ประเทศอิตาลีมีสถานประกอบการร้านอาหารมากกว่า 334,000 แห่ง โดย 52% เป็นร้านอาหารพร้อมให้บริการจัดเลี้ยงและเตรียมอาหารแบบซื้อกลับบ้าน (take away) โดยในสัดส่วนดังกล่าวเป็นร้านอาหารพร้อมบริการจัดเลี้ยง คิดเป็น 41% ของร้านอาหารทั้งหมดในอิตาลี โดยตั้งแต่ปี 2564 ตัวชี้วัดของธุรกิจร้านอาหารพร้อมจัดเลี้ยงกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง จากการปรับปรุงข้อมูลล่าสุดของ TheFork (แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความเชื่อถือสำหรับจองร้านอาหาร) เกี่ยวกับแนวโน้มการเปิดร้านอาหารใหม่ในอิตาลี ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 โดยร้านอาหารพร้อมบริการจัดเลี้ยงมีจำนวน 136,852 ร้าน และเติบโตอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยเปิดให้บริการทั่วประเทศอิตาลี แบ่งเป็น 24% ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ 17% ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25% ตั้งอยู่ในภาคกลางของอิตาลี และ 35% ตั้งอยู่ในภาคกลาง-ใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปี 2563 จำนวนร้านเปิดใหม่เริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีร้านอาหารใหม่ที่เปิดให้บริการแล้วจำนวนกว่า 2,500 ร้าน ในระหว่างเดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 พบว่าร้านอาหารที่เปิดให้บริการใหม่ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารอิตาเลียน หรืออาหารท้องถิ่นทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 55% (ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น) เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่จำนวนร้านอาหารเปิดใหม่โดยเฉพาะร้านอาหารเอเชียมีสัดส่วนลดลง ในขณะที่หากพิจารณาในเรื่องของราคา พบว่าระดับในด้านของราคาอาหารของร้านอาหารเปิดใหม่ มีการปรับระดับของราคาอาหารลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา โดยในปี 2566 ร้านอาหารเปิดใหม่มีระดับราคาอาหารระหว่าง 15 ยูโร ถึง 30 ยูโร/คน มีสัดส่วนถึง 60% (มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วน 56% ในขณะที่ร้านอาหารเปิดใหม่ที่มีระดับราคาอาหารที่สูงกว่า 50 ยูโร/คน มีสัดส่วน 5% (มีสัดส่วนลดลง) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วน 8%
เมื่อพิจารณาจากประเภทของร้านอาหารเปิดใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า พบว่าร้านอาหารเปิดใหม่ 55% ให้บริการอาหารอิตาเลียนหรืออาหารท้องถิ่นทั่วไป 17% เป็นร้านอาหารเอเชีย 15% ร้านพิซซ่า 7% ร้านอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือปลา และ 6% ร้านอาหารนานาชาติ (กรีก เม็กซิกัน ฝรั่งเศส ฯลฯ) โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 จะพบว่าร้านอาหารเปิดใหม่ที่มีสัดส่วนขยายตัวลดลงมากที่สุด คือ ร้านอาหารเอเชีย (สัดส่วน 17%) รองลงมา ได้แก่ อาหารนานาชาติ (สัดส่วน 6%) และเนื้อสัตว์/ทะเล (สัดส่วน 7%)
โดยร้านอาหารเปิดใหม่ที่ให้บริการอาหารอิตาเลียนหรืออาหารท้องถิ่นทั่วไป ส่วนใหญ่เปิดให้บริการในภูมิภาคทางตอนกลางและตอนใต้ของอิตาลีเป็นหลัก สำหรับร้านอาหารเอเชีย และร้านอาหารเนื้อสัตว์/ทะเล เปิดให้บริการในภูมิภาคทางตอนเหนือของอิตาลี โดยร้านอาหารเปิดใหม่ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2566มากกว่าครึ่ง หรือประมาณ 60% ตั้งราคาอาหารอยู่ระหว่าง 15 ยูโร ถึง 30 ยูโร (ต่อคน) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยราคาอาหารระหว่าง 30 ยูโร ถึง 50 ยูโร (ต่อคน) อยู่ที่ 14% ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง สำหรับราคาอาหารระหว่าง 50 ยูโร ถึง 70 ยูโร (ต่อคน) อยู่ที่ 3% ขยายตัวลดลงจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 5% และราคารอาหารที่มากกว่า 70 ยูโร (ต่อคน) อยู่ที่ 2% ขยายตัวลดลงจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 3%
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
1. ในช่วงตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารในอิตาลีถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีปัจจัยมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นความต้องการลองชิมอาหารที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น การเลือกพบปะสังสรรค์ในร้านอาหาร และการใช้เวลาอยู่รวมกันในโอกาสพิเศษต่าง ๆ จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นของ TheFork จะพบว่าร้านอาหารอิตาเลียนยังคงถือเป็นประเภทร้านอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะเน้นให้บริการอาหารที่มีราคาเฉลี่ยต่อหัวไม่เกิน 30 ยูโร เพื่อเปิดโอกาสแก่ผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา รวมถึงครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกมาก สามารถมีโอกาสในการรับประทานอาหารนอกบ้านได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตุข้อมูลดังกล่าวข้างต้นกลับพบว่า ร้านอาหารเอเชียและร้านอาหารนานาชาติมีการเปิดให้บริการลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยร้านอาหารไทยในอิตาลีมีจำนวน 56 ร้าน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นร้านอาหาร Thai SELECT จำนวน 11 ร้าน แต่เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานพ่อครัว/แม่ครัวไทยในอิตาลี ที่มีความรู้ความเข้าใจในการปรุงอาหารไทย ส่งผลให้ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่ต้องใช้พ่อครัว/แม่ครัวชาวต่างชาติแทน ซึ่งอาจทำให้การปรุงอาหารไทยเกิดความผิดเพี้ยน และอาจทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจที่ผิด ๆ เกี่ยวกับอาหารไทย
2. ปัญหาหลักของการเปิดร้านอาหารไทยในอิตาลี คือ การขาดแคลนแรงงานเชฟไทยที่มีประสบการณ์ ซึ่งที่ผ่านมา การกำหนดโควต้าประจำปีของแรงงานที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานในอิตาลีได้นั้นจะถูกกำหนดโดยรัฐบาลอิตาลี โดยเดือนตุลาคม 2566 รัฐบาลอิตาลีได้มีการประกาศกฎหมาย (Decreto Flussi) ว่าด้วยการอนุญาตโควต้าแรงงานที่เข้ามาทำงานในอิตาลีในช่วง 3 ปี ระหว่างปี 2566 – 2568 จำนวน 451,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็น ปี 2566 136,000 ตำแหน่ง ปี 2567 151,000 ตำแหน่ง และปี 2568 165,000 ตำแหน่ง โดยปี 2566 แบ่งเป็น โควต้าการจ้างงานตามฤดูกาล จำนวน 82,550 ตำแหน่ง และการจ้างงานนอกฤดูกาล จำนวน 53,450 ตำแหน่ง โดยประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรปที่ได้รับสิทธิในโคว้ต้าดังกล่าว มี 35 ประเทศ (แอลเบเนีย แอลจีเรีย บังกลาเทศ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เกาหลีใต้ โกตดิวัวร์ อียิปต์ เอลซัลวาดอร์ เอธิโอเปีย ฟิลิปปินส์ แกมเบีย จอร์เจีย กานา ญี่ปุ่น จอร์แดน กัวเตมาลา อินเดีย คีร์กีซสถาน คอซอวอ มาลี โมร็อกโก มอริเชียส มอลโดวา มอนเตเนโกร ไนจีเรีย ไนเจอร์ ปากีสถาน มาซิโดเนียเหนือ เปรู เซเนกัล เซอร์เบีย ศรีลังกา ซูดาน ตูนิเซีย และยูเครน) ซึ่งพบว่าแรงงานจากต่างประเทศที่รัฐบาลอิตาลีอนุญาตให้นำเข้ามาได้นั้นไม่มีประเทศไทยดังนั้น การที่ไทยไม่ได้รับโควต้าการนำเข้าแรงมายังอิตาลี ก็อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ร้านอาหารไทยในอิตาลียังขยายตัวไม่มากนักหากเทียบกับร้านอาหารไทยในประเทศอื่นๆ ในยุโรป การเปิดร้านอาหารไทยเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มอัตราการจ้างงาน และส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องในอิตาลีได้ไม่มากก็น้อย
——————————————————————-
ที่มา: Food Affairs, Gazzetta Ufficiale
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 11 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 6069692 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ