ในปี 2565 ขนาดตลาดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ มีมูลค่า 149,620 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตจาก 161,310 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เป็น 225,620 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.91 ในระหว่างปี 2565 – 2573

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ในปีนี้นับว่าเป็นปีแห่งนวัตกรรม ตั้งแต่การนำเสนอเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ไปจนถึงนวัตกรรมที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบของเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง อาทิ เครื่องดื่มไฮบริด (hybrid beverages) อย่างเช่น โค้กผสมกาเเฟ น้ำอัดลมผสมกับน้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลมผสมกับชา  เป็นต้น

SYNERGY บริษัทวิจัยด้านการตลาด ได้วิเคราะห์ 5 เทรนด์ที่น่าจับตามองในปี 2567 ของเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ต่อผู้ผลิตในปีใหม่ ดังนี้

  1. เครื่องดื่มที่ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย

ร้อยละ 82 ของผู้บริโภคในอเมริกาเหนือ เลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดีต่อสุขภาพ และยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น โดยพบความต้องการเครื่องดื่มโซดาที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกมีการเติบโตค่อยข้างสูง และผู้บริโภคคาดหวังที่จะเห็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกหรือจุลินทรีย์ชนิดดีมากขึ้นจากผู้ผลิต

  1. เครื่องดื่มรสชาติที่เติมความมีชีวิตชีวาและความสดชื่น

นอกจากความต้องการเครื่องดื่มที่มีรสชาติที่หอมหวานอร่อยแล้ว ผู้บริโภคต้องการเครื่องดื่มที่ให้ความรู้สึกสดชื่นผ่อนคลายควบคู่ไปด้วย เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นจะสามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและวิตกกังวล โดยมะนาวคือส่วนผสมที่สำคัญในเครื่องดื่มหมวดนี้ และส่งผลให้ผลไม้ตระกูลซิตรัส หรือผลไม้ชนิดเปรี้ยวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ ส้มยูซุ (yuzu) ส้มสีเลือด (blood orange) และเกรปฟรูตเนื้อสีชมพู (pink grapefruit) ได้กลายเป็นที่นิยมไปด้วย โดยรสชาติที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น ได้แก่ สตรอเบอร์รี่ แตงโม มะม่วง เสาวรส และบลูเบอร์รี่ เป็นต้น

  1. เครื่องดื่ม Plant-Based

ร้อยละ 60 ของผู้บริโภคในอเมริกาเหนือ นิยมเครื่องดื่มที่ทำจากพืช (Plant-Based Beverage) โดยประเภทเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือน้ำมะพร้าว น้ำว่านหางจระเข้ น้ำกระบองเพชร และน้ำแตงโม ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้บริษัทมีการเปิดตัวเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากพืชตลอดทั้งปี 2566 ที่ผ่านมาและคาดว่าในปี 2567 ผู้ผลิตเครื่องดื่มจะมีจับคู่ส่วนผสมจากพืชและส่วนผสมที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอื่นๆเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

  1. เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 0% ที่นอกเหนือจากเบียร์

ตลาดเครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ผลิตได้มองไปไกลกว่าการผลิตเบียร์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 0% โดยมีการพัฒนาการผลิตสุราไร้แอลกอฮอล์ ไวน์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์น้อยหรือไม่มีเลย หรือที่เรียกว่า NA wine ผู้ผลิตเครื่องดื่มในสหรัฐฯ ต่างกำลังสำรวจช่องทางการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสายสุขภาพที่ชอบสังสรรค์และดื่มเพื่อเข้าสังคมเท่านั้น หรือผู้บริโภคที่ต้องการดื่มแต่ไม่อยากมึนเมา

 

  1. เครื่องดื่มไฮบริด (hybrid beverages) และเครื่องดื่มสปาร์คกลิ้งรสผลไม้

แนวโน้มการบริโภคในสหรัฐอเมริกา ได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยหลายด้าน เนื่องจากชาวสหรัฐฯ มีทางเลือกในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย เพราะมีประชากรที่อยู่อาศัยจากหลายเชื้อชาติ อีกทั้ง ชาวสหรัฐฯ ชื่นชอบการสังสรรค์ตามงานเลี้ยงและเทศกาลสำคัญต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ความต้องการประเภทของเครื่องดื่มมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเครื่องดื่มที่กำลังเป็นที่นิยมตามงานเลี้ยงสังสรรค์ ได้แก่ เครื่องดื่มไฮบริด (hybrid beverages) หรือเครื่องดื่มลูกผสม อย่างเช่น โค้กผสมกาเเฟ น้ำอัดลมผสมกับน้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลมผสมกับชา เป็นต้น และเครื่องดื่มสปาร์คกลิ้งรสผลไม้ต่างๆ (Sparkling Water น้ำที่ผ่านการอัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อเติมความซ่าและความสดชื่น) เป็นต้น

ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในตลาดสหรัฐอเมริกากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวโน้มความนิยมของผู้บริโภคเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์นับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความต้องการการบริโภคเครื่องดื่มให้เพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่าในอดีตมีเพียงเครื่องดื่มเบียร์ที่ไร้แอลกอฮอล์จำหน่ายในตลาด จนปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มได้พัฒนาไปจนถึงสุราและไวน์ไร้แอลกอฮอล์ รวมทั้ง น้ำอัดลมระดับพรีเมียม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้เกิดความท้าทายในตลาดเครื่องดื่มในสหรัฐฯ มากขึ้น    แต่อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ของไทยยังมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดและเพิ่มสัดส่วนตลาดของเครื่องดื่มได้ เนื่องจากที่ ไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบส่วนผสมจากพืชผักผลไม้ธรรมชาติหรือจำพวกสมุนไพรที่มีความเป็นเอกลักษณ์ หากสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความนิยมของชาวอเมริกันได้ จะทำให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลอ้างอิงจาก: https://www.synergytaste.com/insights/5-trends-to-watch-2024-non-alcoholic-beverage/

สคต. นิวยอร์ก ธันวาคม 2566

thThai