รัฐบาลอินเดียออกมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าถั่วลันเตาสีเหลืองโดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่31 มีนาคม 2567 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือ Official Gazette (ประกาศ ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2566) โดยการดำเนินการในครั้งนี้ของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าแทรกแซงราคาและปรับสมดุลราคาในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกพืชตระกูลถั่ว จากรายงานข่าวระบุว่าการเก็บภาษีอากรสินค้าถั่วลันเตาสีเหลืองเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ในอัตราร้อยละ 50 ส่งผลให้อินเดียมี
การนำเข้าถั่วลันเตาสีเหลืองจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเรื่อยมา โดยอินเดียนำเข้าสินค้าดังกล่าวสูงสุดจากประเทศแคนาดาและรัสเซีย
อินเดียเป็นตลาดผู้บริโภคและผู้ผลิตรายใหญ่ของพืชตระกูลถั่ว ซึ่งจำเป็นต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้การบริโภคภายในประเทศเกิดความสมดุล อินเดียบริโภคชนิดของพืชตระกูลถั่วในลำดับต้นๆ อาทิ ถั่วลูกไก่ ถั่วลิสงแดง ถั่วลิสงเปลือกสีดำ ถั่วไก่สีขาว และถั่วไก่ดิน ด้วยการแทรกแซงราคาของรัฐบาล ทำให้ที่ผ่านมามีการขยายเพิ่มการจัดเก็บสินค้าคงคลังสำหรับถั่วไก่ดินและถั่วลิสงเปลือกดำ จากเดือนกันยายน ออกไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2566 นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับปริมาณสินค้าในคลังสินค้าให้มีความพอดีกับผู้ประกอบการทุกราย ทั้งนี้ระยะเวลาในการจัดเก็บสต๊อกของสินค้าทั้งสองชนิดได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา
ข้อมูลเพิ่มเติม
- กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วขอบคุณรัฐบาลที่ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสำหรับพืชตระกูลถั่วออกไปจนถึงเดือนมีนาคม 67 โดยกลุ่มสมาคมพ่อค้า Tamil Nadu Foodgrains ได้ใช้โอกาสดังกล่าวยื่นเรื่องขยายเวลาการนำเข้าออกไปอีกจนถึงเดือนมิถุนายน เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ของตลาด ผู้ประกอบการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแทรกแซงราคาหรือการปรับราคาในตลาดเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศของพืชตระกูลถั่วด้วย เนื่องจากปัจจุบันการยกเว้นภาษีนำเข้ามีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด หากพิจารณาถึงขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสินค้า ระบบโลจิสติกส์ การปล่อยสินค้า ในภาพรวมต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าคือการเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้กระบวนการทางราชการเกิดความล้าช้าขึ้น ด้วยเหตุนี้ สมาคมจึงทำเรื่องขยายเวลา ไปจนถึงมิถุนายนปีหน้า
- สมาคมได้ดำเนินการขออนุญาตยกเว้นภาษีนำเข้าถั่วจากออสเตรเลียเพิ่มเติม ซึ่งหากได้รับการอนุญาต โรงงานคัดแยก/โรงงานสีถั่วในเขตเมืองเกรละ กรกนาฎกะ ทมิฬนาฑู จะสามารถแปรรูปผลผลิตถั่วได้ ส่งผลให้โรงงานกลับเข้าสู่ระบบปฏิบัติการได้อีกครั้ง โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โรงงานสีถั่วได้ปิดกิจการเนื่องจากการจำกัดการนำเข้าของพืชตระกูลถั่ว ซึ่งการอนุญาตในครั้งนี้จะส่งผลให้โรงสีกว่า 2,000 แห่งกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง
ผลกระทบ
- 1. การขอเปิดตลาด จะเป็นการเปิดตลาดใหม่ในประเทศอินเดียสำหรับสินค้าถั่วลันเตาสีเหลือง เป็นแหล่งซื้อขายแห่งใหม่สำหรับผู้ส่งออกของไทย ที่จะสามารถจำหน่ายสินค้าโดยปราศจากภาษีอากรขาเข้า
- ความได้เปรียบทางการแข่งขัน ผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในครั้งนี้กว่าประเทศอื่นๆ ด้วยประเทศไทย มีประสบการณ์ในการผลิตและส่งออกสินค้าพืชผลทางการเกษตรอยู่แล้ว
- ภาวการณ์แข่งขันที่สูงขึ้น การยกเลิกภาษีอากรขาเข้าจะสร้างจุดสนใจและดึงดูดให้ประเทศคู่แข่งหลายประเทศ เดินหน้าทำการตลาดในอินเดีย ส่งผลให้เกิดสภาวะการแข่งขันที่ตึงตัว
- ความผันผวนของราคา ด้วยอุปทานของตลาดสินค้ามีเพิ่มขึ้นจากการยกเว้นภาษีอากรขาเข้า จะเป็นกลไกตลาดที่ส่งผลต่อปัจจัยด้านราคา ผู้ประกอบการต้องแข่งขันราคากัน ส่งผลกระทบต่อกำไรของผู้ส่งออกในที่สุด
ข้อคิดเห็น
ตลาดอินเดียบริโภคถั่วลันเตาสีเหลือง (HS code 07131010) ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี แต่ประเทศสามารถผลิตได้เพียง 500,000–600,000 ตันต่อปีเท่านั้น ส่งผลให้อินเดียต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าถั่วลันเตาสีเหลือง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ โดยประเทศที่อินเดียนำเข้า 3 อันดับแรกได้แก่ แคนาดา รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในขณะที่ประเทศไทย ตลาดส่งออกถั่วลันเตาสีเหลืองยังมีผู้เล่นไม่มากนัก ในปี 2565 การส่งออกสินค้าถั่วลันเตาสีเหลือง มูลค่า 23,977.40 เหรียญสหรัฐ และในปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกมูลค่า 81,837.74 เหรียญสหรัฐ ซึ่งมีประเทศส่งออกสำคัญตามส่วนแบ่งตลาดได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 50.51) ฮ่องกง (31.75) สิงคโปร์ (15.94) และมาเลเซีย (1.80) สคต.เห็นว่า การประกาศยกเว้นภาษีอากรของถั่วลันเตาสีเหลืองในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสและสร้างแต้มต่อทางการค้าและการขยายตลาดของผู้ประกอบไทยที่ส่งสินค้าเกี่ยวข้องกับถั่วลันเตาสีเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าผู้เล่นตัวใหม่สำหรับตลาดคนรักสุขภาพในวงการตลาดน้ำนมพืช ด้วยค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ทำให้เหมาะกับการบริโภคขอผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ทั้งนี้ ผู้ประกอบไทยควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อการนำเข้า การติดฉลาก และมาตรฐานที่จำเป็นในการส่งออกสู่ตลาดอินเดีย