(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2566)
สำนักงานสถิติเห่งชาติเกาหลีใต้รายงานเมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566 ว่า ชาวเกาหลีใต้ที่อาศัยคนเดียว (ครัวเรือนคนเดียว) และมีรายได้น้อยกว่าครึ่งของรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนทั่วไปในประเทศนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุด
จากข้อมูลพบว่า ครัวเรือนคนเดียวในเกาหลีใต้ในปี 2565 มีจำนวนทั้งหมด 7.5 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้นจาก 7.16 ล้านครัวเรือนในปีก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขในปี 2565 นับว่าเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ที่สำนักงานฯ เคยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ในปี 2565 สัดส่วนครัวเรือนคนเดียวในเกาหลีใต้คิดเป็นร้อยละ 34.5 ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จากร้อยละ 33.4 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงสูดเท่าที่เคยมีมา และสูงถึงร้อยละ 34 เป็นครั้งแรก ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า จำนวนชาวเกาหลีใต้ที่อาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น และคนหนุ่มสาวแต่งงานช้าขึ้น ทั้งนี้ จำนวนครัวเรือนคนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โดยในปี 2560 มีจำนวนครัวเรือนคนเดียว 5.61 ล้านครัวเรือน เป็น 5.84 ล้านครัวเรือนในปี 2561 และเพิ่มเป็น 6.14 ล้านครัวเรือนในปี 2562 และ 6.64 ล้านครัวเรือนในปี 2563 ตามลำดับ
จากสถิติในปี 2565 พบว่า ในบรรดาครัวเรือนคนเดียวเกาหลีใต้ ผู้ที่อยู่ในวัย 20 ปี มีอัตราส่วนมากที่สุดที่ร้อยละ 19.2 รองลงมาคือผู้สูงอายุวัย 70 ปีที่ร้อยละ 18.6 และผู้ที่อยู่ในวัย 30 ปีที่ร้อยละ 17.3 ซึ่งหากแบ่งตามเพศ จะพบว่า ผู้หญิงอายุ 70 ขึ้นไปที่อาศัยเพียงลำพังมีอัตราส่วนมากที่สุดที่ร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับผู้หญิงในวัย 20 ปีซึ่งมีอัตราส่วนร้อยละ 18.9 สำหรับเพศชาย ร้อยละ 22 หรืออัตราส่วนที่สูงที่สุดคือชายวัย 30 ปี ตามด้วยผู้ชายวัย 20 ปี ซึ่งมีอัตราส่วนร้อยละ 19.5
นอกจากนี้ รายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนคนเดียวต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด โดยครัวเรือนคนเดียวมีรายได้เฉลี่ย 30.1 ล้านวอน (22,791 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2565 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยรายได้ของครัวเรือนทั้งหมด 67.62 ล้านวอน นอกจากนี้ ครัวเรือนคนเดียวมีทรัพย์สินโดยเฉลี่ย 295 ล้านวอน และมีหนี้สินเฉลี่ย 36.51 ล้านวอนในปี 2566 ในขณะที่ทรัพย์สินและหนี้สินโดยเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมดอยู่ที่ 527 ล้านวอน และ 91.86 ล้านวอน ตามลำดับ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า จำนวนครัวเรือนคนเดียวในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้แต่งงานช้าหรือเลือกที่จะไม่ออกเรือนมีครอบครัวมากขึ้น และการที่เกาหลีใต้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว และนอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวในเร็ววัน ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นทำให้ลำบากต่อการซื้อบ้านเพื่อสร้างครอบครัว ทำให้คนเกาหลีสมัยใหม่เลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคสินค้าและบริการในเกาหลีใต้ที่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้น ผู้ประกอบไทยที่ต้องการส่งออกสินค้ามายังเกาหลีใต้ จำเป็นต้องศึกษาโครงสร้างประชากรและความต้องของการบริโภคและบริการที่เปลี่ยนไป เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้เหมาะกับตลาด โดยอาจเน้นผลิตและพัฒนาสินค้าสำหรับกลุ่มคนที่อาศัยคนเดียว เช่น อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน เฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านสำหรับผู้ที่อยู่คนเดียว สินค้าเพื่อความงามและสุขภาพ เป็นต้น และต้องคำนึงถึงการลดต้นทุนโดยคงคุณภาพสินค้าเอาไว้ เพื่อที่จะให้ครัวเรือนคนเดียวที่มีรายได้ต่ำ สามารถบริโภคสินค้าจากไทยได้
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล