ตลาดค้าปลีกในสาธารณรัฐเช็กต้อนรับการเข้ามาของแบรนด์ใหม่กว่า 39 แบรนด์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่ตลาดที่สูงสุดในรอบทศวรรษ โดยมากกว่าหนึ่งในสามของธุรกิจเหล่านี้อยู่ในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และร้านขายของชำ ตามมาด้วยอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เข้าสู่ตลาดใหม่ 9 แบรนด์ นำโดยอิตาลี ที่เป็นผู้นำอันดับ 1 นำแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาดเช็ก จำนวน 8 แบรนด์ ตามมาด้วยสโลวาเกีย จำนวน 5 แบรนด์ และฝรั่งเศส จำนวน 4 แบรนด์ สำหรับหนึ่งในแบรนด์ที่สำคัญที่สุดที่เข้าสู่ตลาดเช็กเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ Victoria’s Secret, Popeyes, Signorvino, Rossopomodoro และ Zadig & Voltaire ตามข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ Cushman & Wakefield การวิจัยของบริษัทยืนยันว่าตลาดเช็ก ซึ่งหลักๆ คือกรุงปราก ยังคงเป็นประตูหลักสำหรับแบรนด์ค้าปลีกในการเข้าสู่ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยการคงอยู่ของบริษัทต่างชาติจำนวนมากเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวของประชากรเช็ก และการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่บริษัทต่างๆ มีความเจริญเติบโตมากขึ้น Jan Kotrbáček หัวหน้าทีมค้าปลีกสำหรับยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกกล่าวเสริมจาก Cushman & Wakefield ว่าปัจจัยสำคัญสำหรับแบรนด์ต่างประเทศที่เข้าสู่ตลาดสาธารณรัฐเช็ก โดยเฉพาะกรุงปราก อันเนื่องมาจากตลาดเช็กเป็นจุดหมายสำคัญในการท่องเที่ยวของชาวยุโรปและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
นักท่องเที่ยวถือเป็นลูกค้ารายสำคัญในการจับจ่ายซื้อสินค้า โดยเฉพาะในกรุงปรากซึ่งเป็นศูนย์การค้าหลักเมื่อปีที่ผ่านมากว่า 33 แบรนด์ ปักหมุดไปยังกรุงปราก (Prague) ในขณะที่เบอร์โน (Brno) และออสตราวา (Ostrava) มีแบรนด์ใหม่มาเปิดตัวอย่างละ 2 แบรนด์ และ Hate และ ฮราเด็ตส์กราลอแว (Hradec Králové) อย่างละ 1 แบรนด์
ตามข้อมูลของ Kotrbáček ตลาดเช็กมีแนวโน้มที่จะเห็นแนวคิดใหม่ๆ และมีความโดดเด่นมากขึ้นจากแบรนด์ต่างๆ ซึ่งจะเปิดดำเนินการในปีนี้ นอกจากนี้ เขายังคาดการณ์ว่าแบรนด์ใหม่ๆ จะเข้าสู่ตลาดเช็กอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การที่ Five Guys ซึ่งเป็นเครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาวางแผนที่จะเปิดสาขาในกรุงปรากด้วย นอกจากนี้ ข้อมูลของ Cushman & Wakefield กล่าวว่าการเข้ามาของแบรนด์ Victoria’s Secret แบรนด์ชุดชั้นในสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเปิดร้านแห่งแรกในศูนย์การค้า Westfield Chodov ในปราก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง Popeyes ซึ่งเปิดดำเนินการที่ Wenceslas Square ในปรากตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ส่งผลให้ตลาดเช็กคึกคักเป็นพิเศษจากสองแบรนด์ใหญ่ที่เข้าสู่ตลาดเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อเรามองไปข้างหน้า ภาพรวมการค้าปลีกในสาธารณรัฐเช็กกำลังเปลี่ยนแปลงและเติบโต ส่งผลให้ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจมีโอกาสใหม่ๆ ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
สาธารณรัฐเช็กเป็นตลาดท่องเที่ยวสำคัญของโลกโดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากกว่า 8 ล้านคน/ปี ดังนั้น การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณภาพสินค้าไทย รวมถึงการส่งเสริมสินค้าไทยผ่านนักท่องเที่ยวจึงถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยเพิ่มเติม โดยปี 2566 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 2,261 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สโลวาเกีย และอิตาลี ตามลำดับ สำหรับสินค้าแฟชั่น สาธารณรัฐเช็กนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 1,946 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี โปแลนด์ จีน เนเธอร์แลนด์ สโลวาเกีย และอิตาลี ตามลำดับ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และนำเสนอสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน