ความไม่สงบในทะเลแดง กระทบโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศสเปน

สถานการณ์ความไม่สงบในทะเลแดงภายใต้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คาดส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกหากยืดเยื้อเนื่องจากเป็นเส้นทางหลักของการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาคหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ของการค้าโลก โดยสำหรับสเปน ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทโลจิสติกส์หลายแห่งประเมินเป็นแนวทางเดียวกันว่าจะทำให้ค่าขนส่งขยับตัวสูงขึ้น 70% และทำให้ราคาสินค้าบางรายการสูงขึ้นถึง 200% หลังจบเทศกาลคริสต์มาส

 

หนังสือพิมพ์ Cinco Dias ของสเปนรายงานว่าระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ถึง 21 มกราคม 2567 บริษัทเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชีย อ่าวเปอร์เซีย กับยุโรป จำนวน 54 สายได้ประกาศยกเลิกการเดินเรือผ่านทะเลแดงแล้ว และยืนยันปรับขึ้นราคาและปรับแผนเส้นทางเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงในทะเลแดงสามจุด คือ คลอง Suez ช่องแคบ Bab el Mandeb และช่องแคบ Hormuz เปลี่ยนไปใช้เส้นทางอ้อมลงไปยังแหลม Good Hope แทน ซึ่งทำให้ระยะทางเพิ่มขึ้น 5,149 กิโลเมตร ส่งผลต่อค่าขนส่งและระยะเวลาการส่งมอบสินค้า ทำให้ค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ขยับตัวขึ้นร้อยละ 70 หรืออาจเพิ่มขึ้นสูงถึงหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐในการส่งมอบสินค้ายังจุดหมายปลายทางสุดท้าย

 

นายกอนซาโล เฆเรส (Gonzolo Jerez) ผู้อำนวยการบริษัทโลจิสติกส์  Transglory ประเมินผลกระทบของสถานการณ์นี้ต่อเศรษฐกิจเทียบเท่ากับ“โควิดขนาดย่อม” (mini covid) ซึ่งค่าระวางและค่าบริการขนส่งต่างๆ สำหรับการส่งออกและนำเข้าจะดีดตัวขึ้น และหากสถานการณ์ยังคงตึงเครียดบานปลายต่อไป ผู้บริโภคจะต้องได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าในตลาดที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากสเปนมีการค้ากับประเทศแถบอาหรับและอิสราเอลในสัดส่วนค่อนข้างสูง สินค้าหลัก ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมหนักและน้ำมัน ดังนั้น จึงได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ยังมีผลต่อระยะเวลาในการขนส่ง ซึ่งอาจเพิ่มขึ้น 10 – 15 วัน โดยในกรณีที่ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ บริษัทบางแห่งอาจเลือกเปลี่ยนแหล่งซื้อสินค้าเป็น Nearshoring เช่น สินค้าจากตุรกี หรือ โมรอคโค เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทะเลแดง

 

ด้านนายอัลเฟรโด โซแลร์ (Alfredo Soler) ผู้บริหารบริษัทโลจิสติกส์ และผู้แทนกลุ่มโลจิสติกส์ของ Valencia ซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดของสเปน ระบุว่า “สิ่งแรกที่จะกระทบอย่างเห็นได้ชัดคือ ราคาน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้น” โดยสินค้าหลักของสเปนที่ส่งไปอิสราเอล ได้แก่ สินค้ากลุ่มก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ผักและผลไม้ แต่โซแลร์คาดว่าความไม่สงบนี้จะไม่กระทบต่อท่าเรือหลักของอิสราเอล ซึ่งคือ Haifa ทางตอนเหนือของประเทศ ทั้งนี้ จากสถิติการท่าเรือวาเลนเซีย พบว่าเมื่อปี 2022 การค้าระหว่างวาเลนเซียกับอิสราเอลเพิ่มมากขึ้นเป๋ย 1,246,614 ตัน สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย และผักผลไม้

 

SeaRates บริษัทโลจิสติกส์อีกรายหนึ่งคาดการณ์ว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดจากสถานการณ์นี้ คือ บริษัทสัญชาติจีด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้ตรุษจีนที่จะถึงนี้ โดยระยะเวลาการขนส่งจากท่าเรือปักกิ่งมายังสเปนอาจใช้เวลามากถึง 52 วัน และทำให้สินค้าราคาสูงขึ้นร้อยละ 50 ส่วนประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางการค้ารองจากจีน ได้แก่ กรีก จอร์แดน ศรีลังกา และบัลกาเรีย

 

ปัจจุบันรัฐบาลของหลายประเทศและหน่วยงานด้านพาณิชย์นาวีสากลอยู่ระหว่างหาทางแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบนี้ ทำให้บริษัทสายเรือและผู้ประกอบการทั่วโลกมีความหวังว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายโดยเร็วและไม่ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนการถาวร การตัดสินใจเรื่องเส้นทางและแนวทางการเดินเรือขนส่งสินค้าจึงยังอยู่ในลักษณะ “รายกรณี” ไป

 

ในด้านผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยมายังสเปนนั้น ผู้นำเข้าชาวสเปนยังไม่พบปัญหาใดและเห็นว่าเหตุการณ์ยังคงไม่แน่นอนจึงไม่อาจด่วนสรุปได้ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ จะส่งผลต่อราคาค่าขนส่ง ค่าเชื้อเพลิง ระยะเวลาการส่งมอบของที่จะล่าช้าออกไป และปัญหาการตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านศุลกากร

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

สเปนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 35 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 0.3 จากการส่งออกทั้งหมด ถือเป็นตลาดขนาดเล็ก ในระยะสั้นยังคงไม่กระทบต่อการค้า แต่หากยืดเยื้อคาดว่าจะกระทบในด้านระยะเวลาการส่งมอบสินค้า การเจรจาสั่งซื้อ และในด้านของราคาจากการปรับตัวสูงขึ้นของค่าระวาง ค่าประกันภัย และค่าน้ำมัน ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยลดขีดความสามารถทางการแข่งขันลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากแถบละตินอเมริกา หรือประเทศ Nearshoring อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับคู่แข่งจากอาเซียน เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบที่เท่าเทียมกัน

 

ประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญในขณะนี้ ได้แก่ เจรจากับคู่ค้าและวางแผนการส่งสินค้ารวมทั้งแผนการเงินล่วงหน้าอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันควรปักหมุดสินค้าไทยและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดสเปนอย่างต่อเนื่องด้วยการตอกย้ำมาตรฐานการผลิต คุณภาพสินค้า กระบวนการต่างๆ ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบของตลาด อันจะช่วยให้สินค้าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งในตลาดได้อย่างมั่นคง

 

ที่มา : Cinco Dias และผู้นำเข้าสินค้าไทยในสเปน

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

26 ธันวาม 2566

thThai