ไทย-เวียดนามจับตาการค้าระหว่างกัน บรรลุ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไทยและเวียดนามให้คำมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการเพิ่มการค้าสองทางเป็น 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ในระหว่างการประชุมกับนาย Vuong Dinh Hue ประธานสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย (Thai Chamber of Commerce หรือ TCC) กล่าวว่า ประเทศไทยจะพยายามเพิ่มปริมาณการค้าของทั้งสองประเทศ

TCC จะทํางานอย่างใกล้ชิดกับสมาพันธ์การค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (Vietnam Chamber of Commerce and Industry หรือ VCCI) เพื่ออํานวยความสะดวกในความร่วมมือระหว่างธุรกิจเวียดนามและไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ

จากรายงานของสํานักข่าวเวียดนาม นาย Vuong Dinh Hue เน้นย้ำว่า เป้าหมายการค้าสองทางมูลค่า 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเพียงในอนาคตอันใกล้เท่านั้น และทั้งสองฝ่ายควรมุ่งสู่ตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน

ในวันเดียวกัน นาย Vuong Dinh Hue ยังได้พบปะกับผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ไทย ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่ดําเนินธุรกิจและลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (WHA)

นาย Vuong Dinh Hue แสดงความหวังว่าบริษัทไทยจะยังขยายการลงทุนด้านการผลิตและธุรกิจในเวียดนามตามแนวโน้มความร่วมมือของทั้งสองประเทศ

(แหล่งที่มา https://english.thesaigontimes.vn/ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2566)

วิเคราะห์ผลกระทบ

ในปี 2565 เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในกลุ่มอาเซียน รองจากมาเลเซีย ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของเวียดนามในอาเซียน ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2561 – 2565) การค้าระหว่างไทย – เวียดนามมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 20,803.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.58 ต่อปี และในปี 2565 การค้ารวมไทย – เวียดนามมีมูลค่า 21,193.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่า 5,276.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบันการค้าระหว่างไทย – เวียดนาม (ม.ค.-พ.ย. 2566) มีมูลค่า 19,431.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 9.63 โดยไทยส่งออกไปเวียดนามเป็นมูลค่า 12,186.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.08 และไทยนำเข้าจากเวียดนามเป็นมูลค่า 7,244.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.18

ด้านการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 การลงทุนจากประเทศไทยในเวียดนามมี 54 โครงการใหม่ ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 470 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการปรับเพิ่มเงินทุน 173 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการซื้อหุ้นในธุรกิจเวียดนามด้วยมูลค่า 37 ล้านเหรียญสหรัฐ และปัจจุบันประเทศไทยเป็นนักลงทุน อยู่ในอันดับที่ 9 โดยมี 733 โครงการ ด้วยมูลค่าเงินทุนจดทะเบียนรวม 14,035 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูป ภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจค้าปลีก

ภาคเอกชนของไทยโดยการนำของหอการค้าไทย กำลังมีความร่วมมือกับสมาพันธ์การค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีเป็น 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ทั้งสองฝ่ายส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางระหว่างท้องถิ่นในทั้งสองประเทศ อาทิ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจจังหวัดทางตอนกลางของเวียดนาม และจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การเชื่อมต่อโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานทางถนนและทางน้ำ สานต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกและระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ฝ่ายเวียดนามยังมีการสนับสนุนให้บริษัทไทยเข้ามาลงทุนด้านพลังงานสีเขียว ยานยนต์ อาหารแปรรูป สิ่งทอ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และโครงสร้างพื้นฐานในนิคมอุตสาหกรรม โดยจะสร้างเงื่อนไขที่ดีที่สุดที่อำนวยความสะดวกแก่บริษัทไทย

การที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งออก-นำเข้าระหว่างกัน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในด้านการลงทุนแก่นักลงทุนไทยดังกล่าว จะทำให้การค้าสองฝ่ายบรรลุเป้าหมาย 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 ตามที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้เห็นชอบร่วมกัน

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

เวียดนามเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ในปี 2565 มีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ร้อยละ 8.02 คาดการณ์การขยายตัวของ GDP ในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 4.7-5.0 รวมทั้ง ธนาคารโลกได้ประมาณการการขยายตัวของ GDP เวียดนามในปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 5.5

ปัจจุบันการส่งออกของเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.84 และการลงทุน โดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8.เมื่อเทียบกับปี 2565 อันเป็นผลมาจากการส่งเสริมการส่งออกของรัฐบาลโดยการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านแดนที่สำคัญของไทยไปยังประเทศจีน เวียดนามจึงถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสทางการค้า-การลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย

thThai