Nordic Organic Food Fair และ Eco Living Scandinavia จัดโดย บริษัท Diversified Communications UK เป็นงานแสดงสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่สำคัญงานหนึ่งของกลุ่มประเทศนอร์ดิกเพื่อการเจรจาการค้า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า Malmömässan เมืองมัลโม ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสวีเดน ห่างจากกรุงโคเปนเฮเกน 30 นาทีโดยรถยนต์ มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ารวม 500 บริษัท/องค์กร จากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก มีผู้เข้าชมงานประมาณ 5,000 ราย สื่อมวลชนจำนวนประมาณ 30 ราย มีสินค้าที่จัดแสดงรวมกว่า 1,000 รายการ บนพื้นที่จัดแสดง 4,000 ตร.ม.
มีประเทศที่เข้าร่วมงานในรูปแบบ Country Pavilion กว่า 15 ประเทศ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน ออสเตรีย (Adventage Austria) เนเธอร์แลนด์ ลัตเวีย โปแลนด์ (Natural Beauty Poland) เวกาดอร์ Region of Central Macedonia และ Region of Attica เป็นต้น บริษัท/องค์กรที่เข้าร่วมจัดแสดงสินค้า เช่น องค์กร Organic Denmark, Organic Sweden (KRAV) Eko-Portalen.se (แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออร์แกนิกสวีเดน) สถานเอกอัครราชทูตเปรูในสวีเดน Regional Development – Investment in Skåne, Italian Trade Office, Hub.brussels และ Made in Uzbekistan เป็นต้น
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการเสวนา Organic & Eco Living Talks และ Beauty Bar and Speakers Corner ที่มีผู้เชียวชาญในอุตสาหกรรมเข้าร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมสินค้าออร์แกนิกในกลุ่มประเทศนอร์ดิก มีเวทีการประกวดสินค้าใหม่ๆ “The Innovation Zone” สำหรับสินค้าอาหาร และ “Beauty Innovation Zone” สำหรับสินค้าเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
ในงานฯ แบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่ (1) Nordic Organic Food Fair (2) Eco Living Scandinavia (3) Natural Beauty Show (4) Natural Health Show และ (5) Plant Based Show โดยมีสินค้าที่จัดแสดง ดังนี้
1) อาหารออร์แกนิกพร้อมรับประทาน และ To Go products
2) อาหารแปรรูป
3) ขนมขบเคี้ยว ช็อคโกแล็ต ถั่ว
4) เครื่องปรุงรส น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง
5) อาหารเสริมโปรตีน และวิตามิน (Supplement & nutrition products)
6) เครื่องดื่ม
7) เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Bodycare, face care & haircare)
8) สินค้าสำหรับทารก และเด็กอ่อน
9) สินค้าเพื่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องอื่นๆ (Eco living products)
สินค้าที่โดดเด่นที่พบเห็นภายในงาน เช่น ผลิตภัณฑ์ปรุงรสจากวัตถุดิบเหลือใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำซุปทะเลจากกระดองปู ที่นำของเหลือกระดองปู และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่เหลือใช้จากอุตสาหกรรมมาเป็นผลิตภัณฑ์ (https://reduced.dk/) ผลิตภัณฑ์จากเห็ด Hermann Bio Fungi Pad® ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิว Wegwartehof ที่ทำมาจากน้ำนมแม่ม้าตัวเมีย (Mare) ผ้าอ้อมเด็กอ่อนสำเร็จรูปที่ทำจากเส้นใยไผ่ ปราศจากพลาสติก แชมพูบาร์ Essabó Solid Shampoo และกระเป๋ารักษ์โลกร้อน Goodbag https://www.goodbag.io/ เป็นต้น
ภายในงาน บริษัทฯ ต่างๆ ได้จัดมุมให้ชิมอาหาร และเครื่องดื่มควบคู่กัน รวมทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน เช่น Beauty Demo Area, Start up Meeting area, Social Media Wall, Media Hub/Press Area, B2B/Matchmaking Meeting Area นวด และดูโหราศาสตร์ เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เวปไซต์ https://www.nordicorganicexpo.com/ โดยการจัดงานครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 10 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า Kistamässan ทางตอนเหนือของกรุงสตอกโฮล์ม
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต.:
● ตราสัญลักษณ์ออร์แกนิกที่ได้รับการยอมรับนตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิก ได้แก่ ตราสัญลักษณ์ EU Organic logo (สหภาพยุโรป) The Danish organic label (เดนมาร์ก) KRAV (สวีเดน) และ Debio (นอร์เวย์)
● ในปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดขายสินค้าอาหารออร์แกนิกในกลุ่มประเทศนอร์ดิกลดลง โดยเฉพาะเดนมาร์ก และสวีเดน เนื่องจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องเลือกซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่า อย่างไรก็ดี คาดว่ายอดขายในปี 2567 จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง
● แนวโน้มสินค้าอาหารอออร์แกนิกในตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่สำคัญ คือ ผู้บริโภคยังคงสนใจในประเด็นด้านการรักษาสุขภาพ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และการคำนึงถึงจริยธรรม (health, environmental sustainability, and ethical considerations) การตรวจสอบย้อนกลับ และความโปร่งใส (Trace & Transparency) นวัตกรรมในสินค้าออร์แกนิก (Innovation in Organic Products) รวมทั้งมีความสนใจสินค้ากลุ่ม Plant-based มากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคในตลาดนี้ยังนิยมสินค้าอาหารออร์แกนิกจากผู้ผลิตท้องถิ่น เนื่องจากเหตุผลด้านความยั่งยืน และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สินค้าไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานในการขนส่งทางไกล
● จากการสังเกตผู้เข้าร่วมออกแสดงสินค้าภายในงานฯ พบว่าโดยมากเป็นบริษัทใหม่ๆ ที่ยังไม่มีสินค้า และ/หรือตัวแทนจำหน่ายในตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในครั้งนี้ ต่างมีจุดมุ่งหมายคล้ายคลึงกัน คือ การหาผู้ซื้อ และตัวแทนจำหน่ายสินค้าในตลาดนี้ ทั้งนี้ ในปีนี้ ไม่มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน
● งานแสดงสินค้า Nordic Organic Food Fair และ Eco Living Scandinavia นี้ นับได้ว่าเป็นงานแสดงสินค้าอาหารออร์แกนิกที่รวมหลากหลายผลิตภัณฑ์จากทั่วโลก เหมาะกับการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ เพื่อเข้าตลาดสวีเดน รวมทั้งรับทราบแนวโน้มสินค้าออร์แกนิกในตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิก เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาสินค้าต่อไป