เนื้อหาสาระข่าว: ของเล่นและเกมเคยขาดแคลนในช่วงเกิดโรคระบาด แล้วผู้บริโภคก็เปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้เวลาว่าง หันมาใช้จ่ายกับการเสริมประสบการณ์มากกว่า โดยสังเกตุได้จากการใช้จ่ายด้านบริการ (อาทิ การท่องเที่ยว และกิจกรรมบันเทิง) ขยายตัวมากกว่าหมวดของเล่นละเกม ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเหล่านี้กำลังจะลำบากแต่ยังหวังว่าผู้บริโภคแค่ซื้อสินค้าหมวดนี้ช้ากว่าเดิม หรืออาจรอช่วงวันหยุด Black Friday ยอดจำหน่ายของเล่นและของขวัญนับจนถึงเดือนกันยายนปีนี้หดตัวลงร้อยละ 8 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ของเล่นอย่างบ้านตุ๊กตา รถทำจากไม้ แม้ร้านค้าจะจัดกิจกรรมดึงลูกค้าก็ยังไม่ได้ผล (มีเพียงสินค้าบางรายการที่ขยายตัว อาทิ เกมบนกระดานประเภทต่างๆ ตุ๊กตาสัตว์ ตุ๊กตาผ้านุ่มๆ และ Bitzee สัตว์เลี้ยงดิจิตอล)

ผู้ซื้อของเล่นไม่คึกคักในช่วงเทศกาลวันหยุด

การนำเข้าสินค้าหมวดนี้ลดลงมาก (กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าหมวดของเล่น เกมและอุปกรณ์กีฬาปนี้จนถึงเดือนกันยายนหดตัวลงร้อยละ 21.5) ยอดขายตามร้านของเล่น ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าของขวัญอื่นๆ ลดลงมากในเดือนตุลาคม (กระทรวงแรงงานรายงานว่าราคาของเล่นในเดือน ตุลาคมลดลงร้อยละ 4) และนักวิเคราะห์เชื่อว่ายอดขายในหมวดสินค้าอื่นๆ ก็กำลังจะหดตัวตามกันมาอีก กลุ่มผู้ค้าปลีกคาดว่ายอดใช้จ่ายในช่วงเทศกาล (พ.ย.-ธ.ค.) ปีนี้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 3-4 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว และพอหักอัตราเงินเฟ้อก็เท่ากับไม่มีการขยายตัวเลย (ช่วงเดียวกันในปี 2021-22 ขยายตัวกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 13 และ 5.4 ตามลำดับ)

ผู้ซื้อของเล่นไม่คึกคักในช่วงเทศกาลวันหยุด

สาเหตุมาจากข้อกังวลนานาประการของผู้บริโภคในขณะนี้ การจ้างงานในเดือนตุลาคมลดลงมาก ยอดคนว่างงานสูงขึ้นในปีนี้ ดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบ 20 ปีทำให้ใช้หนี้บัตรเครดิตได้ยากขึ้น การพักหนี้การกู้ยืมเพื่อการศึกษายุติลงแล้ว มหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจตกต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน แต่ก็ใช่ว่าผู้บริโภคที่รู้สึกอ่อนไหวไปกับสภาวะเศรษฐกิจจะต้องหยุดใช้จ่ายเสมอไป มีนักวิเคราะห์หลายสำนักที่เห็นดอกเบี้ยสูงขึ้นแล้วคาดว่าผู้บริโภคจะใช้จ่ายลดลงในปีนี้ แต่ผู้บริโภคกลับใช้จ่ายกันอย่างเต็มที่จนเศรษฐกิจขยายตัว รอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้ สรุปว่า ผู้บริโภควันนี้ใช้วิจารณญาณในการใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อให้ยังสามารถซื้อของจำเป็นที่ราคาสูงขึ้นได้

บทวิเคราะห์: ในบทความนี้มีการพูดถึง The Michigan Consumer Sentiment Index (MCSI) ซึ่งจะขอเรียกว่า ดัชนีความรู้สึกของผู้บริโภค ซึ่งเป็นงานวิจัยศึกษาผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (http://www.sca.isr.umich.edu) นั้นต่างจาก ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภค (CCI – Consumer Confidence Index) โดยThe Conference Board (https://www.conference-board.org/topics/consumer-confidence) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังกำไรที่ให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจ มีแหล่งข้อมูลของไทยแทบทุกแหล่งแปลออกมาว่า ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคหรือดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกันแทบทั้งสิ้น ซึ่งไม่ได้แปลผิด แต่ก็อาจทำให้เข้าใจผิดว่าคือดัชนีเดียวกัน โดยข้อเปรียบเทียบมีดังนี้

ข้อเปรียบเทียบ Consumer Confidence Index Consumer Sentiment Index
1.   ความถี่ รายงานรายเดือน ช่วงต้นเดือนโดยจะแจ้งวันออกของครั้งถัดไปล่วงหน้า รายงานรายเดือน ออกทุกวันอังคารสุดท้ายของแต่ละเดือน
2.   วัตถุประสงค์ เพื่อชี้วัดระดับความมั่นใจโดยดูจากฐานะปัจจุบันและความคาดหวังต่ออนาคตว่าดีหรือร้าย เพื่อวัดว่าพร้อมจะใช้จ่ายแค่ไหน
3.   แหล่งที่มา มหาวิทยาลัยมิชิแกน The Conference Board
4.   การเก็บข้อมูล 500 ครัวเรือนจากทั่วประเทศ 3,000 ครัวเรือนจากทั่วทั้ง 9 เขตตามที่สำนักสำมะโนประชากรแบ่งไว้
5.   ขอบเขตการศึกษา ความเห็นของผู้บริโภคต่อสถาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ความคาดหวังต่ออนาคตและสภาพการใช้จ่าย การประเมินแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคตในสายตาผู้บริโภค การจ้างงาน รายได้และทัศนคติในการจับจ่าย
6.   อิทธิพลต่อตลาด ถูกใช้โดยนักเศรษฐศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบายและภาคธุรกิจเพื่อชี้วัดแนวโน้มของเศรษฐกิจและรูปแบบการใช้จ่ายของผู้บริโภค จึงมีผลต่อตลาดการเงินและนักลงทุน ถูกใช้เพื่อคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภคและประเมินความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ มีผลต่อการกำหนดกลยุทธทางธุรกิจและการตัดสินใจของนักลงทุน
7.   ความแพร่หลาย มีการใช้ดัชนีในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก (ไม่มีข้อมูลเพียงพอ)
8.   ผลล่าสุด รายงานเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน รายงานจะออกมาในวันที่ 28 เดือนนี้

ผลล่าสุดของ The Michigan Consumer Sentiment Index ประจำเดือนพฤศจิกายนออกมาเมื่อต้นเดือนนี้ ดังนี้ดัชนีเดือนพฤศจิกายนลดลงเล็กน้อย 2.5 จุดหรือร้อยละ 4 จากเดือนตุลาคม ลดลง 4 เดือนติดต่อกัน ความมั่นใจในสภาพธุรกิจในระยะยาวลดลงมากถึงร้อยละ 15 ต่ำที่สุดนับจากเดือนกรกฎาคม ปี 2022 คนหนุ่มสาวและผู้ที่อยู่ในวัยทำงานมองเศรษฐกิจในแง่ร้ายลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมองในแง่ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ความคาดหวังต่อเงินเฟ้อในปีหน้าสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 สูงที่สุดนับจากเดือนเมษายนปีนี้ สูงขึ้นจากร้อยละ 4.2 ในเดือนตุลาคม ความคาดหวังต่อเงินเฟ้อในระยะยาวร้อยละ 3.2 สูงที่สุดนับจากปี 2011 สูงขึ้นจากร้อยละ 3.0 ในเดือนตุลาคม น่าสังเกตว่าความคาดหวังยังสูงขึ้นทั้งที่เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคกังวลว่าการอ่อนตัวลงของภาวะเงินเฟ้อที่เป็นอยู่อาจพลิกกลับในเดือนหรือปีหน้าได้

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจดีและยังไฝ่หาข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจกันตลอดเวลา เมื่อสำนักข่าวประโคมข่าวร้ายๆ ของบรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจออกมาว่าเศรษฐกิจกำลังจะถดถอย ผู้บริโภคก็ออกมาใช้จ่ายกันเต็มที่ทันทีหลังโรคระบาดผ่อนคลาย พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจนต้องคุดคู้อยู่แต่ในเคหสถาน พอโรคระบาดบรรเทาก็ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น ซึ่งก็เชื่อว่าทุกๆ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทำนองนี้ก็คงเป็นเหมือนๆ กันทั่วโลก แต่ในสหรัฐฯ ผู้บริโภคกลับมีความมั่นใจใช้จ่ายรับประทานอาหารนอกบ้าน ใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวและความบันเทิงอย่างงานคอนเสิร์ตกันเต็มที่ หักปากกาของนักวิเคราะห์ที่ฟันธงกันซ้ำๆ ว่าสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงต้นและ/หรือกลางปีนี้ แต่แล้วภาวะถดถอยก็ไม่เกิดขึ้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือผู้บริโภคต่างพากันใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจกันเอง

ย่างเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ พอมาสังเกตว่าสหรัฐฯ น่าจะพ้นวิกฤติจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้แล้วในปีนี้ ผู้บริโภคกลับมีความมั่นใจที่ลดลง มีทัศนคติเชิงลบต่อเศรษฐกิจในอนาคตมากขึ้นๆ ต่อเนื่อง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การใช้จ่ายที่เกิดในปีนี้ อาจเป็นอานิสงส์จากเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลเคยแจกให้แบบถล่มทลายในอดีตที่ยังสะสมเก็บออมเอาไว้นำออกมาใช้จ่าย บวกกับการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงในช่วงต้นและกลางปีนี้ ทำให้รายได้สูงขึ้น และตอนนี้ความจริงกลับมาแล้ว ตลาดแรงงานเริ่มชะลอตัวลง การว่างงานเริ่มขยับสูงขึ้น เงินออมต่างๆ เริ่มร่อยหรอ ก็อาจทำให้เริ่มกังวลกันมากขึ้น ปัจจัยจากดอกเบี้ยที่สูงและยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง ภาวะสงครามในหลายๆ ประเทศ การละทิ้งเงินสกุลดอลลาร์ของพันธมิตรเก่าแก่ในหลายๆ เวทีการค้า น่าจะมีผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภค ดังนั้นหากคนไทยกลัวว่าเศรษฐกิจของเราจะถดถอย ก็ต้องช่วยกันใช้จ่ายภายในประเทศกันมากขึ้นด้วยในระยะอันใกล้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากที่สังเกตแล้ว การรายงานข่าวโดยสังเกตยอดแบบเดือนต่อเดือนของสำนักข่าวในสหรัฐฯ นี้ดูเหมือนจะเป็นการชี้นำตลาดอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้เพราะในเดือนก่อนๆ ก็มีรายงานออกมาว่าการนำเข้าโดยผู้ค้าปลีกรายใหญ่เพิ่มขึ้น ก่อนเวลาปกติ ประกอบกับสินค้าที่ยังคงค้างในคลังที่เคยซื้อสะสมไว้ตั้งแต่ปีก่อนหลังโรคระบาด แนวโน้มในช่วงนี้ ก็มีนักวิเคราะห์บางสำนักบอกไว้แล้วว่าจะนำเข้าลดลงเมื่อถึงเวลาปกติ

ขณะที่ทำรายงานฉบับนี้ก็เป็นวัน Black Friday พอดี จึงยังบอกไม่ได้ว่ามหกรรมลดราคาครั้งนี้จะมีผลดีร้ายเพียงใด คงต้องอดใจรอสัปดาห์หน้า แต่สิ่งที่อยากชี้ในช่วงนี้ก็คือสินค้าที่มียอดนำเข้าตกต่ำลง (ดูกราฟด้านบน) ได้แก่ จักรยาน รองเท้า เสื้อผ้าถัก เครื่องดนตรี ของเล่นและเกม โทรทัศน์/จอ เฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง หมวก เสื้อผ้าทั่วไป และสมาร์ทโฟน ไล่เรียงลำดับติดลบจากร้อยละ 40 กว่าๆ ลงมาจนถึงร้อยละ 16 ช่วงเทศกาลนี้ หากไม่นับสินค้าที่ผู้ค้าปลีกนำเข้ามาเร็วกว่าปกติในเดือนก่อนๆ ก็น่าจะมีปริมาณสินค้านำเข้าลดลง แต่อยากให้สังเกตกันว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน เริ่มออกนอกบ้านกันมากขึ้นแล้ว วัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการท่องเที่ยวและใช้ชีวิตนอกบ้านน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในขณะที่สิ่งจำเป็นในช่วงมีโรคระบาด อย่างเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์สำนักงานที่เคยซื้อกันมาใช้ทำงาน พักผ่อนและดำเนินชีวิตที่บ้านก็เริ่มหมดความจำเป็นลง ในส่วนของของเล่น จากข่าวนี้ มีของเล่น 2 อย่างที่สวนกระแส ได้แก่ สัตว์เลี้ยงดิจิตอล (ซึ่งก็คงเป็นกระแสระยะสั้นๆ เช่นเดียวกับที่ของญี่ปุ่นเคยมีจำหน่ายในอดีต) และตุ๊กตาสัตว์เลี้ยงและตุ๊กตาผ้า ที่ร้านค้าถึงกับอวดว่าร้านมีไม่พอขาย และทั้งสองอย่าง สำหรับเด็กๆ ก็คงพกติดตัวกันออกมาเล่นได้ทุกที่ บทสรุปสุดท้าย ขอยกเอาคำพูดของร้านค้าของเล่นที่อวดว่าขายดีมาก “ผู้บริโภคนั้นจะไม่ตัด (การใช้จ่ายเพื่อ) ลูกๆ ออกไป แม้งานจะไม่มั่นคง หรือกังวลเรื่องราคาอาหาร แต่พวกเขาก็จะไม่หยุดซื้อของขวัญให้กับลูกๆ”

*********************************************************

ที่มา: The Wall Street Journal
เรื่อง: “Toy Shoppers Come Down With a Case of the Holiday Blahs”
โดย: Harriet Torry และ Ben Glickman
สคต. ไมอามี /วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566
thThai