(ที่มา : สำนักข่าว Maeil Business ฉบับวันที่ 19 ธันวาคม 2566)
เนื่องจากใกล้เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ความต้องการบริโภคเค้กสำหรับเฉลิมฉลองเทศกาลในเกาหลีใต้จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเค้กที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้บริโภคเกาหลีในช่วงเทศกาลคือ เค้กที่มีราคาที่ไม่เกิน 10,000 วอน
Shinsegae Food บริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของเกาหลีรายงานว่า ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ราคาไม่เกิน 10,000 วอน ที่วางขายใน Boulangerie และ E-bakery ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือ ตั้งแต่วันที่ 1-18 ธันวาคม มียอดขายถึง 40,000 ชิ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดขายปีก่อนหน้า 15%
การที่เค้กราคาย่อมเยาได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมบริโภคสินค้าของผู้บริโภคเกาหลีใต้ ที่ต้องการใช้จ่ายอย่างประหยัดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีอ้างว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 112.74 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ร้อยละ 3.3% ทั้งนี้ ดัชนีของสินค้าประเภทเค้กเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8.3% ที่ 123.32
โดยทั่วไป เค้กมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นก่อนและหลังเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคนิยมซื้อเค้กกันมาก อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำเค้กและเบเกอรี่ เช่น แป้ง และน้ำตาล รวมถึงค่าแรงที่สูงขึ้น ทำให้เค้กและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่มีต้นทุนและราคาแพงกว่าปีก่อน ๆ ซึ่งราคาเค้กโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 – 40,000 วอนต่อก้อน
เมื่อคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ แล้ว Shinsegae Food จึงตัดสินใจร่วมมือกับบริษัทในเครือที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม เพื่อมอบส่วนลดให้กับผู้บริโภคที่ซื้อเค้กคริสต์มาสพร้อมกับไวน์ โดยเป้าหมายกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทฯ คือ ผู้บริโภคที่นิยมจัดงานเลี้ยงที่บ้านและมีงบประมาณจำกัด
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า ณ ปัจจุบันที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้อยู่ในภาวะเติบโตไม่ดีเท่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ สินค้าอุปโภคบริโภคและการบริการในเกาหลีใต้ที่ราคาสบายกระเป๋ามีแนวโน้มที่จะจำหน่ายได้ง่ายกว่าสินค้าราคาสูง เนื่องจากผู้บริโภคเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับราคามากขึ้น (price sensitive) ถึงแม้ว่าชาวเกาหลีจะให้ความสำคัญกับเทศกาลคริสต์มาสหรือการฉลองส่งท้ายปีเก่ามากเพียงใด แต่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้บริโภคจำนวนมากรู้สึกเป็นภาระในการฉลองเทศกาลที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง จึงเริ่มมองหาและเลือกซื้อสินค้าที่ราคาสมเหตุสมผลและสามารถฉลองเทศกาลที่บ้านของตัวเองได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ส่งออกสินค้าไปตลาดเกาหลีใต้ จำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเกาหลีดังกล่าว และโครงสร้างของราคาสินค้าที่ผู้บริโภคคิดว่าสมเหตุสมผลและไม่เป็นภาระมากเกินไป เพื่อจะได้สามารถแข่งขันด้านราคา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้าสำหรับผู้บริโภคตลาดเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสำรวจกระแสสินค้าในแต่ละเทศกาลเพื่อจะได้ตามเทรนด์ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้กลยุทธ์ลดปริมาณสินค้าแต่ขายในราคาเดิม หรือมีของสมนาคุณคู่กับสินค้าหลัก เพื่อทำให้ผู้บริโภคคิดว่าคุ้มค่าที่จะซื้อโดยคงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานเท่าเดิม
********************************************************************