ประเทศจีนถือเป็นผู้ผลิตรองเท้าเด็กรายใหญ่ที่สุดของโลก ปัจจุบัน ตลาดรองเท้าเด็กในประเทศอยู่ในช่วงพัฒนา โดยมีขนาดและกำลังการผลิตของตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อีกไม่กี่ปีข้างหน้า คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าเด็กจะเข้าสู่ยุค “สงคราม” เนื่องจากช่องทางการแข่งขันในตลาดที่มากขึ้น บวกกับการปรับปรุงด้านเทคโนโลยี ที่จะนำโอกาสและการพัฒนาในด้านใหม่ๆ มาสู่อุตสาหกรรม โดยคาดว่า การผลิตรองเท้าเด็กในประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 3,817 ล้านคู่ ในปี 2564 เป็น 4,823 ล้านคู่ ในปี 2568

 

ปัจจุบัน เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ในขณะเดียวกันทุกปีมีทารกแรกเกิดประมาณ 28 ล้านคน สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็กยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติที่ไม่สมบูรณ์ ระบุว่า การบริโภคของตลาดผลิตภัณฑ์แม่และเด็กในประเทศจีนสูงถึง 80,000 ล้านหยวนต่อปี ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลาดรองเท้าเด็กในประเทศจีนต้องแข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศอย่างหนัก เนื่องจากสินค้าในประเทศยังถือว่าไม่ดีมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

 

ในด้านของสัดส่วนรองเท้าเด็กในตลาดจีน พบว่า ประเภทรองเท้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ รองเท้าผ้าใบ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.5 ของประเภทรองเท้าเด็กทั้งหมด) รองลงมาคือ รองเท้าแตะและรัดส้น (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18) และร้องเท้าเด็กวัยหัดเดิน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.7) ด้วยรองเท้ากีฬามีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคด้านให้ความสบายมากกว่า และเด็กในยุคใหม่ถูกสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในด้านกีฬามากขึ้น โอกาสทางการตลาดในร้องเท้ากีฬาสำหรับเด็กจึงค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าฟุตบอล บาสเก็ตบอล ปีนเขา เทนนิส สกี โยคะ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายอดขายผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬาสำหรับเด็กกลับมาแนวโน้มลดลง รองเท้าเด็กวัยหัดเดินกลับมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลรวมสถิติจาก Tmall และ Taobao แสดงให้เห็นว่า ในปี 2565 ยอดขายรองเท้าเด็กหัดเดินบนแพลตฟอร์มสูงถึง 2,810 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.3 ของตลาดรองเท้าเด็กทั้งหมด

 

ด้วยความคิดด้านการเลี้ยงลูกของพ่อแม่คนยุคใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ที่มีกำลังซื้อสูง มีความเต็มใจที่จะบริโภคสินค้าสำหรับเด็กบ่อยขึ้น และเต็มใจที่จะลงทุนใช้จ่ายไปกับสินค้าเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูก ด้วยความต้องการและความเข้าใจในการเลี้ยงดูบุตรที่เพิ่มมากขึ้น จึงเกิดเป็นแนวคิด “การเลือกรองเท้าตามวัยเหมาะสม” ที่ได้รับแรงผลักดันจาก ผู้เชี่ยวชาญ โดยกล่าวว่า ทารกที่มีอายุต่างกันจะมีลักษณะเท้าที่แตกต่างกันในช่วงวัยหัดเดิน พ่อแม่ควรเลือกรองเท้าที่สวมใส่สบายและเหมาะสมกับรูปแบบพัฒนาการเดินของเด็ก การเลือกรองเท้าในระยะต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อรูปแบบและพัฒนาการการเดินของเด็ก  ด้วยเหตุนี้ สงผลให้ในปี 2566 สินค้ารองเท้าสำหรับเด็กบนแพลตฟอร์ม Tmall สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั้งหมดถึงร้อยละ 50 ยอดขายหมวดหมู่สินค้ารองเท้าสำหรับเด็กเล็ก และมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ในขณะที่ตลาดรองเท้าเด็กเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แบรนด์รองเท้าหลายแบรนด์ก็เริ่มการพัฒนาและยกระดับสินค้าเพื่อพร้อมสำหรับการแข่งขัน อาทิ แบรนด์ Dr.Kong (http://www.dr-kong.com/) ครองส่วนแบ่งตลาดสูงในด้าน “รองเท้าเพื่อสุขภาพ” สำหรับเด็ก ที่เน้นการใช้งานที่เหมะสมสำหรับเด็กในแต่ละวัยเป็นหลัก โดยยอดขายในปี 2564 ของบริษัทสูงถึง 1,000 ล้านหยวน บริษัทมีร้านค้าออฟไลน์ 4,000 แห่งทั่วประเทศ และช่องทางออนไลน์กว่า 40 ช่องทาง นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ Ginoble (https://www.ginoble.com/), Taranis (http://www.t-aranis.com/), ANTA KIDS  และ NIKE KIDS ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศ

 

ในช่วงที่ผ่านมา รองเท้าที่ออกแบบเป็น ลักษณะไม่ต้องผูกเชือกรองเท้า แต่สามารถปรับหมุนเชือกให้พอดีเท้า (Rotating Automatic Shoe Buckle) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว Rotating Automatic Shoe Buckle สามารถช่วยการผูกเชือกรองเท้าได้รวดเร็ว ประหยัดเวลา และมีปลอดภัยกว่า เมื่อเทียบกับเชือกผูกรองเท้าแบบเดิม จึงเป็นรูปแบบรองเท้าที่ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ และผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี จากข้อมูลสถิติยอดขายบน แพลตฟอร์ม Tmall และ Taobao ประจำปี 2564 ยอดขายรองเท้าแบบ Rotating Automatic Shoe Buckle อยู่ที่ 298 ล้านหยวน จำนวนผู้ค้าที่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจาก 110 รายในปี 2564 เป็น 5,076 รายในปี 2565 และจำนวนสินค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แนวคิดของรองเท้าเด็กแบบ Rotating Automatic Shoe Buckle ได้กลายมาเป็นทางเลือกของแบรนด์ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

รองเท้าสำหรับเด็กกับโอกาสเติบโตในจีน

 

พ่อแม่ในยุคปัจจุบัน นอกจากจะต้องการสินค้าคุณภาพดีแล้ว รูปลักษณ์ภายนอกก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม การใช้การตลาดที่เชื่อมโยงกับ IP เป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างความนิยมให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยผู้บริโภคมากกว่าครึ่งยอมรับในการร่วม IP ของแบรนด์ และกว่าร้อยละ 91 ของผู้บริโภคยอมจ่ายในราคาสูงสำหรับ IP ที่พวกเขาชื่นชอบ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รองเท้าเด็กหลายยี่ห้อได้เปิดตัวการออกแบบร่วมกับ IP ยอดนิยม อย่าง Barbie, Kung Fu Panda, Duckbill boy และ Minion เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก IP co-branding  จึงได้กลายเป็นอีกเทรนด์นิยมในการพัฒนาและยกระดับสินค้าในอุตสาหกรรมรองเท้าเด็ก

 

      ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : อุตสาหกรรมรองเท้าในจีนไม่ว่าจะเป็นรองเท้าเด็กหรือผู้ใหญ่ มีการพัฒนาการออกแบบและเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง แบรนด์รองเท้าในประเทศหลายแบรนด์ได้รับการยอดรับในระดับสากล ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตรองเท้า อุตสาหกรรมรองเท้าเด็กในจีนมีความหลากหลายในการออกแบบ โดยครอบคลุมทั้งการออกแบบ แฟชั่น ฟังก์ชั่นการใช้งาน ราคา รวมไปถึงความปลอดภัยในการใช้งานของเด็กแต่ละวัย ที่จะสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพสินค้าให้กับผู้บริโภค

 

ยางพาราถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักในการผลิตรองเท้า โดยยางสังเคราะห์เป็นประเภทยางที่มีสัดส่วนในการผลิตมากที่สุด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำมาผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงพื้นรองเท้า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมผลิตยางสังเคราะห์ในประเทศจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 จีนมีปริมาณการผลิตยางสังเคราะห์สูงถึง 8.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 YoY  การพัฒนาของอุตสาหกรรมรองเท้าของจีนจึงเป็นโอกาสด้านการนำเข้าส่วนประกอบในการทำรองเท้าในห่วงโซ่การผลิตต้นน้ำ และกลางน้ำอย่าง ยางพาราสำหรับทำพื้นรองเท้า เคมีภัณฑ์และอุปกรณ์ในการทำรองเท้า เพื่อใช้ผลิตในประเทศรวมถึงการส่งออกไปทั่ว

 

จากสถิติศุลกากรจีน ประมวลผลโดย Global Trade Atlas ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 จีนนำเข้ายางพาราสังเคราะห์ (HS Code 4002 : Synthetic Rubber And Factice In Primary Forms Etc.)จากไทยมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 2,157.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.62 YoY (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.94 ของการนำเข้ายางพาราสังเคราะห์ทั้งหมดของจีน) โดยมีการนำเข้าผ่านทางมณฑลซานตง เจ้อเจียง และเซี่ยงไฮ้ มากที่สุดตามลำดับ ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนก็เป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีการนำเข้ายางพาราสังเคราะห์จากประเทศไทย โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 มณฑลฝูเจี้ยนนำเข้ายางพาราสังเคราะห์จากประเทศไทยแล้ว คิดเป็นมูลค่า 212.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.29 YoY (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.14 ของการนำเข้ายางพาราสังเคราะห์จากไทยของทุกมณฑลในจีน)

 

                       ที่มา:

https://www.chinabaogao.com/free/202306/637463.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

1 ธันวาคม 2566

thThai