Mercer CFA Institute สถาบันที่ปรึกษาระดับโลก เปิดเผยรายงานดัชนีบำนาญโลก (Global Pension Index) ประจำปี 2566 พบว่า ‘เนเธอร์แลนด์’ กลับมาครองตำแหน่งประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก ทำให้ไอซ์แลนด์จากเดิมที่เคยครองอันดับ 1 เมื่อปี 2565 ตกลงมาเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยเดนมาร์กเป็นอันดับที่ 3 อิสราเอลเป็นประเทศนอกสหภาพยุโรปเพียงประเทศเดียวที่ได้รับคะแนนในระดับ A โดยเกณฑ์ที่ Mercer ใช้ประเมิน ได้แก่ ความเพียงพอ (Adequacy) ความยั่งยืน (Sustainability) และความซื่อตรง (Integrity) ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์กำลังดำเนินการปฏิรูปโครงการบำนาญของประเทศจากโครงสร้างโดยรวม (Collective Structure) ไปสู่แนวทางเฉพาะบุคคล (Individual Approach) มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุว่าหากการดำเนินการปฏิรูปดังกล่าวเสร็จสิ้นคาดว่าระบบบำนาญของเนเธอร์แลนด์จะยังคงให้ผลประโยชน์ที่ดีเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากฐานสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งและกฎระเบียบที่ดี
ทั้งนี้ ระบบบำนาญส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศมักอยู่ภายใต้ความกดดันเนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินภาครัฐ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ผนวกกับการต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น การรวมตัวของกลุ่มแรงงานที่มีรูปแบบสัญญาจ้างระยะสั้น (Gig Economy) ที่สามารถรับงานอิสระได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ David Knox ผู้นำทีมเขียนรายงานฉบับนี้และยังดำรงตำแหน่ง Senior Partner ของ Mercer CFA Institute ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า “ผู้คนต้องเริ่มหันมาดูแลตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณโดยไม่เพียงพึ่งพาแค่เงินประกันสังคมหรือเงินบำนาญสาธารณะอีกต่อไป” จากการสำรวจทั้งหมด 47 ประเทศทั่วโลกประเทศรั้งท้ายด้านระบบบำนาญได้แก่ อาร์เจนตินา ส่วนสหรัฐอเมริกาจัดอยู่ในอันดับที่ 22 จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 20 เมื่อปี 2565 ส่วนอันดับที่ 10 ได้แก่ สหราชอาณาจักร สำหรับในภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลียคว้าอันดับที่ 5 ส่วนญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 30 และจีนอยู่อันดับที่ 35
รายงานยังระบุว่าอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงได้สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและระบบบำนาญในระยะยาว อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อคะแนนค่าดัชนีความยั่งยืนในหลายประเทศ อาทิ อิตาลี และสเปน เป็นต้น รายงานยังระบุว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศได้ดำเนินการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงคะแนนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อาทิ จีน เกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่ง David Knox ยังกล่าวว่า “ศักยภาพการทำงานของ Artificial intelligence (AI) จะช่วยในการปรับปรุงระบบบำนาญให้ดียิ่งขึ้นจากการได้รับข้อมูลที่ดีโดยนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้านการเงินในระยาวที่มีประสิทธิภาพได้”
บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.
เนเธอร์แลนด์ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีอันดับต้นๆ ของโลกอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความหลากหลายของแหล่งเงินทุนหมุนเวียนและด้วยการระดมทุนบำนาญที่แตกต่างผนวกกับการคำนวณที่แม่นยำและเป็นธรรม ทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีความพร้อมในการจัดการกับปัญหาของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันร้อยละ 20.2 ของจำนวนประชากรในเนเธอร์แลนด์มีอายุสูงกว่า 65 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 1990 ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 12.8 และคาดว่าประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 50 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นนโยบายภาครัฐจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งและมีผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุทั้งด้านความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและการสาธารณสุข การคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมของประชากรและสังคมในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการด้านการดูแลผู้สูงอายุ ระบบสาธารณสุข และสวัสดิการต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก