นาย Saleh Lootah ประธานกลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่าใน     ปี 2566 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี จะทำรายได้ถึง 37.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  สอดคล้องกับผลการวิจัยล่าสุดของ ธนาคาร Emirates NBD ที่ระบุว่าจากการเปิดตัวแผนพัฒนาภาค   การผลิตของประเทศ หรือ Operation 300bn  ซึ่งเป็นกลยุทธ์ 10 ปี ที่ขับเคลื่อนโดย Ministry of Industry and Advanced Technology  ที่กำหนดให้ภาคการผลิตมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเศรษฐกิจของยูเออี  โครงการริเริ่มนี้      มีเป้าหมายที่จะขยายรายได้ของภาคอุตสาหกรรมจากมูลค่า 36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 82  พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2574 ซึ่งในเวลานั้นภาคอาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 210 เมื่อเทียบกับปี 2561

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B)

การฟื้นตัวเต็มรูปแบบของกิจกรรมภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร และโรงแรม ทำให้ความต้องการ อาหารและเครื่องดื่มของยูเออีกำลังเติบโตอย่างเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จากรายงาน Annual UAE Food Industry Report ประจำปี 2566 ที่เผยแพร่โดยกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ( UAE Food Beverage Business Group : FB Group) ระบุในเชิงปริมาณมีโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 2,000  แห่งในยูเออี และในเชิงมูลค่าสามารถสร้างรายได้ 7.63 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของ GDP การผลิตของประเทศ

รายงานยังระบุอีกว่าในแง่ของรายได้จากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มนั้นเป็นรองอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของประเทศ  สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความเคลื่อนไหวของภาค F&B  ที่ผู้ผลิตรายใหญ่ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  ในขณะที่การเปิดธุรกิจขององค์กรขนาดเล็กก็เป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญเช่นกัน

ผลการสํารวจเพิ่มเติมในปี 2566  นั้นพบว่าธุรกิจหมวดเบเกอรี่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 หมวดขนมขบเคี้ยว ช็อคโกแลตและคุกกี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ขณะที่การผลิตเครื่องดื่มในเชิงพาณิชย์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีเครื่องดื่มสำหรับกีฬา (Sport Drink) เป็นผู้นำมีการขยายตัวร้อยละ 15 ในส่วนย่อย ได้แก่ ไข่ไก่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18  น้ำมันปรุงอาหารร้อยละ 30 และขนมหวานร้อยละ 21

นอกจากนี้ พบว่าอุตสาหกรรมนม เติบโตในอัตราร้อยละ 16  เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักถึงความสําคัญของการบริโภคอาหารที่สมดุลและดีต่อสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ความต้องการเนื้อสัตว์แช่แข็งเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 รายงานยังเผยให้เห็นถึงแนวโน้มใหม่ ๆ เช่น การลดลงของอาหารเด็กและสูตรอาหารสําหรับทารก การเติบโตของอาหารเด็กออร์แกนิก และความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อเลือกแบรนด์ของผู้บริโภคที่มีมากเพิ่มขึ้น

เทรนด์อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

เมื่อปี 2566 และในอนาคตเทรนด์อุตสาหกรรม F&B พอสรุปได้ดังนี้

  1. Vertical Farming การทำเกษตรกรรมแนวตั้ง หรือการเพาะปลูกพืชผลภายในอาคาร  โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามา จะสามารถช่วยในการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร (AgTech)    ทำให้สามารถเพาะปลูกพืชผลแบบยั่งยืน อีกทั้งคาดว่าภายในปี 2593 ความต้องการน้ำทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากขึ้นร้อยละ 30 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียพืชผลทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญประเทศสมาชิก GCC ขึ้นอยู่กับการนำเข้าอาหารถึงร้อยละ 80 เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งพื้นที่เป็นทะเลทราย รัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะยูเออีลงทุนฟาร์มแนวตั้งขนาดใหญ่ เพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก อีกทั้งเป็นกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารอีกด้วย
  2. เทรนด์อาหาร Plant-Based หรือ อาหารที่ทำมาจากพืช กำลังป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาสนใจรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  โรงงานแปรรูปอาหารเนื้อสัตว์ของยูเออีผลิตเบอร์เกอร์  Plant-Based  ทำจากถั่วลันเตา และมีร้านอาหาร Vegan ขายออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้มีประชากรชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูนิยมบริโภคอาหารมังสะวิรัตอาศัยในประเทศนี้เป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอาหาร Plant-Based  อาจยังไม่นิยมในวงกว้าง เพราะชาวอาหรับทั่วไปส่วนใหญ่ก็ยังคงนิยมบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่า ด้วยเหตุผลทั้งด้านรสชาติและราคาของ สินค้า
  3. ผลกระทบของโควิด-19 นั้น ทำให้ตลาดของ e-commerce มีการเติบโตเป็นอย่างมาก การซื้ออาหารและของใช้ออนไลน์จึงกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในยุคปัจจุบัน การขายอาหาร ออนไลน์ตรงถึงผู้บริโภค มีแนวโน้มเติบโตและเป็นที่นิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
  4.  เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ  ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น พบว่ามีร้านอาหารออนไลน์ปรุงอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารลดน้ำหนัก  เครื่องดื่มหมักรสเปรี้ยว ( Kombucha ) แต่ทั้งนี้ตามระเบียบการนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มของยูเออี กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ที่เป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดจะต้องไม่เกิน 0.5%  แต่ส่วนใหญ่เครื่องดื่มคอมบูชามักมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า

ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ

ข้อมูลข้างต้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจำเป็นต้องตระหนักถึงทิศทางและแนวทางการพัฒนาสินค้า/ บริการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันและการแสวงหาช่องทางใหม่ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละตลาดเพื่อสร้างโอกาสในการผลิตและขยายตลาดส่งออกของผู้ประกอบการ

ปัจจุบันยูเออีเป็นตลาดรองรับอาหารและเครื่องดื่มของไทยที่สำคัญ สินค้าอาหารที่ส่งออกมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ ปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดิ่ม ผลไม้สด ปลาสดแช่แข็ง ข้าว ซอสและเครื่องปรุงรส ผักสดและสินค้าเกษตรอื่นๆ

 

thThai