การประชุม 2023 Sichuan-Chongqing Region & Mekong Countries Sub-National Cooperation Forum และการสำรวจตลาดค้าส่งผลไม้ในนครฉงชิ่ง

การประชุม 2023 Sichuan-Chongqing Region & Mekong Countries Sub-National Cooperation Forum และการสำรวจตลาดค้าส่งผลไม้ในนครฉงชิ่ง

          การประชุมหารือความร่วมมือระหว่างมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง กับประเทศลุ่มน้ำโขง (2023 Sichuan-Chongqing Region & Mekong Countries Sub-National Cooperation Forum) ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ นครฉงชิ่ง ภายใต้ธีม “Together on a Path to Happiness, Nourished By the Shared River” เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงและความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่าง มณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง พร้อมผู้แทนระดับสูงจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

          ในการประชุมดังกล่าว นายเฉิน หมิงโป รองนายกเทศมนตรี นครฉงชิ่ง กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่งกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเป็นความร่วมมือที่มีศักยภาพสูงมาก นครฉงชิ่งยินดีที่จะกระชับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมทั้งด้านการส่งเสริมการเชื่อมต่อของโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม เช่น ทางรถไฟ ทางบก ท่าเรือ สนามบิน และด้านกฎระเบียนการค้าและการลงทุน

          นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นผู้แทนระดับสูงจากฝ่ายไทย ได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยได้กล่าวสนับสนุนการยกระดับความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน และการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ เพื่อขยายการค้าและการลงทุน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA)

     หลักจากการประชุม คณะผู้แทนไทยได้ไปเยี่ยมชมตลาดค้าส่งซวงฝู ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในนครฉงชิ่ง ครอบคลุมพื้นที่ 2,455 หมู่ (หรือเท่ากับ 1,022.92 ไร่) และพื้นที่สร้างเสร็จปัจจุบัน 1,400 หมู่ (หรือเท่ากับ 583.33 ไร่) โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ตลาดจำหน่ายสินค้าผักสด ตลาดจำหน่ายสินค้าผลไม้ และตลาดจำหน่ายสินค้าแช่เย็น/แช่แข็ง สินค้าเกษตรที่ตลาดซวงฝูจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นผักสด ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ธัญพืชและน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งสินค้าเกษตรเหล่านี้นอกจากจำหน่ายในตลาดนครฉงชิ่งแล้ว ยังกระจายไปยังมณฑลที่ใกล้เคียงด้วย เช่น มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลหูเป่ย เป็นต้น ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้ ตลาดซวงฝูมีการจำหน่ายผลไม้นำเข้าจากอาเซียนมากกว่า 97,000 ตัน ซึ่งได้ตอบสนองความต้องการผลไม้นำเข้าประมาณร้อยละ 80 ของตลาดฉงชิ่ง ส่วนผลไม้ไทยที่จำหน่ายในตลาดฯ อาทิ ทุเรียน มังคุด กล้วยไข่ ลำไย ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวฉงชิ่งเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลไม้ไทยมีรสชาติดี และคุณภาพสูง

การประชุม 2023 Sichuan-Chongqing Region & Mekong Countries Sub-National Cooperation Forum และการสำรวจตลาดค้าส่งผลไม้ในนครฉงชิ่ง

          ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้พบกับผู้บริหารของตลาดซวงฝู เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านรูปแบบการบริหารจัดการด้านการตลาดครบวงจร ตั้งแต่การรับซื้อจนกระทั่งการกระจายสินค้า ในขณะเดียวกัน ยังได้ทราบแนวทางการนำผลไม้จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ตลาดฉงชิ่งภายใต้โครงการ New Western Land-Sea Corridor นายหลี่ จู่หมิง ผู้แทนจากรัฐบาลฉงชิ่ง แนะนำว่า ปัจจุบัน นครฉงชิ่งได้เปิดรถไฟสาย    โซ่เย็นผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว โดยผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน จะเดินทางมาถึงที่สถานี Xiaonanya นครฉงชิ่งก่อน หลังจากนั้น จะขนส่งไปยังตลาดค้าส่งซวงฝู เพื่อจำหน่ายไปยังตลาดมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้พบกับตัวแทนจากบริษัทนำเข้าผลไม้ Hongjiu และบริษัทนำเข้าผลไม้ Jinguoyuan รายใหญ่ของนครฉงชิ่งด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต. 

          นอกจากการประชุม 2023 Sichuan-Chongqing Region & Mekong Countries Sub-National Cooperation Forum แล้ว รัฐบาลนครฉงชิ่งยังได้จัดนิทรรศการผลสําเร็จการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่าง มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง กิจกรรมการนำไปชม International Logistics Hubin Inland China และบรษิท SERES Automobile ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานไปกับการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อให้คณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกลุ่มแม่โขงมีความเข้าใจอย่างครอบคลุมและเจาะลึกเกี่ยวกับสภาพการก่อสร้างเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง และ New Western Land-Sea Corridor เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่าง มณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง และประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

          จากข้อมูลของศุลกากรนครฉงชิ่ง ระบุว่า ในปี 2565 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างนครฉงชิ่งกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงสูงถึง 70,078.404 ล้านหยวน โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 24,031.516 ล้านหยวน และมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 46,046.889 ล้านหยวน ขณะที่ข้อมูลของศูนย์องค์กรโลจิสติกส์และปฏิบัติการ New Western Land-Sea Corridor ระบุว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าของรถไฟขนส่งทางราง-ทะเล (นครฉงชิ่ง-ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง) สูงถึง 54,000 TEU (ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) โดยมีมูลค่าสินค้าทั้งสิ้น 10.25 พันล้านหยวน ขณะที่การขนส่งสินค้าทางบกของนครฉงชิ่งไปยังประเทศลุ่มแม่น้ำโขงรวมทั้งสิ้น 12,498 เที่ยว โดยมีน้ำหนักสินค้ารวมมากกว่า 212,000 ตัน และมูลค่ารวมกว่า 7.7 พันล้านหยวน ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน นครฉงชิ่งและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ในฐานะที่เป็นศูนย์การขนส่งทางคมนาคมและการกระจายสินค้า คาดว่า นครฉงชิ่งจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับประเทศสมาชิกลุ่มแม่โขง

 

 

 

 

————————————————–

 

 

 

แหล่งข้อมูล :

http://admin.cq.gov.cn/ywdt/jrcq/202311/t20231124_12602007.html

https://news.cqjjnet.com/web/aritcle/1177637134567264256/web/content_1177637134567264256.htm

https://www.cbg.cn/show/4933-3412905.html

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

thThai