ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI Manufacturing) ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ เพราะหากเศรษฐกิจดี มีคำสั่งซื้อมาก ภาคการผลิตก็จะมีการซื้อวัตถุดิบและวัสดุมาก       จากรายงานของธนาคาร Emirates NBD เปิดเผยภาวะของภาคการผลิตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีการปรับตัวดีขึ้นในเดือนกันยายน 2566 หลังจากที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงฤดูร้อน โดยอ้างอิงจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ S&P Global Purchasing Managers’ Index (PMI™) ของยูเออีว่าปรับตัวขี้น โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายนเท่ากับ 56.7 จุด เพิ่มขึ้นจาก 56.7 จุด เมื่อเดือนสิงหาคม ผลลัพธ์ล่าสุดนี้ส่งสัญญาณว่าสภาวะธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกิจกรรมและงานใหม่ๆมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง คําสั่งซื้อส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนกันายนที่ผ่านมา หลังที่อ่อนตัวลงในไตรมาสแรกปี 2566 และที่น่าสนใจของการรายงานนี้คือที่สภาวะการประกอบของบริษัทผู้ผลิตมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563  อีกทั้งข้อมูลของยูเออีนั้นแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ในปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับข้อมูล PMI ของประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นจีนสหรัฐอเมริกาและยูโรโซน

การขนส่งและการท่องเที่ยวเป็นแรงผลักดันหลักในการเติบโตในปีนี้
ในปี 2566 เศรษฐกิจดูไบในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้น 3.6%  เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ได้รับแรงส่งจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งและโรงแรม เมื่อเดือนกรกฎาคม จํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในดูไบมี 9.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีโรงแรมเป็นตัวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่ามีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากการระบาดใหญ่ อัตราการเข้าพักของโรงแรมและรายได้ต่อห้องสูงกว่าระดับก่อน Covid นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มในเชิงบวกสําหรับฤดูกาลที่กําลังจะมาถึง ตามรายงานที่ระบุว่าจำนวนการจองห้องพักในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีมาก ที่สำคัญได้รับจากกิจกรรมการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 เพื่อหาทางเตรียมความพร้อมและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในอนาคต การประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นในรัฐดูไบระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 12 ธ.ค.  นี้ และจำนวนการจองในเดือนแรกของปีพ.ศ. 2567 ก็มีมากเช่นกัน

การสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศของยูเออีและในภูมิภาคนี้ การใช้จ่ายงบประมาณรวมของยูเออีในช่วงครึ่งแรกปี 2566 เพิ่มขึ้น 8.3% (YoY) ในขณะที่รายรับงบประมาณจะลดลงเกือบ 20% (YoY)  ประกอบด้วยรายจ่ายประจำเป็นเพื่อใช้ในการบริหารงานประจำ         (Current Expenditure) ซึ่งรวมถึงเงินประกันสังคมและเงินอุดหนุนต่างๆ รายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure : CapEx)  ในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นเกือบ 4%  (YoY)  ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566  แม้ว่าการใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นและรายได้จากน้ำมันลดลงในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้  งบประมาณแผ่นดินรวมยอด  (Consolidated Budget)   นั้นกินดุล 12.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเกินดุลทั้งปีกว่าต่ำกว่า 5% ของ GDP ปี 2566

การเติบโตของประชากร

มีบางข้อมูลนั้นแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของประชากรในยูเออีปีนี้อาจช่วยให้ความต้องการใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย เห็นได้ชัดอย่างยิ่งจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาที่อยู่อาศัยและสินค้าคงทนในครัวเรือน ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของอัตราเงินเฟ้อ

ในการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ราคาค่าเช่าบ้านที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงการเคลื่อนไหวของราคา เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าบริโภคอุปโภคอื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็น ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ราคาที่อยู่อาศัยใน CPI ของดูไบเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 6% การเพิ่มขึ้นของราคาเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ในครัวเรือนในปีที่ผ่านมาอาจสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นของสินค้าเหล่านี้ แต่ยังอาจสะท้อนถึงความต้องการที่แข็งแกร่งหลังจากการก่อตัวของครอบครัวใหม่ซึ่งช่วยให้ผู้ค้าปลีกส่งต่อต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นสู่ผู้บริโภค

คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในดูไบจะเร่งตัวขึ้นอีกจากเดือนกันยายนที่ระดับ 3.8% (YoY)  เนื่องจากส่วนที่อยู่อาศัยของดัชนียังคงปรับตัวสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ก็คลี่คลายลง

คาดการณ์ปี 2567

จนถึงขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของภาคที่ไม่ใช่น้ำมันของยูเออีอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าอาจมีความแปรผันได้เมื่อพูดถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อเศรษฐกิจที่แท้จริง

แนวโน้มในปี 2567 ยังคงอยู่ในระดับสูง ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน และการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯจะทำให้ภูมิภาคนี้(ที่ส่วนใหญ่ซึ่งผูกสกุลเงินไว้กับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ) กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่มีราคาแพงสำหรับผู้มาเยือนจากตลาดเกิดใหม่หรือกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ จากการลงทุนภาครัฐอย่างยั่งยืนตามหลักการจัดการเชิงกลยุทธ์ที่จะมุ่งเน้นไปที่การขยายธุรกิจที่กำลังเติบโต จะช่วยชดเชยผลกระทบจากการลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอในปีหน้าและในอนาคต ข้อมูลจากนิตยสาร MEED ของตะวันออกกลาง แสดงให้เห็นว่ามีเงินลงทุนเกือบ 18.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  สำหรับใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังดำเนินการอยู่ที่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2571 และอีก 31.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะใช้ในการลงทุนตามแผน (แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ) จนถึงปี 2573

โครงการโครงสร้างพื้นฐานของยูเออีจนถึงปี 2573

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคาร Emirate NBD ของดูไบวิเคราะห์และคาดว่าการเติบโตของภาคที่ไม่ใช่น้ำมันจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในปี 2566 ประมาณ 5% และปี 2567 ประมาณ 4% นอกจากนี้คาดหวังว่าจะมีการคลี่คลายนโยบายควบคุมโควต้าการผลิตน้ำมันในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ภาคไฮโดรคาร์บอนกลับมาขยายตัว มีส่วนสนับสนุนเชิงบวกต่อ GDP ของยูเออีให้เติบโต 3.6% ในปี 2567 แต่ด้วยความไม่แน่นอนทาง “เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก” โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส กลายเป็นปัจจัยมีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีอัตราเงินเฟ้อของ ยูเออียังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในตะวันออกกลาง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปีนี้อยู่ที่ 2.2%

ความเห็นของ สคต.ดูไบ

การเริ่มต้นของไตรมาสสุดท้ายส่งสัญญาณว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของผลผลิตครั้งล่าสุดนี้ โดยส่วนใหญ่มาจากคําสั่งซื้อที่สะสมมาตลอดฃ่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2566  อีกทั้งความขัดแย้ง ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ส่งสัญญาณอันตรายให้กับเศรษฐกิจโลกซึ่งในขณะนี้เปราะบางและซบเซาอยู่แล้ว จากภาวะดอกเบี้ยสูงค้างนาน เศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย หากสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ยังไม่สงบและอาจทำให้มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่  และอาจบานปลายจนกลายเป็นความขัดแย้งในภูมิภาค   แต่ทั้งนี้สถานการณ์ยังคงมี ความไม่แน่นอน”  ในระยะข้างหน้าที่ต้องจับตาและประเมินผลกระทบในระยะยาว ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งประเด็นท้าทายและโอกาสของไทยด้วย

thThai