จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (ISTAT) เปิดเผยตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวอยู่ที่ 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 และขยายตัวอยู่ที่ 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งในเดือนตุลาคม 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี ได้คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 3 ปี 2566 จะอยู่ที่ 0% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 และเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี ยังได้คาดการณ์ว่า GDP ของอิตาลี จะขยายตัวอยู่ที่ 0.7% ทั้งในปี 2566 และปี 2567
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี เปิดเผยตัวเลข ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) เดือนพฤศจิกายน 2566 หดตัวลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากราคาสินค้า และราคาบริการ หดตัวลดลง 0.5% และ 0.5% ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาค่าไฟฟ้าในตลาดที่ได้รับการคุ้มครองและก๊าซสำหรับใช้ภายในครัวเรือน (-0.7%) (เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ +13.8%) และราคาเชื้อเพลิงยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงในครัวเรือน และไฟฟ้าในตลาดเสรี (-3.8%) ในขณะที่ หากเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.7% (เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ +1.7%) ซึ่งถือเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564(+0.6%) ซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่ปรับลดลงดังกล่าว มาจากราคาสินค้าด้านพลังงานที่หดตัวลดลง (-24.4% จาก -19.7% ของเดือนตุลาคม 2566) แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้าในตลาดที่ได้รับการคุ้มครองและก๊าซสำหรับใช้ภายในครัวเรือน (-34.9% จาก -31.7% ของเดือนตุลาคม 2566) และราคาเชื้อเพลิงยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เชื้อเพลิงในครัวเรือน และไฟฟ้าในตลาดเสรี (-22.5% จาก -17.7% ของเดือนตุลาคม 2566)
สำหรับการค้าระหว่างไทย-อิตาลี ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) พบว่า มีมูลค่า 4,668.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.48% แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 1,942.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.89% และการนำเข้ามูลค่า 2,726.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.90% ไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 784.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 6.49% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) การส่งออกของไทยไปอิตาลีมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,942.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.89% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีมูลค่า 1,887.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)โดยอิตาลีถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับ 25 ของตลาดส่งออกทั่วโลกของไทย และอันดับ 5 ของตลาดส่งออกในยุโรปของไทย (อันดับ 1-4 ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์) โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังอิตาลี 10 อันดับแรก มีดังนี้
โดยพบว่าในช่วง 11 เดือนของปี 2566 กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกมายังอิตาลีขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.07% คิดเป็นสัดส่วน 84.45% ของกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกมายังอิตาลีทั้งหมด โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (+29.41%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+3.96%) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+55.08%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+42.16%) เป็นต้น ในขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หดตัวลง 30.26% คิดเป็นสัดส่วน 7.79% ของกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกมายังอิตาลีทั้งหมด โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง (-30.13%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-31.10%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (-28.51%) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-87.33%)เป็นต้น และกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม หดตัวลง 16.49% คิดเป็นสัดส่วน 7.76% ของกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกมายังอิตาลีทั้งหมด โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง (-19.51%) ยางพารา (-31.07%)
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
1. จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยมายังอิตาลีในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกยุโรปอื่น ๆ ที่การส่งออกของไทยอยู่ในภาวะหดตัว ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี(-6.04%) ฝรั่งเศส (-10.03%) เบลเยี่ยม (-22.57%) สเปน (-1.72%) โดยสินค้าไทยหลายรายการที่ยังคงมีโอกาสในการขยายการส่งออกมายังตลาดอิตาลีในช่วงปลายปี 2566 เช่น สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทยมายังตลาดอิตาลี โดยการขยายการส่งออกมายังอิตาลี ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป/อิตาลีอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง การปฏิบัติตามเงื่อนไขกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด จะช่วยสร้างความน่าเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทย และยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าอีกด้วย รวมถึงการมาทดสอบ/ศึกษาตลาดด้วยตนเอง จะทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและแนวโน้มตลาดได้ดียิ่งขึ้น
2. จากสถานการณ์ความไม่สงบของตะวันออกกลาง โดยกลุ่มกบฎฮูตีโจมตีเรือขนส่งสินค้าที่มุ่งสู่ทะเลแดงและคลองสุเอชช่วงเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สายเรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ในเส้นทางระหว่างเอเชียและยุโรป ได้ดำเนินการยกเลิกการเดินเรือผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซเป็นจำนวนมาก โดยปรับเปลี่ยนเส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา ส่งผลให้ระยะเวลาการเดินเรือระหว่างเอเชียและยุโรปเพิ่มขึ้นอีก 10-15 วัน โดยขณะนี้ ผู้นำเข้าสินค้าอาหารไทยรายสำคัญในอิตาลี ยังคงดำเนินการนำเข้าสินค้าไทยตามปกติ โดยสินค้าที่ผู้นำเข้าสั่งซื้อจากไทยและส่งมอบในเดือนธันวาคม 2566 เกิดความล่าช้าเพียง 3-5 วัน ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายด้านการค้าแต่อย่างใด แต่สำหรับสินค้าที่ได้ทำการสั่งซื้อจากไทยและมีกำหนดการส่งมอบในเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป อาจจะเริ่มส่งผลให้การส่งมอบสินค้าจากไทยมายังยุโรป เกิดความล่าช้าอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้ากับอิตาลี/ยุโรป ควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการปรับเพิ่มระยะเวลาในการส่งมอบสินค้า การเพิ่มขึ้นของราคาค่าขนส่งทางเรือ อันสืบเนื่องมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิง น้ำมัน การเจรจากับผู้นำเข้าเพื่อเร่งการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าก่อน ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มทวีความรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยมายังตลาดอิตาลีในเดือนมกราคม 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
——————————————————————-
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร, https://www.istat.it/en/ และ Il sole 24 ore
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 9 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 4899962 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ