เนื่องจากธุรกิจต่างๆ สามารถเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่ความต้องการพื้นที่สำนักงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ทั้งบริษัทในประเทศและบริษัทข้ามชาติ ยิ่งกว่านั้น อุตสาหกรรมบางประเภทอาจมีการเติบโตหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อความต้องการพื้นที่อยู่อาศัยและสำนักงานซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของรัฐยะโฮร์
บทวิเคราะห์ผลกระทบ
เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์ – สิงคโปร์ (JS-SEZ) และโครงการรถไฟฟ้ารางเบา Johor Bahru–Singapore Rapid Transit System (RTS) จะส่งผลให้รัฐยะโฮร์มีความน่าสนใจในการลงทุนทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์ การตั้งฐานการผลิต รวมไปถึงส่งผลให้รัฐยะโฮร์เป็นรัฐที่มีกำลังซื้อที่สูงขึ้นจาก GDP (Gross Domestic Product) ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 6 ในปี 2567 รายงานโดยกรมสถิติแห่งชาติมาเลเซีย
รัฐยะโฮร์มีพรมแดนติดกับประเทศสิงคโปร์ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางข้ามพรมแดนประมาณ 45 นาที (ทางหลวงยะโฮร์ – สิงคโปร์ Causeway) ซึ่งการเดินทางข้ามพรมแดนจะสะดวกและรวดดร็วขึ้นผ่านโครงการรถไฟฟ้ารางเบา Johor Bahru–Singapore Rapid Transit System (RTS) ที่ใช้เวลาในการเดินทางแค่ 10 นาที ทำให้ประชากรชาวสิงคโปร์นิยมข้ามพรมแดนมาท่องเที่ยว รับประทานอาหาร ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ในฝั่งรัฐยะโฮร์เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า ประชากรกลุ่มนี้จึงถือเป็นกำลังซื้อที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจในการส่งออกสินค้ามาทำตลาดในรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย หากผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้ามาทำตลาดในรัฐยะโฮร์ได้ก็จะมีกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง 2 กลุ่มทั้งจากในรัฐยะโฮร์และชาวสิงคโปร์ที่ข้ามพรมแดนมาใช้จ่ายในรัฐยะโฮร์อีกด้วย
ความคิดเห็น สคต.
มาเลเซียและสิงคโปร์ได้ร่วมลงนาม MoU เขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์ – สิงคโปร์ (JS-SEZ) เพื่อประกาศความร่วมมือในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีชายแดนติดกันของทั้งสองประเทศเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างทั้งสองประเทศ รวมไปถึงยังเป็นการรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สำนักงานฯ มองว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์ – สิงคโปร์ (JS-SEZ) มีความน่าสนใจและเป็นโอกาสในการในลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจหลายๆ ด้าน อีกทั้ง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ รัฐยะโฮร์กำลังดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในด้านของการตั้งพื้นที่สำนักงาน ที่จะส่งผลต่อการจ้างงานและการจำนวนประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในพื้นที่รัฐยะโฮร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดส่งออกสินค้าอาหารไทยที่จะสามารถส่งออกสินค้ามาทำตลาดได้
อย่างไรก็ตาม มาเลเซียได้และสิงคโปร์ได้กำลังร่วมกันก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา Johor Bahru–Singapore Rapid Transit System (RTS) ที่เชื่อมระหว่างสิงคโปร์กับเมืองยะโฮร์บาห์รู เมือง (หลวงของรัฐยะโฮร์) ซึ่งมีระยะทาง 4 กิโลเมตรจะเชื่อมต่อสถานีบูกิตชาการ์ในยะโฮร์บาห์รูกับสถานีวูดแลนด์นอร์ทในสิงคโปร์ ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 นาที และจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 40,000 คนต่อวันเมื่อเปิดให้บริการ อีกทั้งได้รับการออกแบบมาเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดบนทางหลวงยะโฮร์ – สิงคโปร์ (Causeway) ซึ่งเป็นทางข้ามบกที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลกโดยมีผู้คนมากกว่า 350,000 คนเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างทั้งสองประเทศ รถไฟ RTS ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 2,200 ล้านดอลลาร์) คาดว่าจะเริ่มให้บริการผู้โดยสารได้ในปลายปี 2569
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์